บาลีวันละคำ

กากสูร (บาลีวันละคำ 2,824)

กากสูร

ไม่คุ้นในคำไทย แต่คุ้นใจนักเรียนบาลี

อ่านว่า กา-กะ-สูน

แยกศัพท์เป็น กาก + สูร

(๑) “กาก

บาลีอ่านว่า กา-กะ รากศัพท์มาจาก –

(1) กา (เสียงว่า “กา”) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย ลบ รฺ ที่สุดธาตุ

: กา + กรฺ > + = กาก = “ผู้ทำเสียงว่ากา

(2) กา (เสียงว่า “กา”) + กา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย ลบ อา ที่ธาตุ

: กา + กา > + = กาก = “ผู้ส่งเสียงว่ากา

กาก” (ปุงลิงค์) หมายถึงสัตว์จำพวกนกที่เราเรียกกันว่า “กา” หรือ “อีกา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กาก” ว่า the crow

ในภาษาไทย คำว่า “กาก” มีความหมายแบบไทย ตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

กาก : (คำนาม) สิ่งที่เหลือเมื่อคั้นหรือคัดเอาส่วนดีออกแล้ว เช่น กากมะพร้าว; หยากเยื่อ; เดนเลือก (ใช้เป็นคําด่า) เช่น กากมนุษย์ คนกาก.”

ส่วนที่มีความหมายตรงตามบาลี คำไทยเขียน “กา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กา ๑ : (คำนาม) ชื่อนกขนาดกลางชนิด Corvus macrorhynchos Wagler วงศ์ย่อย Corvinae ในวงศ์ Corvidae ปากใหญ่หนาแบนข้าง ตาสีดำ ตัวสีดำ ร้องเสียง “กา ๆ ”, อีกา ก็เรียก; ชื่อหนึ่งของดาวฤกษ์ธนิษฐา เห็นเป็นรูปอีกา เช่น แม้นดาวกามาใกล้ในมนุษย์ (อภัย), ดาวไซ ดาวเศรษฐี ดาวศรวิษฐา หรือ ดาวธนิษฐะ ก็เรียก.”

กา” หรือ “อีกา” นี้ผู้ร้อนวิชารุ่นเก่าเคยเขียนเป็น “กาก์” (การันต์ที่ ท้ายศัพท์ อ่านว่า “กา”) เพราะเชื่อว่าชื่อนกชนิดนี้มาจากบาลีสันสกฤตว่า “กาก” แน่นอน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กาก” บอกไว้ดังนี้ –

(1) (คำนาม) กาก์; คนเสียขา a crow; a cripple, one whose legs are useless.

(2) ฝูงกาก์ an assemblage of crows.

(3) (คำคุณศัพท์) อหังการ, ไม่มีความละอาย; arrogant, shameless.

ในคัมภีร์มักเอ่ยถึง “กาก” ในฐานะสัตว์ขี้ขโมย นิสัยไม่ดี ชอบมั่วสุมกับสัตว์จำพวกเลวในสถานที่ที่น่ารังเกียจ

คัมภีร์อังคุตรนิกาย ทสกนิบาต (พระไตรปิฎกเล่ม 24 ข้อ 77) แสดงลักษณะเลวของ “กาก” ไว้ 10 อย่าง คือ –

(1) ธํสี = ระราน

(2) ปคพฺโภ = อวดกล้า

(3) ตินฺติโณ = อยากจัด

(4) มหคฺฆโส = กินจุ

(5) ลุทฺโธ = โลภมาก

(6) อการุณิโก = ใจร้าย

(7) ทุพฺพโล = อ่อนแอ

(8) โอรวี = ปากพล่อย

(9) มุฏฺฐสฺสติ = ปล่อยตัว

(10) เนจยิโก = งก

(คำบาลี : จากพระไตรปิฎก

คำแปล : แปลแบบขบความ)

บุรุษหรือสตรีก็ตาม หากมีโทษสมบัติทั้งสิบนี้ ควรนับว่าเป็น “กาก” คือคนหมดดี หรือเดนเลือก ตามความหมายในภาษาไทยได้อย่างแน่นอน

(๒) “สูร

บาลีอ่านว่า สู-ระ รากศัพท์มาจาก สุรฺ (ธาตุ = กล้าหาญ) + ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ สุ-(รฺ) เป็น อู (สุรฺ > สูร)

: สุรฺ + = สุร > สูร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กล้าหาญ

สูร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง วีรบุรุษ, คนกล้า (a hero, a valiant man); (นปุงสกลิงค์) ความกล้าหาญ (valour)

(2) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง กล้าหาญ, แกล้วกล้า (valiant, courageous)

บาลี “สูร” ภาษาไทยใช้เป็น “สุร” (สุ- สระ อุ) ก็มี คงเป็น “สูร” ก็มี ในที่นี้ใช้เป็น “สูร” อยู่ท้ายคำอ่านว่า สูน บางกรณีอ่านว่า สู-ระ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สูร : (คำนาม) ผู้กล้าหาญ, นักรบ; พระอาทิตย์. (ป., ส.). (คำวิเศษณ์) กล้าหาญ, เข้มแข็ง. (ป.; ส. ศูร).”

กาก + สูร = กากสูร บาลีอ่านว่า กา-กะ-สู-ระ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กาตัวกล้า” (2) “คนกล้าเพียงดังกา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “กากสูร” ว่า a “crow-hero,” appl. to a shameless, unconscientious fellow (“กล้าเหมือนกา” ใช้กับคนที่ไม่มียางอาย ไม่มีหิริโอตตัปปะ)

ขยายความ :

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 7 (จูฬสาริภิกฺขุวตฺถุ เรื่องที่ 186) อธิบายลักษณะนิสัยของ “กากสูร = กาตัวกล้า” ไว้ว่า –

กาตัวกล้าใคร่จะโฉบเอาของกินตามบ้านคน ก็แอบมาจับอยู่ตามข้างฝาเรือนหรือที่ใดที่หนึ่ง ถ้าเห็นว่าคนกำลังระวังอยู่ ก็จะทำเป็นเฉย ไม่รู้ไม่ชี้บางทีก็แกล้งทำเป็นหงอยซึม แต่พอคนเผลอก็โฉบลงมาคาบของกินในชามในจานเอาไปดื้อๆ

ท่านเอาลักษณะนิสัยกาตัวกล้ามาเทียบกับบุคคลผู้บวชเข้ามาในพระศาสนาแล้วไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม มุ่งแต่แสวงหาลาภสักการะแบบตีสนิทเข้าประชิดตัวญาติโยมด้วยลีลาเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ แม้โยมไม่เต็มใจก็จำใจต้องถวาย อุปมาเหมือน “กากสูร” เช่นกัน ไม่ได้แปลว่า “กาตัวกล้า” หากแต่แปลว่า “คนกล้าเพียงดังกา

ที่ว่ามานี้ว่าตามที่คัมภีร์ท่านแสดงไว้ ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่ได้ว่าเอง

บุคคลที่มีลักษณะเป็น “กากสูร” ทั้งในความหมาย “กาตัวกล้า” และ “คนกล้าเพียงดังกา” ตามที่ท่านบรรยายไว้นี้ น่าจะตรงกับที่คำไทยเรียกว่า “ฉลาดแกมโกง” คือเป็นคนเฉลียวฉลาด หากแต่ใช้ความฉลาดนั้นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงว่าตนได้ทำให้เพื่อนมนุษย์เสียประโยชน์อะไรไปบ้างหรือเปล่า

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนโกง ไม่ฉลาด

: คนฉลาด ไม่โกง

#บาลีวันละคำ (2,824)

6-3-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย