บาลีวันละคำ

ปรารภปรารถนา (บาลีวันละคำ 2,825)

ปรารภปรารถนา

ภาษาตกบันไดพลอยโจน

อ่านว่า ปฺรา-รบ-ปฺราด-ถะ-หฺนา

ประกอบด้วยคำว่า ปรารภ + ปรารถนา

(๑) “ปรารภ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปรารภ : (คำกริยา) กล่าวถึง; ตั้งต้น; ดําริ. (ส.ปฺรารพฺธ).”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้เอ่ยถึงบาลี แต่บอกว่าสันสกฤตเป็น “ปฺรารพฺธ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรารพฺธ : (คำนาม) ‘ปรารัพธ, แผลงเปน-ปรารพธ์,’ อาทิ, อารัมภะ, ต้น; beginning.”

บาลีมีคำว่า “อารพฺภ” (อา-รับ-พะ) เป็นคำกริยาคงรูป (indeclinable) แปลว่า เริ่มต้น, รับทำ ฯลฯ (beginning, undertaking etc.)

อารพฺภ” รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป) + รภฺ (หรือ รภิ) (ธาตุ = เริ่ม) + ตฺวา ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุกับปัจจัยเป็น พฺภ

: อา + รภฺ = อารภ + ตฺวา > (- + ตฺวา = พฺภ =) อารพฺภ แปลว่า “ปรารภ

ถ้าลากเข้าบาลี : (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน) + อารพฺภ = ปารพฺภ ลบ พฺ = ปารภ > ปรารภ

ที่แสดงมานี้หมายความว่า ถ้าจะให้เป็นบาลีก็มีทางอธิบายให้เป็นได้ แต่เกณฑ์ตัดสินอยู่ที่ว่า ในคัมภีร์บาลีไม่พบคำ “ปรารภ” ตรงๆ เพราะฉะนั้น ก็สรุปได้เพียงว่า “ปรารภ” ความหมายตรงกับบาลีว่า “อารพฺภ

(๒) “ปรารถนา

บาลีเป็น “ปตฺถนา” อ่านว่า ปัด-ถะ-นา รากศัพท์มาจาก ปตฺถ (ธาตุ = ต้องการ, ขอ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ปตฺถ + ยุ > อน = ปตฺถน + อา = ปตฺถนา แปลตามศัพท์ว่า “ความปรารถนา” หมายถึง การตั้งเป้าหมาย, การปรารถนา, ความอยากได้, การขอร้อง, ปณิธาน, การสวดอ้อนวอน (aiming at, wish, desire, request, aspiration, prayer)

ความหมายเด่นของ “ปตฺถนา” คือ การตั้งเป้าหมายที่จะมี จะเป็น จะได้ ซึ่งมักเกิดจากแรงบันดาลใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น นักเรียนเห็นครูที่มาสอนจบปริญญาเอก ก็ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเรียนให้จบปริญญาเอกเหมือนครูให้จงได้ อย่างนี้คือ “ปตฺถนา” = ตั้งความปรารถนา

บาลี “ปตฺถนา” ในภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “ปรารถนา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปรารถนา : (คำกริยา) มุ่งหมาย, อยากได้, ต้องการ. (ส. ปฺรารฺถนา; ป. ปตฺถนา).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ปรารถนา” สันสกฤตเป็น “ปฺรารฺถนา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำว่า “ปฺรารฺถนา” แต่มี “ปฺรารฺถน” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรารฺถน : (คำนาม) ‘ปรารถน, แผลงเปน – ปรารถนา,’ การขอ; asking, begging.”

อภิปราย :

ปรารภ” กับ “ปรารถนา” เป็นคนละคำกัน ความหมายก็ต่างกันคนละอย่าง แต่มักมีผู้พูดรวมกันเป็น “ปรารภปรารถนา

ผู้เขียนบาลีวันละคำปรารถนาจะสันนิษฐานว่า “ปรารภปรารถนา” เป็นการพูดพลาด-เหมือนตกบันไดพลอยโจน ทั้งนี้เนื่องจากคำทั้งสองนี้ขึ้นต้นเป็นอักษรตรงกันถึง 4 ตัว คือ “ปราร-”

ปราร– = ปรารภ

ปราร-” = ปรารถนา

มิหนำซ้ำอักษรตัวต่อไปคือ สำเภา กับ ถุง ยังมีโครงรูปเหมือนกันอีกด้วย (ต่างกันตรงหัวออกกับหัวเข้า)

สันนิษฐานว่า คำที่เขียนจริงคือ “ปรารถนา” แต่ผู้อ่านสำคัญผิดว่าเป็น “ปรารภ” จึงออกเสียงอ่านไปว่า ปฺรา-รบ แต่ทันทีนั้นเองก็เห็นชัดว่าคำนั้นเป็น “ปรารถนา” จึงอ่านแก้ใหม่ว่า ปฺรา-ถะ-หฺนา เสียงที่ได้ยินจึงออกมาเป็น ปฺรา-รบ ปฺรา-ถะ-หฺนา กลายเป็นสองคำ

ฝ่ายคนฟัง ได้ยินแบบนั้นก็รู้สึกว่า “เข้าทีดี” จึงเลยใช้ตามเป็น “ปรารภปรารถนา” ดังที่ได้ยินกันอยู่ (อย่างน้อยก็เคยได้ยินอยู่พักหนึ่ง)

เทียบเคียงได้กับคำว่า “เบี้ยหัวแหลกหัวแตก

คำเดิมมีเฉพาะ “เบี้ยหัวแตก” ไม่มี “เบี้ยหัวแหลก” แต่มีคนพูดพลาด (ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ยินหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พูดเป็นครั้งแรก) พูด “เบี้ยหัวแตก” เป็น “เบี้ยหัวแหลก” แล้วเลยพูดแก้ติดกันไปว่า “-หัวแตก” เลยกลายเป็น “เบี้ยหัวแหลกหัวแตก” ที่ทำท่าจะนิยมพูดกันต่อมา

ขอให้เทียบกับคำว่า “ติดร่างแห” กับ “ติดหลังแห” ซึ่งมีใช้ทั้งสองคำ ถ้าใครพูดว่า “ติดหลังแห” ก็ไม่ต้องกลับมาพูดแก้เป็น “ติดร่างแห” เพราะใช้ได้ทั้งสองคำ พูดคำไหนก็ใช้ได้เลย จึงไม่มีใครพูดว่า “ติดร่างแหหลังแห” หรือ “ติดหลังแหร่างแห”

ถ้าแต่ดั้งเดิมมีทั้ง “เบี้ยหัวแตก” และ “เบี้ยหัวแหลก” คือใช้ได้ทั้งสองคำ จะพูดว่า “เบี้ยหัวแตก” ก็พูดไป หรือจะว่า “เบี้ยหัวแหลก” ก็ว่าไป พูดคำไหนก็ใช้ได้เลย เมื่อพูดว่า “เบี้ยหัวแหลก” จะต้องพูดซ้อนเป็น “-หัวแตก” อีกทำไม

ที่ว่ามานี้เป็นข้อสันนิษฐานหรือความคิดเห็นซึ่งอาจผิดทั้งหมด จึงควรใช้วิจารณญาณในการอ่านเป็นพิเศษ ไม่พึงเห็นตามหรือเห็นต่างทันที

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าสังคมวิปริตยอมให้ผิดกลายเป็นถูก

: วันหนึ่งพระเจ้าคงยอมให้วัวออกลูกเป็นควาย

#บาลีวันละคำ (2,825)

7-3-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย