วิพากษ์ ไม่ใช่ “วิพากย์” (บาลีวันละคำ 2,718)
วิพากษ์ ไม่ใช่ “วิพากย์”
ถ้าให้เขียนคำที่ออกเสียงว่า วิ-พาก-วิ-จาน คำว่า วิ-พาก มักจะมีผู้สะกดเป็น “วิพากย์” คือ -พาก ย ยักษ์ การันต์ ซึ่งเป็นการสะกดผิด
“วิพากย์” -พาก ย ยักษ์ การันต์ ไม่มีในภาษาไทย
คำที่ออกเสียงว่า วิ-พาก สะกดเป็น “วิพากษ์” คือ -พาก ษ ฤษี การันต์
“วิพากษ์” (-พาก ษ ฤษี การันต์) มาจากคำสันสกฤตว่า “วิวกฺษา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วิวกฺษา : (คำนาม) ‘วิวักษา,’ ความปรารถนา, ความใคร่; ความปรารถนาจะพูด; wish, desire; the wish to speak.”
“วิวกฺษา” เทียบบาลีเป็น “ววกฺขา” (วะ-วัก-ขา) คำกริยา (ปฐมบุรุษ เอกพจน์) เป็น “ววกฺขติ” (วะ-วัก-ขะ-ติ) แปลว่า ปรารถนาจะพูด, ปรารถนาจะเรียก (to wish to call)
“วิวกฺษา” ในสันสกฤต เราเอามาใช้เป็น “พิพากษา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิพากษา : (คำกริยา) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ตัดสินคดีโดยศาล, เรียกตุลาการผู้ทำหน้าที่ตัดสินดังกล่าวว่า ผู้พิพากษา, เรียกคำตัดสินนั้นว่า คำพิพากษา. (ส. วิวกฺษา ว่า ความสำคัญ).”
ในภาษาไทยมีคำที่มาจากรากเดียวกันกับ “วิวกฺษา” อีก 3 คำ (ตาม พจน.54) คือ –
(1) พิพากษ์ = ตัดสิน
(2) วิพากษ์ = พิจารณาตัดสิน
(3) วิพากษ์วิจารณ์ = วิจารณ์, ติชม
วิวกฺษา > วิพากษา > พิพากษา > วิพากษ์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิพากษ์ : (คำกริยา) พิจารณาตัดสิน. (ส. วิวกฺษา; เทียบ วิวาก ว่า ผู้พิพากษา).”
“วิพากษ์” (-พาก ษ ฤษี การันต์) ที่มักเขียนผิดเป็น “วิพากย์” (-พาก ย ยักษ์ การันต์) คงเนื่องมาจากเราคุ้นกับคำว่า “พากย์” ที่แปลว่า พูด พอได้ยินคำว่า วิ-พาก-วิ-จาน ซึ่งเล็งความหมายไว้แล้วว่าหมายถึง “แสดงความเห็นติชม” ซึ่งต้องใช้การ “พูด” เป็นหลัก ก็จึงสะกด วิ-พาก เป็น “วิพากย์” (-พาก ย ยักษ์ การันต์) ตามที่คุ้นตาคุ้นใจ ไม่ได้นึกถึงรูปคำ “วิพากษ์” (-พาก ษ ฤษี การันต์) เพราะไม่คุ้นตา
“วิพากย์” -พาก ย ยักษ์ การันต์ ไม่มีในภาษาไทย
มีแต่ “พากย์” ไม่มี วิ– นำ
“พากย์” บาลีเป็น “วากฺย” (มีจุดใต้ กฺ)
อ่านตามตาเห็นว่า วาก-กฺยะ
อ่านตามที่พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านในภาษาไทยว่า วาก-กะ-ยะ
อ่านตามเสียงบาลีว่า วาก-เกี๊ยะ
“วากฺย” รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ (ณฺย > ย), ทีฆะ อะ ที่ ว-(จฺ) เป็น อา แล้วแปลง จฺ เป็น กฺ (วจฺ > วาจฺ > วากฺ)
: วจฺ + ณฺย = วจณฺย > วจฺย> วาจฺย > วากฺย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อความอันเขากล่าว” หมายถึง การพูด, คำพูด, พากย์ (saying, speech, sentence)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วากย-, วากยะ : (คำนาม) คําพูด, คํากล่าว, ถ้อยคํา, ประโยค. (ป., ส.).”
“วากฺย” แผลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมของไทยเป็น “พากย” ออกเสียงว่า พาก จึงการันต์ที่ ย สะกดเป็น “พากย์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พากย์ : (คำกริยา) พูดแทนผู้แสดงหรือตามบทบาทของผู้แสดงโขน หนัง หรือภาพยนตร์ เป็นต้น เช่น พากย์โขน พากย์หนังตะลุง พากย์หนังใหญ่ พากย์ภาพยนตร์, บรรยายถ่ายทอดในการแข่งขันกีฬาหรือการแสดงบางอย่าง เช่น พากย์มวย พากย์ฟุตบอล, กล่าวเรื่องราวเป็นทำนองเมื่อเวลาแสดงโขนเล่นหนัง.น. คําพูด, ภาษา; คํากล่าวเรื่องราวเป็นทํานองเมื่อเวลาแสดงโขนหรือหนังใหญ่เป็นต้น, บทพากย์ ก็ว่า. (ป., ส. วากฺย).”
สรุปว่า
– “พากย์” มีใช้ในภาษาไทย
– “วิพากย์” ไม่มีใช้ในภาษาไทย
– ถ้าหมายถึง “แสดงความเห็นติชม” ต้องสะกดเป็น “วิพากษ์”
– ใช้ควบกับ “วิจารณ์” เป็น “วิพากษ์วิจารณ์” ก็ –วิพากษ์ คำเดียวกันนี้
“วิพากษ์” คำนี้ มีรากเดียวกับ “พิพากษ์” และ “พิพากษา” ที่เราเข้าใจความหมายกันเป็นอันดี คือ “ตัดสินคดีโดยศาล”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผู้ตัดสินยุติธรรมที่สุด
: คือ “กรรม” ที่มนุษย์เป็นผู้ทำ
#บาลีวันละคำ (2,718)
21-11-62