บาลีวันละคำ

ประทาน – ประธาน (บาลีวันละคำ 1,857)

ประทานประธาน

เหมือนและไม่เหมือน

อ่านเหมือนกันว่า ปฺระ-ทาน

แต่ความหมายไม่เหมือนกัน

(1) “ประทาน

บาลีเป็น “ปทาน” อ่านว่า ปะ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: + ทา = ปทา + ยุ > อน = ปทาน แปลตามศัพท์ว่า “การมอบให้” หมายถึง การให้, การมอบให้ (giving, bestowing), บางกรณีหมายถึง การบรรลุ, ลักษณะ, คุณสมบัติ (attainment, characteristic, attribute)

บาลี “ปทาน” สันสกฤตเป็น “ปฺรทาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ปฺรทาน : (คำนาม) ประทาน, ทาน, ของให้, การให้; a gift or donation, giving.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ประทาน : (คำราชาศัพท์) (คำกริยา) ให้ (ใช้แก่เจ้านาย). (ส.).”

ข้อพิจารณา :

(1) ปทาน-ปฺรทาน = การมอบให้ ในบาลีสันสกฤต ไม่ได้เจาะจงว่าใครเป็นผู้ให้ แต่ในภาษาไทยกำหนดว่า “ประทาน” เป็นราชาศัพท์ ผู้ให้ต้องเป็นเจ้านาย (หมายถึงผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ หรือผู้ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้านาย) ถ้าผู้ให้เป็นคนสามัญ ใช้คำว่า “ประทาน” ไม่ได้

(๒) “ประธาน

บาลีเป็น “ปธาน” อ่านว่า ปะ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้; ทำ; ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: + ธา = ปธา + ยุ > อน = ปธาน แปลตามศัพท์และมีความหมายดังนี้ –

(1) “สภาพเป็นที่ตั้งอยู่ทั่วแห่งราคะ โทสะ โมหะ” หมายถึง ธรรมชาติ, มูลเดิม, ที่เกิด, รากเหง้า, ธรรมดา, กฎ (nature, the natural state of anything, or the cause of the material world, law)

(2) “ธรรมเป็นเหตุให้เริ่มต้นทำ” หมายถึง ความอุตสาหะ, ความพากเพียร, ความพยายาม, ความสำรวมใจ, จิตสมาธิ (exertion, energetic effort, striving, concentration of mind)

(3) “ผู้ดำรงอยู่โดยยิ่ง” หมายถึง ผู้เป็นหลักใหญ่, หัวหน้า (principal, chief)

บาลี “ปธาน” สันสกฤตเป็น “ปฺรธาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) ปฺรธาน : (คำนาม) ‘ประธาน,’ สฤษฏิ์, ประกฤติ, ธรรมดาของสิ่งทั่วไป, หรือมูลแหงภูตสฤษฏิ์; ปรเมศวร; พุทธิ, มติ, โพธ; มุขยสหายของพระราชา, อมาตย์ของท้าวเธอ, เสาวิทหรือขัณฑีของท้าวเธอ, ผู้ที่พระองค์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยได้, ฯลฯ; ราชพัลลภหรือราชสภาสัท, กุลีนะหรือผู้มีสกุล; ควานช้าง; nature, the natural state of anything, or the cause of the material world; the Supreme God; intellect, understanding, knowledge; the first companion of a king, his minister, his eunuch, his confident or confidential friend &c.; a courtier; a noble or noble-man; an elephant-driver.

(2) ปฺรธาน : (คำคุณศัพท์) ‘ประธาน,’ มุขยะ, บรม, อุคริม, เปนใหญ่; principal, chief.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) ประธาน ๑ : (คำนาม) ตําแหน่งผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นใหญ่ในที่ประชุม เช่น ตําแหน่งประธานรัฐสภา ตําแหน่งประธานกรรมการ, เรียกผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นใหญ่ในที่ประชุม เช่น ประธานรัฐสภา ประธานกรรมการ. (คำวิเศษณ์) ที่เป็นหลักสําคัญในที่นั้น ๆ เช่น พระประธาน.

(2) ประธาน ๒ : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) ผู้กระทำ เช่น เด็กวิ่ง เด็ก เป็นประธานของกริยา วิ่ง คนกินข้าว คน เป็นประธานของกริยา กิน.

(3) ประธาน ๓ : (คำนาม) ความเพียร มี ๔ อย่าง คือ ๑. สังวรประธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน ๒. ปหานประธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ๓. ภาวนาประธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน ๔. อนุรักขนาประธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม. (ส. ปฺรธาน; ป. ปธาน).

…………..

คำเตือน :

ประทาน” กับ “ประธาน” ความหมายคนละอย่างกัน อย่าใช้สับสน

ข้อความข้างล่างนี้ ข้อไหนถูก ข้อไหนผิด

“เจ้านายเสด็จไปเป็น “ประธาน” ในพิธี …. ในการนี้ได้ “ประทาน” พระโอวาทความว่า …”

“เจ้านายเสด็จไปเป็น “ประทาน” ในพิธี …. ในการนี้ได้ “ประธาน” พระโอวาทความว่า …”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงให้อภัยแก่คนที่ไม่รู้โดยสุจริต

: แต่อย่าลืมจำชื่อคนที่ชอบอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก

10-7-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย