สังหาร (บาลีวันละคำ 1,391)
สังหาร
อ่านว่า สัง-หาน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังหาร : (คำกริยา) ฆ่า, ผลาญชีวิต. (ส.).”
พจน.54 บอกว่า “สังหาร” เป็นรูปคำสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สํหาร” บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สํหาร : (คำนาม) ‘สังหาร,’ การทำลายหรือความพินาศ; ภาคนรก; การย่อ; สมุหะหรือคณะ; การระงับ; ความพินาศแห่งโลก; ประโยคหรือจาดุรย์ ( = ความเก่ง); destruction or loss; a division of Tartarus; abridgment; collection or assemblage; suppressing or restraining; the destruction of the world; practice or skill.”
“สํหาร” ในสันสกฤตมีความหมายมากกว่าฆ่า หรือผลาญชีวิต ตามความหมายในภาษาไทย
ในบาลีก็มีคำว่า “สํหาร” อ่านว่า สัง-หา-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, รวมกัน) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ (หรฺ > หาร)
: สํ + หรฺ = สํหรฺ + ณ = สํหรณ > สํหร > สํหาร แปลตามศัพท์ว่า “วิธีเป็นเครื่องกล่าวเนื้อความไว้โดยย่อ” หมายถึง ย่อความ, การรวบรวม (abridgment, compilation)
อภิปราย :
๑. เป็นอันว่า “สํหาร” ในบาลีไม่ได้หมายถึงฆ่า หรือผลาญชีวิต ตามความหมายในภาษาไทย
และเป็นอันได้ความว่า “สังหาร” ในภาษาไทยเอาความหมายมาจาก “สํหาร” ในสันสกฤต
แต่ “สํหาร” ในสันสกฤตมีความหมายอื่นๆ อีกด้วย เช่นหมายถึง การย่อ (abridgment) ซึ่งตรงกับความหมายในบาลี
๒. เป็นอันได้หลักว่า คำบาลีสันสกฤตที่เราเอามาใช้ในภาษาไทยนั้น บางคำเอามาใช้ในบางความหมายเท่านั้น และบางคำความหมายก็กลายไปจนเราไม่รู้จักความหมายเดิม
การที่เราพลิกแพลงแปลงรูปคำก็ดี แปลงความหมายก็ดี นับว่าเป็นยอดของภูมิปัญญาไทยอย่างหนึ่ง
……
“สังหาร” เป็นหนึ่งในสี่ยอด >
: ให้ธรรม เป็นยอดบุญทานมัย
: คุณพระรัตนตรัย เป็นยอดธง
: ทุจริตของสงฆ์ เป็นยอดเปรต
: ปองสังหารกิเลส เป็นยอดคน
23-3-59