บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ศึกษาพระธรรมวินัยก็จะได้คำตอบ

ศึกษาพระธรรมวินัยก็จะได้คำตอบ

—————————-

มีญาติมิตรแชร์ข่าวมาที่หน้าบ้านผม เป็นข่าวพระสงฆ์ที่จังหวัดหนึ่งช่วยกันทำหน้ากากอนามัยช่วยเหลือประชาชน 

ปกติผมไม่วิ่งตามข่าว แต่ข่าวมักวิ่งมาชนเอง-ด้วยความมีน้ำใจของญาติมิตร 

เรื่องอะไรที่กำลังเกิดเป็นข่าวขึ้นในสังคม ส่วนมากผมรู้จากญาติมิตรทางเฟซบุ๊กที่มีแก่ใจแชร์มาให้อ่าน 

ขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้ 

……….

แต่กรณีข่าวพระสงฆ์ทำหน้ากากอนามัยนั้น อ่านใจญาติมิตรแล้ว ความประสงค์อีกอย่างหนึ่งก็คงอยากจะถามผมว่า ผมเห็นเป็นอย่างไร พระทำงานแบบนี้ผิดหรือถูก เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม

………….

ผมว่าเวลานี้พวกเราทำท่าจะหลงทางนะครับ 

มีปัญหาในวงการพระศาสนาเกิดขึ้น เราวิ่งไปถามคนนั้นคนนี่คนโน้นกันขวักไขว่ไปหมด 

แต่ไม่มีใครวิ่งไปถามพระธรรมวินัย 

เพราะฉะนั้น ขอเชิญชวนให้ถอยมาตั้งหลักกันใหม่ ตั้งหลักกันให้ดี 

มีปัญหาอะไร อัญเชิญพระธรรมวินัยมาตัดสิน

…………….

ผมจะเล่าอะไรให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง

คำบูชาข้าวพระที่เรากล่าวกันทั่วไปคือ

อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ …. อุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ. 

ถามว่า – ต่อจาก สาลีนํ เป็นคำอะไร โภชนํ หรือ โอทนํ?

ผมเสนอว่า ต่อจาก สาลีนํ ควรเป็น โอทนํ (แปลว่า ข้าวสุก) ไม่ใช่ โภชนํ (แปลทับศัพท์ว่า โภชนะ หมายถึงอาหาร, ของกิน) 

เหตุผลของผมคือ คำว่า “สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” แปลว่า “สมบูรณ์ด้วยแกงและกับ” คำนี้หมายถึง “กับข้าว” 

วัฒนธรรมการกินของเรา “กับข้าว” กินพร้อมกับ “ข้าวสุก” นั่นคือข้าวสุกกินเปล่าๆ ไม่ได้ ต้องกินกับ “กับข้าว” 

ส่วน โภชนํ หมายถึงอาหารหรือของกินที่พร้อมกินอยู่ในตัวเอง เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด ราดหน้า สุกี้ ของกินพวกนี้ไม่ต้องมี “กับข้าว” กินได้ตามลำพังตัวมันเอง

ดังนั้น เมื่อมี “สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” = กับข้าว ก็ต้องมี “โอทนํ” = ข้าวสุก จึงจะสมเหตุสมผล 

แต่ใครสำนักไหนจะใช้ โภชนํ ก็ไม่ว่ากัน โภชนํ ก็ได้ความเหมือนกัน แต่ไม่สนิทเท่า โอทนํ เพราะเหตุผลอย่างนี้

ความเห็นของผมนี้โต้เถียงกันได้บนพื้นฐานหลักวิชา ใครใช้อย่างไรก็ถือว่าไม่ผิดหลักวิชา 

แต่ถ้า “โภชนํ” นั่นเอง แต่ใช้เป็น “โภชนานํ” หรือบางสำนักเป็น “โภชนานานํ” ไปโน่นเลย 

แบบนี้ผิดหลักวิชา ต้องแย้ง ต้องค้าน ต้องชี้แจงว่าผิดอย่างไร 

เป็นอันว่าในหลักวิชานั่นเองก็มีรายละเอียดแฝงอยู่ อ้างอิงอยู่กับความเห็นส่วนบุคคลก็มี แต่ก็ยังต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักวิชา 

ความเห็นส่วนบุคคลนั้นสามารถเอาไปอ้างได้ว่า ผู้นั้นผู้นี้-อย่างในกรณีก็คืออ้างความเห็นของนาวาเอกทองย้อย-เห็นว่าควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ใครจะเห็นตามหรือเห็นต่างย่อมเป็นสิทธิของผู้นั้น เพราะเป็นเรื่องของ “ความคิดเห็น” ไม่ใช่หลักวิชาตายตัวเหมือน “โภชนํ” กับ “โภชนานํ” หรือ “โภชนานานํ” ซึ่งสามารถชี้ถูก-ผิดได้ชัดเจนแน่นอน 

กรณีชี้ถูกผิดได้แน่นอนเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องอ้างความเห็นของบุคคล 

คือไม่ต้องอ้างว่า นาวาเอกทองย้อยเห็นว่า “โภชนานํ” และ “โภชนานานํ” ผิด 

ทั้งนี้เพราะ-แม้นาวาเอกทองย้อยจะไม่บอกว่าผิด คำนั้นก็ผิดอยู่แล้วตามหลักวิชา คือหลักไวยากรณ์ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องอ้างตัวบุคคล แต่อ้างตรงไปที่หลักวิชาได้เลย 

ตรงนี้สำคัญมากนะครับ ถ้ามองไปที่หลักพระธรรมวินัยจะเห็นได้ชัดว่าสำคัญมากอย่างไร

ตัวอย่างเช่น – วัดที่มีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป ไปนิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบ ๕ รูปเพื่อรับกฐิน 

ถามว่าทำได้หรือไม่ 

กรณีอย่างนี้ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะอ้างตัวบุคคล หรือพูดให้เด็ดขาดว่า-จะอ้างตัวบุคคลหาชอบไม่ 

เช่นอ้างว่า ท่านเจ้าคุณรูปโน้นบอกว่าทำได้

หรืออ้างว่า พระมหารูปโน้นบอกว่าทำไม่ได้ 

ทำได้หรือทำไม่ได้ ต้องอ้างตรงไปที่พระธรรมวินัยอย่างเดียว อ้างตัวบุคคลไม่ได้ 

ก็คือเรื่องนั้นกรณีนั้นมีปัญหาอย่างไร ต้องอัญเชิญพระธรรมวินัยออกมาเป็นเครื่องตัดสิน 

ศึกษาสืบสวนสอดส่องให้ทั่วถ้วนทั่วถึง พระธรรมวินัยว่าอย่างไร นั่นคือคำตอบ

ท่านเจ้าคุณรูปไหน ท่านมหารูปไหนว่าอย่างไร ถ้าตรงกับพระธรรมวินัยก็ต้องพูดว่า-ความเห็นของท่านตรงตามพระธรรมวินัย 

อย่าไปเผลอพูดว่า-พระธรรมวินัยตรงตามความเห็นของท่าน 

เพราะพระธรรมวินัยเป็นหลัก ไม่ใช่ความเห็นของบุคคลเป็นหลัก

กรณีอย่างนี้ถ้าความเห็นของตัวบุคคลผิดไปจากพระธรรมวินัย ก็ต้องแก้ความเห็นของบุคคลให้ตรงตามหลักพระธรรมวินัย 

ไม่ใช่แก้พระธรรมวินัยให้ตรงกับความเห็นของบุคคล

ถ้าค้นคว้าศึกษาตรวจสอบสืบสวนหลักพระธรรมวินัยทั่วถึงหมดแล้วไม่พบคำตอบ หรือคำตอบในหลักพระธรรมวินัยมีข้อหรือมีคำที่ชวนให้เคลือบแคลงสงสัยว่าจริงเท็จถูกผิดเป็นอย่างไรกันแน่ ไม่ชัดไม่ชัวร์ 

ถ้าเป็นแบบนี้จะทำอย่างไร 

กรณีอย่างนี้ หลักพระธรรมวินัยก็บอกไว้ว่า –

……………….

ตตฺถ สพฺเพเหว สมคฺเคหิ สมฺโมทมาเนหิ อวิวทมาเนหิ สิกฺขิตพฺพํ.

แปลความว่า- ในเรื่องนั้น ทั้งหมดต้องพร้อมใจกันร่วมใจกันศึกษาเรียนรู้อย่าให้ขัดแย้งกัน

……………….

ท่านแนะให้ร่วมกันศึกษาเรียนรู้ ไม่ใช่ให้ต่างคนต่างสำนักก็ต่างทำไปตามที่ตนเข้าใจหรือพอใจ 

คณะสงฆ์มีเจ้าคณะปกครองบังคับบัญชากันไปตามลำดับ ถ้ามีข้อเคลือบแคลงสงสัยในพระธรรมวินัยข้อใดๆ – 

พระยืนบิณฑบาต ทำได้หรือ

พระบิณฑบาตเอาเฉพาะเงิน ทำได้หรือ

ยืนให้พรกันข้างถนน ทำได้หรือ

พระขับรถไปไหนมาไหนเหมือนชาวบ้าน ผิดหรือถูก ทำได้หรือ

ฯลฯ

ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาร่วมกัน ไม่ใช่คิดเองตัดสินเอง เลือกปฏิบัติเองตามความเข้าใจหรือความพอใจส่วนตัว

ตรงนี้แหละที่ปัจจุบันนี้ขาดหายไป

คณะสงฆ์ไม่เคยประชุมกันพิจารณาประเด็นปัญหาใดๆ เลย 

ท่านปล่อยให้ทำกันตามสบายทั่วสังฆมณฑล

ท่านเจ้าคุณนั่นว่าอย่างนั้น

ท่านมหารูปนี้ว่าอย่างนี้

ส่วนตัวข้าพเจ้า-ข้าพเจ้าพอใจจะทำแบบนี้ 

แทบจะไม่ได้ยินใครยกพระธรรมวินัยขึ้นมาอ้างอิง 

ที่ยกพระธรรมวินัย ก็วินิจฉัยด้วยความเห็นของตัวเองตามลำพัง 

ไม่เป็น สพฺเพเหว สมคฺเคหิ ตามที่พระธรรมวินัยแนะนำให้ทำ

อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เราจึงไม่เคยได้ยินคณะสงฆ์ไทยในทุกวันนี้ประกาศตัดสินเลยแม้แต่ข้อเดียว 

………………

พระทำหน้ากากอนามัยช่วยเหลือประชาชน ควรหรือไม่ควร ผิดหรือถูก ทำได้หรือไม่ได้ 

ไม่ต้องรออ้าง-นาวาเอกทองย้อยว่าทำได้ 

ไม่ต้องรออ้าง-นาวาเอกทองย้อยว่าทำไม่ได้ 

อัญเชิญพระธรรมวินัยออกมาศึกษาก็จะได้คำตอบที่เป็นมาตรฐาน ไม่ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของตัวบุคคล 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๗ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๘:๕๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *