บาลีวันละคำ

จริต (บาลีวันละคำ 431)

จริต

บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ตะ ไทยอ่านว่า จะ-หฺริด

รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, เที่ยวไป) + (ปัจจัย) ลง อิ อาคม : จรฺ + อิ + = จริต

จริต” ถ้าใช้เป็นคำนาม แปลว่า ความประพฤติ, การเที่ยวไป, การกระทำ ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า มีความประพฤติ, มีนิสัย, มีกิริยา (เช่นนั้นเช่นนี้)

คำว่า “สุจริต” “ทุจริต” ที่เราพูดกัน ก็มาจาก “จริต” คำนี้

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

จริต : ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น พุทธจริต เสียจริต วิกลจริต, บางทีใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า

เสียจริต : เป็นบ้า, มีสติวิปลาส

วิกลจริต : มีความประพฤติหรือกิริยาผิดปรกติเพราะสติวิปลาส, เป็นบ้า

ดัดจริต : แสร้งทํากิริยาหรือวาจาให้เกินควร

ในทางธรรม “จริต” หมายถึงพื้นนิสัย หรือลักษณะทางอารมณ์ของคนที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นปกติ ท่านแบ่งจริตของคนเป็น 6 กลุ่ม คือ

1. ราคจริต หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจซาบซึ้งง่าย (คู่กับ 4)

2. โทสจริต หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด (คู่กับ 5)

3. โมหจริต หนักไปทางเหงาซึมงมงาย ลังเล (คู่กับ 6)

4. สัทธาจริต หนักไปทางเชื่อง่าย มักคล้อยตาม

5. พุทธิจริต หนักไปทางคิดพิจารณาหาเหตุผล เชื่อยาก

6. วิตกจริต หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน

ดัด” : ทําให้คดหรือตรงตามประสงค์

จริต” มีไว้สำหรับ “ดัด

เพราะฉะนั้น จง “ดัด” จริต แต่อย่า “ดัดจริต

————————-

(เนื่องมาจากคำถามของ Chakkris Uthayophas)

บาลีวันละคำ (431)

20-7-56

จริต (บาลี-อังกฤษ)

๑. (คุณ) ไป, เคลื่อนที่, เที่ยวไป, จริต, ประพฤติ going, moving, being like, behaving

๒. (นปุง.) การกระทำ, ความประพฤติ, การอยู่ action, behaviour, living

จริต ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ประพฤติ, นิสัย, กิริยา

จริต นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี) (ประมวลศัพท์)

จริต, ความประพฤติ, พื้นนิสัย หรือพื้นเพแห่งจิตของคนทั้งหลายที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง แตกต่างกันไปคือ ๑. ราคจริต ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจ) ๒. โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด) ๓. โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางเหงาซึมงมงาย)๔. สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางน้อมใจเชื่อ) ๕. พุทธิจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดพิจารณา) ๖. วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน)

ราคจริต

พื้นนิสัยที่หนักในราคะ เช่น รักสวย รักงาม แก้ด้วยเจริญกายคตาสติ หรืออสุภกัมมัฏฐาน (ข้อ ๑ ในจริต ๖)

โทสจริต

คนมีพื้นนิสัยหนักในโทสะ หงุดหงิด โกรธง่าย แก้ด้วยเจริญเมตตา (ข้อ ๒ ในจริต ๖)

โมหจริต

พื้นนิสัยที่หนักในโมหะ โง่เขลางมงาย พึงแก้ด้วยให้มีการเรียน การถาม การฟังธรรม สนทนาธรรมตามกาล หรืออยู่กับครู (ข้อ ๓ ในจริต ๖)

สัทธาจริต

พื้นนิสัยหนักในศรัทธา เชื่อง่าย พึงแก้ด้วยปสาทนียกถา คือ ถ้อยคำที่นำให้เกิดความเลื่อมใสในทางที่ถูก ที่ควร และด้วยความเชื่อที่มีเหตุผล (ข้อ ๔ ในจริต ๖) พุทธิจริต

พื้นนิสัยที่หนักในความรู้ มักใช้ความคิด พึงส่งเสริมด้วยแนะนำให้ใช้ความคิดในทางที่ชอบ (ข้อ ๕ ในจริต ๖)

วิตกจริต

พื้นนิสัยหนักในทางตรึก, มีวิตกเป็นปรกติ, มีปรกตินึกพล่านหรือคิดจับจดฟุ้งซ่าน, ผู้มีจริตชนิดนี้พึงแก้ด้วย เพ่งกสิณ หรือเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน (ข้อ ๖ ในจริต ๖)

จริต

  [จะหฺริด] น. ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น พุทธจริต เสียจริต วิกลจริต, บางทีใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า. (ป.).

เสียจริต

  ว. เป็นบ้า, มีสติวิปลาส, วิกลจริต.

วิกลจริต

  [วิกนจะหฺริด] ว. มีความประพฤติหรือกิริยาผิดปรกติเพราะสติวิปลาส เช่น เขาเป็นคนวิกลจริต ร้องไห้บ้างหัวเราะบ้างโดยไม่มีสาเหตุ, เป็นบ้า.

สติวิปลาส

  [-วิปะลาด] ว. มีสติฟั่นเฟือนคล้ายคนบ้า, สัญญาวิปลาส ก็ว่า.

ดัดจริต

  [-จะหฺริด] ก. แสร้งทํากิริยาหรือวาจาให้เกินควร.

ดัด ๑

  ก. ทําให้คดหรือตรงตามประสงค์ เช่น ดัดไม้ ดัดนิสัย; ทําให้เที่ยงตรง เช่น พระดัดคดีดล โดยเยี่ยง ยุกดิ์นา. (ตะเลงพ่าย); ปลุก เช่น เคยดัดฤดีตาตื่นตรับ. (ม. คําหลวง ทานกัณฑ์).ว. ที่ทําให้คดหรือตรงตามประสงค์ เช่น ไม้ดัด ตะโกดัด.

Chakkris Uthayophas ผมขอความกรุณาถึงคำว่าจริตครับ เพราะนึกถึงคำและส่วนของประโยคว่า เสียจริต และตามจริตของ… น่าจะหมายถึงส่ิงควรพระพฤติเหมือนกัน คำว่าจริตนี้มาจากจริยะหรืงไม่ครับ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย