อารามบอย (บาลีวันละคำ 2,058)
อารามบอย
สมญาล้อเลียนเด็กวัด
อ่านว่า อา-ราม-บอย
ประกอบด้วยคำว่า อาราม + บอย
(๑) “อาราม”
บาลีอ่านว่า อา-รา-มะ รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ร-(มฺ) เป็น อา (รมฺ > ราม)
: อา + รมฺ = อารมฺ + ณ = อารมณ > อารม > อาราม แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มายินดี”
“อาราม” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) คำนาม : สถานที่อันน่ารื่นรมย์, สวน, อุทยาน (a pleasure-ground, park, garden)
(2) คำนาม : ความยินดี, ความชอบใจ, ความรื่นรมย์ (pleasure, fondness of, delight)
(3) คำคุณศัพท์ : ชอบใจ, เพลิดเพลิน, สบอารมณ์ (delighting in, enjoying, finding pleasure in)
นักบวชสมัยพุทธกาลพอใจที่จะพักอาศัยอยู่ตามป่าไม้ซึ่งปกติเป็นที่ร่มรื่น อันเป็นความหมายของ “อาราม” ดังนั้น คำว่า “อาราม” จึงหมายถึงสถานที่พักอาศัยของนักบวชด้วย
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อาราม ๑ : (คำนาม) วัด; สวนเป็นที่น่ารื่นรมย์. (ป., ส.).
(2) อาราม ๒ : (คำนาม) ความยินดี, ความรื่นรมย์, ความเพลิดเพลิน.
ในที่นี้ “อาราม” หมายถึง วัด
(๒) “บอย”
มาจากคำอังกฤษว่า boy
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล boy เป็นไทยว่า ลูกชาย, เด็ก, บ๋อย, พ่อหนุ่ม, เพื่อนยาก
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล boy เป็นบาลีดังนี้ –
(1) bālaka พาลก (พา-ละ-กะ) = “ผู้ที่ยังอ่อนแก่ความคิด” > เด็กน้อย, วัยรุ่น
(2) dāraka ทารก (ทา-ระ-กะ) = เด็กเล็ก
(3) kumāra กุมาร (กุ มา-ระ) = เด็กหนุ่ม, คนหนุ่ม
(4) susu สุสุ (สุ-สุ) = “ผู้ยังดำเนินชีวิตอยู่” คือผู้ที่ชีวิตวันหน้ายังมีอีกยาวนาน > คนหนุ่ม
(5) dahara ทหร (ทะ-หะ-ระ) คนหนุ่ม
อีก 2 คำที่พอจะคุ้นกันในภาษาไทย คือ
– ยุว (ยุ-วะ) “ผู้ปะปนกัน” คือมีลักษณะผสมกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ นี่คือที่เราเอามาใช้เป็น “ยุวชน” และ “เยาวชน”
– มาณว (มา-นะ-วะ) ที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มาณพ” หมายถึง ชายหนุ่ม, ชายรุ่น
อาราม + บอย = อารามบอย
“อารามบอย” เป็นภาษาปากที่แปลงมาจากคำว่า “เด็กวัด”
เด็ก = boy
วัด = อาราม
“เด็กวัด” หมายถึง เด็กชายที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน พ่อแม่หรือผู้ปกครองนำไปฝากให้พระสงฆ์อบรมสั่งสอนและพักอาศัยอยู่ในวัด นอกจากเล่าเรียนวิชาตามที่พระจะเป็นผู้สอนให้แล้วก็ทำหน้าที่รับใช้พระและช่วยทำกิจต่างๆ ของวัดไปด้วย
ต่อมาเมื่อทางบ้านเมืองตั้งโรงเรียนของทางราชการขึ้นและกำหนดให้เด็กต้อง “เข้าโรงเรียน” โรงเรียนจึงทำหน้าที่อบรมสั่งสอนแทนวัด โรงเรียนในสมัยแรกมักตั้งอยู่ในวัด เด็กชายส่วนหนึ่งที่บ้านอยู่ไกลจึงยังคงพักอาศัยอยู่ในวัดด้วย
ต่อมาแม้โรงเรียนและสถานศึกษาระดับต่างๆ จะขยายตัวออกไปจากวัดมากขึ้น นักเรียนชายส่วนหนึ่งที่อยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีญาติอยู่ในเมือง เมื่อเข้าไปศึกษาในตัวเมืองหรือในเมืองหลวงก็ยังนิยมพักอาศัยตามวัดต่างๆ ในฐานะเป็น “เด็กวัด” และต้องทำกิจต่างๆ ตามที่วัดกำหนด เช่นไหว้พระสวดมนต์และรับใช้พระในโอกาสต่างๆ เช่นเดียวกับ “เด็กวัด” สมัยก่อน เพียงแต่หน้าที่หลักคือไปเรียนหนังสือ ลักษณะเช่นนี้จึงมีผู้กล่าวว่า เด็กวัดสมัยหลังนี้อาศัยวัดเป็นเสมือนหอพักเท่านั้น ไม่ได้มีชีวิตเป็น “เด็กวัด” ที่แท้จริงเหมือนในสมัยก่อน
อย่างไรก็ตาม สถานะของเด็กวัดในสายตาของคนทั่วไปมักต่ำต้อย เด็กที่ถูกเรียกว่า “เด็กวัด” มักรู้สึกมีปมด้อย ไม่เทียมหน้าเทียมตาเด็กทั่วไป คำว่า “เด็กวัด” จึงมีความหมายในทางไม่น่าชื่นชม และมักถูกมองอย่างเหยียดๆ หรือดูถูกดูหมิ่นเอาด้วยซ้ำ
คำว่า “อารามบอย” จึงเกิดขึ้นคล้ายกับต้องการจะหลบเลี่ยง-หรือไม่ก็มีเจตนาจะล้อเลียน-คำว่า “เด็กวัด” นั่นเอง
ดูเพิ่มเติม : “อารามิกชน” บาลีวันละคำ (1,939) 30-9-60
…………..
ดูก่อนภราดา!
อย่าตัดสินคนเพียงเพราะว่าเขาอยู่ที่ไหน
: อยู่บ้านคุณหญิง ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นต้นห้อง
: อยู่ในซ่อง ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นโจร
#บาลีวันละคำ (2,058)
30-1-61