สิทธิ (บาลีวันละคำ 1,392)
สิทธิ
อ่านว่า สิด-ทิ
ถ้าการันต์ที่ –ธิ เป็น “สิทธิ์” อ่านว่า สิด
“สิทธิ” บาลีเขียน “สิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ, อ่านว่า สิด-ทิ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สิธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ (สิธฺ > สิ)
: สิธฺ > สิ + ติ > ทฺธิ : สิ + ทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จ”
(2) ส (ตัดมาจาก “สห” = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อิทฺธิ
๑) “อิทฺธิ” รากศัพท์มาจาก อิธฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ หลัง อิ ต้นธาตุ (อิธฺ > อิทฺธ)
: อิธฺ > (อิ + ทฺ) อิทฺธ + อิ = อิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องเจริญ” หมายถึง ความสำเร็จ, ความเจริญ (ดูเพิ่มเติมที่ “อิทธิฤทธิ์” บาลีวันละคำ (1,294) 14-12-58)
๒) ส + อิทฺธิ = สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นไปพร้อมกับความสำเร็จ”
“สิทฺธิ” นักเรียนบาลีแปลกันว่า ความสำเร็จ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สิทธิ : (คำนาม) อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) อํานาจที่จะกระทําการใด ๆ ได้อย่างอิสระ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย (อ. right)”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิทฺธิ” เป็นอังกฤษว่า accomplishment, success, prosperity (การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง)
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ (ฝรั่งชาติอังกฤษที่ศึกษาภาษาบาลีเป็นผู้ทำ) ไม่ได้แปล “สิทฺธิ” ว่า right
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล right ว่า ชอบธรรม, เป็นธรรม, สิทธิอันถูกต้อง, ยุติธรรม, สมควร, ถูกต้อง
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล right เป็นบาลีว่า –
(1) adhikāra อธิการ (อะ-ทิ-กา-ระ) = ทำอย่างไว้ฝีมือ, ทำอย่างถวายชีวิต
(2) avitatha อวิตถ (อะ-วิ-ตะ-ถะ) = ถูกต้องถ่องแท้
(3) uju อุชุ (อุ-ชุ) = ตรงไปตรงมา
(4) dakkhiṇa ทกฺขิณ (ทัก-ขิ-นะ) = เชี่ยวชาญ, ถนัด
(5) dhammika ธมฺมิก (ทำ-มิ-กะ) = ชอบธรรม
(6) niddosa นิทฺโทส (นิด-โท-สะ) = ปราศจากข้อตำหนิ
(7) yathābhūta ยถาภูต (ยะ-ถา-พู-ตะ) = ตามความเป็นจริง
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี (ชาวศรีลังกาที่เชี่ยวชาญทั้งอังกฤษและบาลีเป็นผู้ทำ) ไม่ได้แปล right ว่า “สิทฺธิ”
เป็นอันว่า “สิทธิ” ที่หมายถึง อำนาจอันชอบธรรม (ที่จะทำ จะมี จะได้ จะเป็น) เป็นความหมายตามภาษาไทย ไม่ใช่ความหมายตามบาลี
อย่างไรก็ตาม คำว่า “สิทธิ” นี้เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “สิทฺธิ” ไว้ 3 คำ มีความหมายหลายหลาก ซึ่งบางความหมายอาจเป็นที่มาของความหมาย “อำนาจอันชอบธรรม” ในภาษาไทยก็ได้ ขอนำมาเสนอไว้เพื่อเป็นทางศึกษา
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) สิทฺธิ, สิทฺธ : (คำคุณศัพท์) ‘สิทธิ, สิทธ์,’ อันลุล่วงหรือเสร็จแล้ว; สมบูรณ์; อันพ้นทุกข์แล้ว; นิรันตร์; อันลือนาม; ประสิทธ์; อันตัดสินแล้ว (ดุจคดี); อันชอบด้วยกฎหมาย; อันชำนาญ; อันพิสูจน์แล้ว; อันทำเสร็จหรือแล้วๆ; อันหุงหรือต้มแล้ว; (คำใช้ในเภสัชศาสตร์) อันปรุงแล้ว; สุกใส, งาม; อันชำระแล้ว (ดุจหนี้); accomplished or completed; complete; emancipated or liberated; eternal; celebrated, famous; judged or decided (as a lawsuit); valid or legal; adept; demon; ated; finished; cooked or dressed; (in medicine) prepared or compounded; shinig, splendid; discharged or settlied (as a debt).
(2) สิทฺธิ : (คำนาม) ‘สิทธิ,’ ความสำเร็จลุล่วงหรือบัลลุถึงผลสำเร็จ; ทิพยบุรุษผู้มีอลักษิตลักษณะ; ปราชญ์; สิทธลิปิการ (ดุจวฺยาสและผู้อื่น); นักษัตรโยคที่ยี่สิบเอ็ด; อภิชญมายาการ, อภิชญมายาวิน; เกลือทะเล; completion or accomplishment; a divine personage of undefined attributes; a prophet or sage; a prophetic writer (as Vyāsa and others); the twenty-first of the astronomical Yogas; an adept magician; seasalt.
และมี “สิทฺธิ” ที่เป็นคำนามเก็บไว้อีกคำหนึ่ง –
(3) สิทฺธิ : (คำนาม) ‘สิทธิ,’ ความบัลลุถึงผลสำเร็จ, วิภูษณาธิคมหรืออลังการลาภ; ปรมคติหรือความสิ้นชาติ, บรมสุข; บุณโยทัย, ความสมมโนรถ; วิทยา, พุทธิ; ความถูกต้องหรือถ่องแท้; ปราลพย์หรือความชอบธรรม (ในธรรมนีติ); การชำระณี่ (หรือหนี้); การปิดงำไว้เปนความลับ; ผลของการบูชาเทวดา; เขียงเท้า; เอาษธียมูล, รากไม้อันเปนยา; ความสำคัญใจว่าบัลลุถึงทิพยศักดิ์โดยเรียนจบมายาวิธี; accomplishment, ornamental acquirement; final emancipation from existence, supreme felicity; prosperity, success; knowledge, understanding; accuracy or correctness; validity (in law); discharge of a dept; concealment; the result of adoration of the gods; a wooden slipper; a medicinal root; the supposed acquirement of supernatural power of the completion of magical processes.
โปรดสังเกตว่า สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล “สิทฺธิ” เป็นอังกฤษไว้หลากหลาย แต่ก็ไม่มีสักความหมายเดียวที่แปลว่า right
เป็นอันว่า คำอังกฤษว่า right อันเป็นคำที่ใช้ในกฎหมาย และไทยเราบัญญัติศัพท์เป็นบาลีสันสกฤตว่า “สิทธิ” นั้น พจนานุกรมที่แปล “สิทฺธิ” เป็นภาษาอังกฤษไม่มีคำแปลว่า right เลย
: สิทธิ ไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่จะบันดาลความสำเร็จได้
24-3-59