บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

มีแต่คนจบช่างยนต์ แต่ไม่มีคนซ่อมรถ

มีแต่คนจบช่างยนต์ แต่ไม่มีคนซ่อมรถ

——————————–

เมื่อวานนี้ (๑๐ มีนาคม ๒๕๖๓) คณะสงฆ์เริ่มตรวจข้อสอบบาลีสนามหลวง 

โปรดทราบไว้เป็นความรู้ว่า คณะสงฆ์ไทยมีหลักนิยมในการกำหนดวันทำกิจคณะสงฆ์เป็นวันทางจันทรคติ คือวันขึ้นแรม 

เช่นสอบนักธรรม สมัยผมเป็นสามเณร หลวงลุงที่เป็นผู้ปกครองผมท่านบอกว่า “เดือนอ้าย แรม ๒ ค่ำ” ผมจำติดใจมานาน 

ต่อมา ด้วยเหตุผลบางประการ คณะสงฆ์เปลี่ยนเป็น “เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ” คือเร็วขึ้นจากเดิมเดือนหนึ่ง 

สอบบาลี เดิมผมจำมาว่า “เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ” คือหลังมาฆบูชา ๑๐ วัน คือจำเฉพาะที่ตัวเองจะต้องสอบสมัยเรียนประโยค ป.ธ.๓-๕ 

ต่อมาจึงจำเพิ่มขึ้นอีกช่วงหนึ่ง คือ “เดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ” อันเป็นกำหนดสอบประโยค ป.ธ.๖-๙ 

ส่วนกำหนดตรวจข้อสอบนั้นไม่ได้ตั้งใจจำ เพราะไม่เกี่ยวกับตัวเอง จำคราวๆ ว่าหลังจากสอบประมาณเดือนหนึ่ง ต่อมาจึงได้เห็นกำหนดวันตรวจข้อสอบบาลีชัดเจนว่า “เดือน ๔ แรม ๒ ค่ำ” 

การกำหนดวันทำกิจของสงฆ์เป็นวันทางจันทรคติเช่นนี้นับว่าเป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์อย่างสำคัญของคณะสงฆ์ไทย สมควรที่จะดำรงไว้ให้มั่นคง 

ผมเกรงว่า “เลือด” ของผู้บริหารการพระศาสนาในอนาคตซึ่งกำลังถูกอิทธิพลทางโลกครอบงำอยู่ในเวลานี้จะจืดจางลงไป แล้วจะพลอยเห็นดีเห็นงามไปกับกระแสโลก คือกำหนดวันทำกิจของสงฆ์เป็นวันที่ เป็นเดือนมกรากุมภา

ที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้ก็คือ ทางราชการไม่ได้เห็นความสำคัญของวันพระอีกแล้ว 

ทางราชการรู้จักวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ไม่รู้จักวันพระ 

ที่น่าสังเวชอย่างยิ่งก็คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยตรงก็ต้องอยู่ในกรอบของทางราชการด้วยเพราะเป็นหน่วยราชการ 

หลวงพ่อที่วัดมหาธาตุราชบุรีท่านบ่นว่า “สำนักพุทธฯ เขารู้จักแต่เสาร์อาทิตย์ ไม่รู้จักวันพระ” 

เรื่องก็คือ วันพระมีญาติโยมมาทำบุญที่วัด พระต้องอยู่วัด แต่สำนักพุทธฯ ไม่รับรู้ นึกจะกำหนดงานอะไร ก็จัดมันวันพระนั่นแหละ แล้วก็นิมนต์พระไปร่วมงานนอกวัด 

เป็นการบ่อนทำลายความสำคัญของวันพระไปโดยไม่ตั้งใจ-หรือตั้งใจก็ไม่รู้

ถ้าไม่ตระหนักเรื่องแบบนี้ไว้ให้มาก ต่อไปวันมาฆะ-วิสาขะ เข้าพรรษา-ออกพรรษา คงเปลี่ยนไปเป็นวันที่เท่านั้นเท่านี้กันหมด ไม่ต้องเอาขึ้นแรมกันแล้ว

……………….

กลับมาเข้าประเด็น 

เริ่มตรวจข้อสอบบาลีกันเมื่อวานนี้ ใช้เวลา ๕ วัน พอวันที่ ๑๔ มีนาคมก็ประกาศผลสอบ 

ใครจะได้เป็น “มหา” ใครจะได้เป็น “ประโยค ๙” ก็รู้กันวันนั้น

ผมคิดอะไร? 

ผมคิดว่า เราวัดผลการเรียนบาลีไม่ถูกเป้า 

คือเป้าหมายของการเรียนบาลีที่แท้จริงก็คือการเอาความรู้ไปค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎก-อันเป็นแหล่งรวมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา-อันเป็นตัวพระศาสนา 

วัดผลให้ถูกเป้าก็คือ เมื่อเรียนพอมีความรู้แล้ว ก็ให้ไปทำงานค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎก แล้ววัดผลกันที่ผลงานที่ทำ

เช่นระดับประโยค ๙ ให้ไปศึกษาค้นคว้าเรื่องนั้นเรื่องนี้ในพระไตรปิฎก ค้นเจอไหม ได้ความว่าอย่างไร เจอเงื่อนแง่นี้แล้วสืบสาวไปที่เงื่อนแง่โน้นต่อไปอีกได้ไหม เจอทางตัน เช่นเจอศัพท์แปลกๆ ที่ไม่เคยรู้รากเหง้ามาก่อน สามารถเจาะทะลุไปได้ไหม – อย่างนี้เป็นต้น 

พูดสั้นๆ วัดผลด้วยวิธีให้ลงมือทำงานแล้วดูผลงาน ตัดสินที่ผลงาน 

ไม่ใช่ตัดสินด้วยกระดาษคำตอบ

นึกถึงหมอชีวกสิครับ หมอชีวกไปเรียนวิชาแพทย์ อาจารย์วัดผลด้วยการให้ไปหาพืชที่ใช้ทำยาไม่ได้มาให้ดู หมอชีวกเดินรอบตักสิลาในรัศมี ๑ โยชน์ เจอต้นอะไรตามรายทาง รู้หมดว่าต้นนั่นใช้แก้โรคนี่ ต้นนี่ใช้แก้โรคนั่น ไม่เห็นต้นอะไรเลยที่ใช้ทำยาไม่ได้ 

อาจารย์บอกว่า งั้นก็จบแพทย์แล้ว กลับบ้านได้ 

เรียนบาลี วัดผลด้วยการลงมือค้นคว้าพระไตรปิฎกสิครับจึงจะได้คนมีความรู้จริง ทำงานได้จริง 

……………….

ผมมองว่า ทุกวันนี้เราเรียนบาลีเหมือนผลิตช่างยนต์ แต่ไม่ได้ผลิตคนซ่อมรถ

ผลิตออกมากี่รุ่นต่อกี่รุ่น เราก็ได้แค่ “คนจบช่างยนต์” แต่ไม่เคยซ่อมรถ และถ้าให้ซ่อมรถจริงๆ ผมก็ไม่แน่ใจว่าซ่อมเป็นหรือเปล่า

……….

พระพุทธศาสนาในบ้านเราเวลานี้เต็มไปด้วยคำถาม

– พระยืนบิณฑบาตถูกหรือผิดตามพระธรรมวินัย

– เอาสตางค์ใส่บาตรเวลาพระออกบิณฑบาต ถูกหรือผิด 

– ดอกไม้ที่เขาบูชาพระแล้ว เอาไปเวียนให้คนบูชาพระซ้ำอีก ถูกหรือผิด

– พระยืนให้พรตรงที่คนใส่บาตรนั่นเลย ถูกหรือผิด

– พระขับรถไปไหนมาไหนเหมือนชาวบ้าน ถูกหรือผิด

– สังฆทานเวียน ถูกหรือผิด 

– วันปาติโมกข์ ใช้วิธีเปิดเทปเปิดเสียงแทนพระสวดจริง ใช้ได้หรือไม่ 

– วัดที่พระไม่ครบ ๕ รูป นิมนต์จากต่างวัดมาร่วมรับกฐิน ถูกหรือผิด 

– ทอดกฐินเป็นกองๆ เจ้าภาพเป็นสิบเป็นร้อยเจ้าภาพ ถูกหรือผิด

– เช้าใส่บาตร ลืมกรวดน้ำ มานึกได้ตอนเย็น กรวดน้ำได้ไหม ได้บุญไหม 

– พระบวชใหม่ออกจากโบสถ์ ญาติโยมไปรอใส่บาตรหน้าโบสถ์ เอาสตางค์ใส่ด้วย บอกว่าทำบุญกับพระใหม่ศีลยังบริสุทธิ์ ได้บุญแรง เหมาะสมหรือไม่

ฯลฯ

ฯลฯ

ฯลฯ

ฯลฯ

ถ้าเปรียบกับอู่ซ่อมรถ ก็มีรถรอซ่อมอยู่ล้นอู่ ล้นออกไปถึงไหนๆ 

แต่ในอู่ไม่มีช่างซ่อมรถสักคน 

มีแต่ตาแก่เดินงกๆ เงิ่นๆ อยู่คนเดียว 

“ลุง รถผมเสร็จยัง?” 

“ลุง รถหนูเสร็จยัง”

“ลุง รถเสร็จยัง”

“ลุง รถเสร็จยัง”

ท่ามกลางเสียงเจ้าของรถร้องทวงถามเซ็งแซ่ 

ลุงยิ้มแห้งๆ ไม่กล้าสบตาใคร ได้แต่ร้องบอกไปลอยๆ 

“รอหน่อยนะ วันที่ ๑๔ นี่จะขอเวลาไปแสดงความยินดีกับคนจบช่างยนต์รุ่นใหม่เขาสักหน่อย ผมไปไม่นานหรอก”

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๒:๓๙

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *