บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

กฐินสามัคคี-หมายความว่าอย่างไร

กฐินสามัคคี-หมายความว่าอย่างไร

————————

ผมเขียนคำว่า “กฐินสามัคคี” เป็นบาลีวันละคำไปเมื่อวานนี้ (๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘) มีผู้แสดงความคิดเห็นหลายรายที่ฟังดูเหมือนจะยังไม่เข้าใจ จึงจะขออนุญาตอธิบายซ้ำอีกที (คำว่า “กฐินสามัคคี” นี้ ผมเขียนมาเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว ครั้งแรก บาลีวันละคำ (164) 19-10-55, ครั้งที่ ๒ บาลีวันละคำ (876) 11-10-57 และครั้งที่ ๓ คือเมื่อวานนี้ บาลีวันละคำ (1,252) 2-11-58)

@ หลักของการทอดกฐิน

– วัดหนึ่งในรอบปีหนึ่งทอดกฐินได้ครั้งเดียว

– เจ้าภาพที่จะทอดกฐินมีได้รายเดียว

– ตามปกติจะทอดกฐินวัดใด มีธรรมเนียมว่าเจ้าภาพจะต้องไปแจ้งความจำนงล่วงหน้ากับวัดนั้น เรียกว่า “จองกฐิน” 

ถ้าไม่จองไว้ก่อน จะเกิดอะไรขึ้น

อาจเกิดเหตุการณ์-เตรียมตัวเป็นเจ้าภาพเต็มที่ เตรียมการต่างๆ ไว้พร้อมสรรพ พอยกขบวนไปถึงวัด ปรากฏว่าเขามีเจ้าภาพเรียบร้อยแล้ว (เจ้าภาพที่จะทอดกฐินมีได้รายเดียว)

ถ้าจองไว้ก่อน จะไม่เกิดเหตุแบบนี้

@ กรุณาฟังภาพสมมุติต่อไปนี้

นาย เอ ตั้งใจเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน วัด ก

นาย บี ตั้งใจเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน วัด ก

นาย ซี ตั้งใจเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน วัด ก

สรุปว่า ทั้งสามคนตั้งใจเป็นเจ้าภาพทอดกฐินวัดเดียวกัน

ทั้งนาย เอ นาย บี และนาย ซี สามารถเป็นเจ้าภาพทอดกฐินได้ตามลำพัง โดยไม่ต้องไปร่วมกับอีก ๒ คน

ถ้าคนใดคนหนึ่งได้เป็นเจ้าภาพ อีก ๒ คนก็อดได้ทอดกฐินที่ วัด ก

ทีนี้ ทั้ง ๓ คนเกิดเห็นใจกันและกันว่า ถ้าตนได้ทอดกฐินที่วัด ก อีก ๒ คนก็อดทอด

อย่ากระนั้นเลย เรามารวมตัวกันให้เหลือหนึ่งเดียวคือเป็นเจ้าภาพร่วมกันจะดีกว่า เพราะเมื่อรวมตัวกันแล้วก็เท่ากับได้ทอดหมดทั้ง ๓ คน

นาย เอ นาย บี และนาย ซี ก็เลยรวมตัวกันเป็นหนึ่ง (three in one) เป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัด ก ในปีนั้น

อย่างนี้คือ “กฐินสามัคคี” ในความหมายดั้งเดิมแท้

คือ ๓ ราย สามัคคีกันเป็นรายเดียวเข้าไปทอดกฐินวัดเดียวกัน 

————

แต่ “กฐินสามัคคี” ตามความเข้าใจของคนเดี๋ยวไม่ใช่อย่างที่ว่ามา

สมมุติว่า นาย เอ รายเดียวได้เป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัด ก

ไม่มีนาย บี นาย ซี มาเป็นคู่แข่งเหมือนในตัวอย่างแรก

ทีนี้ นาย เอ ก็ไปชักชวนญาติพี่น้องมิตรสหายมาร่วมกันเป็นเจ้าภาพ แบ่งกันเป็นสายนั้นสายนี้มากมายหลายคณะ

แบบนี้แหละที่คนเดี๋ยวเขาเรียกว่า “กฐินสามัคคี”

ความหมายเดิม – ๓ ราย (หรืออาจมากกว่านั้น) แย่งกันเป็นเจ้าภาพทอดกฐินวัดเดียวกัน ทะเลาะกันแทบเป็นแทบตาย แต่ในที่สุดสามัคคีกันรวมตัวกันเป็นเจ้าภาพร่วมกัน นี่คือ “กฐินสามัคคี” ในความหมายเดิม

ความหมายใหม่ – รายเดียวจองเป็นเจ้าภาพ ไม่ได้แย่งกับใคร จองได้แล้วไปชักชวนญาติมิตรมาร่วมบุญกันทอดกฐิน นี่คือ “กฐินสามัคคี” ตามที่เข้าใจกันในปัจจุบัน

————

ผมเพียงแค่อยากเสนอความรู้ว่า คำว่า “กฐินสามัคคี” แต่เดิมเขาหมายถึงอย่างไร และปัจจุบันเข้าใจกันไปอีกอย่างหนึ่งว่าอย่างไร-เท่านี้เท่านั้น

ส่วนใครจะเรียกอย่างไรด้วยความเข้าใจอย่างไร ก็เชิญตามสบาย 

เรื่องบางอย่าง ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร

แต่รู้ไว้ย่อมดีกว่าไม่รู้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *