บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

สุริยาวสาน

สุริยาวสาน

————

เมื่อเช้านี้ (๒ ตุลาคม ๒๕๕๙) ผมกำลังสวดมนต์อันเป็นกิจวัตร “วันส่งอุโบสถ” ตามที่ปฏิบัติอยู่เป็นนิตย์ หลวงพ่อที่วัด (วัดมหาธาตุ ราชบุรี) ก็ให้คนมาเรียก บอกว่าต้องการพบ

การที่หลวงพ่อให้คนตามตัวไปพบนั้นเป็นเรื่องปกติ 

ตอนเช้ามืด เมื่อเสร็จกิจวัตรประจำวันแล้วหลวงพ่อจะออกมานั่งมองบรรยากาศทั่วไปภายในวัด ท่านบอกว่าท่านมักจะคิดอะไรๆ ได้ในช่วงเวลานั้น บางเรื่องเป็นเรื่องที่ควรถ่ายทอดให้คนวัดรับฟังไว้ ตลอดจนท่านได้รับรู้เรื่องราวใดๆ โดยเฉพาะเรื่องในวงการคณะสงฆ์ และเห็นว่าคนวัดควรรับรู้ไว้ด้วย ท่านก็จะให้คนไปตามคนวัดมา

“คนวัด” ที่ว่านี้หมายถึงคนที่ไปมาหาสู่กับวัดสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นศิษย์สำนักเดียวกัน ออกจากวัดไปแล้ว แต่ยังเข้าวัดสม่ำเสมอ และบ้านอยู่ใกล้วัด หรือพร้อมที่จะไปวัดได้ในทันที่ต้องการตัว

เรื่องที่หลวงพ่อเรียกไปเล่าให้ฟังนั้น บางเรื่อง (หลายเรื่อง) ท่านจะวงเล็บตัวแดงไว้ด้วยว่า ฟังแล้วก็เหยียบไว้ตรงนี้ 

ดังนั้น จึงมีหลายๆ เรื่องที่เราต้องทำอย่างที่คนเก่าๆ ท่านพูดว่า “ปล่อยให้ตายไปกับตัว”

—————-

เช้านี้หลวงพ่อปรารภถึงสถานการณ์บ้านเมือง ในแง่มุมที่ท่านรู้ ท่านเห็น แต่เราไม่รู้ แล้วให้เราช่วยประเมินสถานการณ์ว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร และเรา-โดยเฉพาะชาววัดมหาธาตุ-ควรมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนั้นๆ

มาจบลงตรงความเป็นไปในวงการคณะสงฆ์ โดยเฉพาะก็โฟกัสไปที่มหาจุฬาฯ ในฐานะ “กรณีศึกษา” เหมือนกับว่า-ถ้าอยากรู้ว่าพระเณรในปัจจุบันเป็นอย่างไร ก็ให้ดูที่มหาจุฬาฯ 

สรุปความกังวลของหลวงพ่อก็คือ พระเณรทุกวันนี้ทิ้งแนวทางของตัวเอง ทำอะไรตามชาวบ้านไปเสียทุกอย่าง 

ดูไปที่มหาจุฬาฯ จะเห็นชัด

ผมเคยถามว่า เดี๋ยวนี้มหาจุฬาฯ ยังหยุดวันพระ-วันอาทิตย์อยู่หรือเปล่า 

ท่านที่อยู่ในมหาจุฬาฯ บอกว่ายังหยุดเช่นนั้นอยู่ 

แต่ท่านอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า บางส่วนเปลี่ยนไปหยุดเสาร์อาทิตย์ไปแล้ว เนื่องจากมีฆราวาส ตลอดจนนักบวชนิกายอื่น เข้ามาเรียนมากกว่าพระเณรไทย และนิสิตส่วนนั้นขอให้เปลี่ยนแปลงวันหยุดตามระบบสากล

แบบนี้ ต่อไปมหาจุฬาฯ ก็คงเปลี่ยนไปหยุดเสาร์อาทิตย์ทั้งหมด วันพระจะไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไป

ในวงสนทนา ผมตั้งคำถามที่อยากรู้อีกประเด็นหนึ่งว่า บรรดาพระภิกษุที่ปฏิบัติงานในมหาจุฬาฯ ตั้งแต่พระเดชพระคุณท่านอธิการบดีลงมา ตามกฎหมายแล้วมีสถานะเป็นอะไร 

บอกตรงๆ ว่า ผมสงสัยว่ามีสถานะเป็น “ข้าราชการ” หรือเปล่า 

ถ้ามีสถานะเป็นข้าราชการ ถามต่อไปว่าสถานะเช่นนั้นขัดต่อพระธรรมวินัยหรือไม่ 

ถามตามภาษาชาวบ้านว่า รับราชการทั้งที่เป็นพระได้หรือ 

หรือว่าใช้แง่มุมทางกฎหมายมากำหนดกฎเกณฑ์ให้เป็นอย่างไร

ทำนองเดียวกับ “นิตยภัต” ไม่ใช่ “เงินเดือน” นั่นแหละ

ตั้งประเด็นแบบนี้ไม่ใช่จะหาเรื่อง แต่อยากได้ความรู้

ผมแน่ใจว่าเรื่องนี้มีข้อยุติเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ผมตกข่าว คือยังไม่รู้ และเชื่อว่าคนทั่วไปก็ยังไม่รู้ (และไม่สนใจที่จะรู้ด้วย)

ขออนุญาตย้ำว่า ตั้งประเด็นแบบนี้ไม่ใช่ต้องการหาเรื่อง แต่ต้องการหาความรู้ 

ผมเชื่อว่าถ้าชาวบ้านได้รับรู้ความเป็นจริงทั่วๆ กัน เราจะได้ความเข้าใจอันดีจากสังคมมากยิ่งขึ้น

—————-

อีกเรื่องหนึ่ง ได้ความรู้จากท่านที่อยู่ข้างในว่า มหาจุฬาฯ เริ่มงานเก้าโมงเช้า เลิกงานห้าโมงเย็น 

ดูตามนี้ก็ทำนองเดียวกับบริษัทเอกชนทั่วไป 

และดูตามนี้ผมก็ช่างสงสัยอีกว่า แล้วกิจวัตรประจำวันภายในวัด เช่นทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น โดยเฉพาะวันพระใหญ่ฟังพระปาติโมกข์ อย่างนี้เป็นต้น พระคุณท่านที่ปฏิบัติงานอยู่ในส่วนที่ไม่หยุดจะว่ากันอย่างไร 

สรุปว่า ถ้าเอางานมหาจุฬาฯ เป็นหลักแล้ว วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของพระเณรยังคงปฏิบัติได้เหมือนเดิม หรือว่าต้องปรับแก้จนกระทั่งไม่เหลือแบบแผนของเดิม คือปรับไปปรับมาจนพระเณรมีวิถีชีวิตเหมือนชาวบ้านไปโดยสมบูรณ์

เรื่องนี้ผมก็แน่ใจว่ามีคำตอบที่ยุติแล้ว แต่ผมตกข่าว รวมทั้งคนทั่วไปก็ยังไม่รู้ (และไม่สนใจที่จะรู้ด้วย) อีกเช่นกัน

—————-

เรื่องสุดท้ายที่เราปรารภกันวันนี้ด้วยความประหวั่นพรั่นพรึงก็คือ เรื่องพระอุ้มลูกสาว

เมื่อเรื่องและภาพแพร่ไป มีคนเข้ามาบอกว่าพระทำไม่ถูกตามพระธรรมวินัย

ปรากฏว่า คนที่บอกว่าพระทำไม่ถูกตามพระธรรมวินัยนั่นเอง กลับถูกคนส่วนมากรุมด่าอย่างแหลกลาญว่า มันเป็นการแสดงความรักความเมตตาระหว่างพ่อลูก มาว่าพระทำไม่ถูกได้อย่างไร พระท่านทำถูกแล้ว 

คนที่ว่าพระทำไม่ถูกนั่นแหละเป็นตัวทำไม่ถูก จะบอกให้

เรื่องนี้เป็นอันยืนยันได้แล้วว่า คนไทยส่วนหนึ่ง-ซึ่งน่าจะเป็นส่วนใหญ่-ในเวลานี้ไม่ใช่แค่ไม่รู้พระธรรมวินัย

หากแต่อาการหนักไปถึงขั้นไม่รับรู้ว่ามีพระธรรมวินัยอยู่ในโลกนี้กันแล้ว

—————-

มีแนวโน้มที่เห็นได้ชัดว่า ต่อไปพระสงฆ์สามเณรในเมืองไทยจะเอาเสียงของคนหมู่มากหรือความเห็นของสังคมเป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติตัว

หมายความว่า อะไรที่ทำแล้วชาวบ้านยอมรับ ก็จะพากันทำอย่างนั้นโดยไม่ต้องสนใจพระธรรมวินัย

อีกด้านหนึ่งที่กำลังมาแรง ก็คือแนวคิดที่ว่า พระเณรเป็นปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยไปหมดทุกข้อ 

ที่หนักยิ่งไปกว่านี้ก็คือ เวลานี้มีความเห็นเกิดขึ้นแล้วว่า พระธรรมวินัยบางเรื่องบางข้อเป็นของล้าสมัย สมควรยกเลิกไปตั้งนานแล้ว

คนที่เห็นด้วยกับแนวคิดแบบนี้ มีมากขึ้นทุกวัน

อันที่จริง พระธรรมวินัย-โดยเฉพาะสิกขาบทต่างๆ นั้น มีสาเหตุมาจากพระที่เป็นปุถุชนนั่นเองเป็นผู้ก่อเรื่องขึ้น พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติห้ามไว้

กล่าวได้ว่า พระธรรมวินัยก็คือเครื่องมือสำหรับพัฒนาปุถุชนให้ก้าวหน้าขึ้นไปสู่ภาวะของพระอริยะนั่นเอง

การปฏิเสธพระธรรมวินัย ก็เท่ากับปฏิเสธแนวทางของตัวเอง

และในที่สุดแล้ว ก็เท่ากับปฏิเสธตัวเองนั่นเอง

—————-

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ตรัสพระวาจาอันเปรียบเสมือนพินัยกรรมไว้ว่า –

โย  โว  อานนฺท  มยา  ธมฺโม  จ  วินโย  จ  เทสิโต  ปญฺญตฺโต,  โส  โว  มมจฺจเยน  สตฺถา.

ดูก่อนอานนท์ ธรรมวินัยอันใดที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมวินัยอันนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว.

(มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค 

พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๔๑)

ตามพระพุทธดำรัสนี้ เป็นอันเข้าใจได้ว่า พระพุทธองค์ได้ประทานพระธรรมวินัยไว้เป็นเสมือนดวงตะวันส่องทางเกษมให้แก่ชาวโลกผู้ไม่พิการทางดวงจักษุ

ชาวพุทธที่มีสัมมาทิฐิได้น้อมรับพระธรรมวินัยเป็นข้อปฏิบัติสำหรับชีวิตสืบต่อกันมา

บัดนี้ มีจุดดับเกิดขึ้นแล้วในตะวันดวงนั้น

—————-

เมื่ออาทิตย์อัสดงไปแล้วในเวลาเย็น ก็หวังได้ว่าอาทิตย์ดวงนั้นจะอุทัยขึ้นใหม่ในเวลาเช้าวันพรุ่ง

และในวันต่อๆ ไป ตลอดกาลนาน

แต่บัดนี้ เมื่อมีจุดดับเกิดขึ้นในดวงตะวัน และความดำมืดนั้นกำลังแผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้

ใครจะบอกได้ว่า วันใดเล่าเมื่อตะวันดวงนี้อัสดงไปในเวลาเย็นแล้ว จะไม่มีวันอุทัยไขแสงส่องโลกนี้ให้สว่างในวันพรุ่งอีกต่อไป

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ ตุลาคม ๒๕๕๙

๑๔:๐๓

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *