หตฺถิมํส (บาลีวันละคำ 3,648)
หตฺถิมํส
เนื้อช้าง : เนื้อต้องห้ามชนิดที่ 2
เขียนแบบบาลี อ่านว่า หัด-ถิ-มัง-สะ
แยกศัพท์เป็น หตฺถิ + มํส
(๑) “หตฺถิ”
รูปคำเดิมของบาลีเป็น “หตฺถี” (หัด-ถี) รากศัพท์มาจาก หตฺถ + อี ปัจจัย
(ก) “หตฺถ” (หัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) หสฺ (ธาตุ = ร่าเริง) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หสฺ > หตฺ)
: หสฺ + ถ = หสฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องเล่นสนุก” (เช่นใช้ปรบ ฟ้อนรำ) = มือ “อวัยวะเป็นที่เล่นสนุก” = ศอก
(2) หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หนฺ > หตฺ)
: หนฺ + ถ = หนฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องเบียดเบียนอวัยวะอื่น” (เช่นเกา ตบตี) = มือ (2) “เป็นที่ไปถึงแห่งอวัยวะทั้งหลาย” (หมายถึงมือเอื้อมถึง) = มวยผม
(3) หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หรฺ > หตฺ)
: หรฺ + ถ = หรฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำของไป” = มือ
(4) หตฺถ (มือ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: หตฺถ + ณ = หตฺถณ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่เหมือนมือเพราะทำหน้าที่มือให้สำเร็จประโยชน์ได้” = งวงช้าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หตฺถ” ดังนี้ –
(1) hand (มือ)
(2) the hand as measure, a cubit (มือในฐานเป็นเครื่องวัด, ระยะหนึ่งศอก)
(3) a handful, a tuft of hair (เต็มมือ, ปอยผม)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หัตถ-, หัตถ์ : (คำนาม) มือ; ศอกหนึ่ง; งวงช้าง. (ป.; ส. หสฺต).”
(ข) หตฺถ + อี ปัจจัย
: หตฺถ + อี = หตฺถี แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีมือ” “สัตว์ที่ประกอบด้วยมือ” หมายถึง ช้าง (an elephant)
ในที่นี้เขียนตามรูปบาลีเป็น “หัตถิ”
(๒) “มํส”
อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ส ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)
: มนฺ + ส = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)
“มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”
คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้
หตฺถี + มํส รัสสะ อี ที่ –ถี เป็น อิ (หตฺถี > หตฺถิ)
หตฺถี + มํส = หตฺถีมํส > หตฺถิมํส (หัด-ถิ-มัง-สะ) แปลว่า “เนื้อช้าง”
ขยายความ :
“หตฺถิมํส” เป็น 1 ในเนื้อ 10 ชนิดที่มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฉัน คือ –
(1) มนุสฺสมํส เนื้อมนุษย์
(2) หตฺถิมํส เนื้อช้าง
(3) อสฺสมํส เนื้อม้า
(4) สุนขมํส เนื้อสุนัข
(5) อหิมํส เนื้องู
(6) สีหมํส เนื้อสิงโต
(7) พฺยคฺฆมํส เนื้อเสือโคร่ง
(8 ) ทีปิมํส เนื้อเสีอเหลือง
(9) อจฺฉมํส เนื้อหมี
(10) ตรจฺฉมํส เนื้อเสือดาว
…………..
ต้นเรื่องที่ห้ามฉันเนื้อช้าง ในพระวินัยปิฎกบันทึกไว้ดังนี้ –
…………..
เตน โข ปน สมเยน รญฺโญ หตฺถี มรนฺติ ฯ
ก็สมัยนั้นแล ช้างหลวงล้มลงหลายเชือก
มนุสฺสา ทุพฺภิกฺเข หตฺถิมํสํ ปริภุญฺชนฺติ ภิกฺขูนํ ปิณฺฑาย จรนฺตานํ หตฺถิมํสํ เทนฺติ ฯ
ในยามอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อช้าง และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต
ภิกฺขู หตฺถิมํสํ ปริภุญฺชนฺติ ฯ
ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อช้าง
มนุสฺสา อุชฺฌายนฺติ ขียนฺติ วิปาเจนฺติ
ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า –
กถํ หิ นาม สมณา สกฺยปุตฺติยา หตฺถิมํสํ ปริภุญฺชิสฺสนฺติ
ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อช้างเล่า
ราชงฺคํ หตฺถี
ช้างเป็นราชพาหนะ
สเจ ราชา ชาเนยฺย น เตสํ อตฺตมโน อสฺสาติ ฯ
ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ คงไม่ทรงพอพระทัยต่อพระสมณะเหล่านั้นเป็นแน่
ภควโต เอตมตฺถํ อาโรเจสุํ ฯ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
น ภิกฺขเว หตฺถิมํสํ ปริภุญฺชิตพฺพํ
พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อช้าง
โย ปริภุญฺเชยฺย อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺสาติ ฯ
รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกฏ
ที่มา: เภสัชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 60
…………..
คัมภีร์อรรถกถาขยายความว่า –
หตฺถิอสฺสมํสํ ราชงฺคตาย.
เนื้อช้างและเนื้อม้า ทรงห้ามเพราะเป็นราชพาหนะ
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 193
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ในอดีต ช้างเคยช่วยไทยกู้ชาติ
: ถ้าในอนาคตไทยต้องเป็นทาส ใครจะช่วยกู้ไทย
#บาลีวันละคำ (3,648)
8-6-65
…………………………….
…………………………….