บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

“ห้ามฉันข้าวเย็น”

ห้ามฉันข้าวเย็น

——————–

ล้อเล่นกับภาษาไทย

แต่อย่าเอาพระธรรมวินัยมาล้อเล่น

ห้ามฉันข้าวเย็น” เป็นคำที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นศีลข้อหนึ่งของพระภิกษุสามเณร 

คนบางจำพวกเอาคำว่า “ห้ามฉันข้าวเย็น” ไปพูดล้อเล่น เช่นว่า —

ห้ามฉันข้าวเย็น ฉันข้าวร้อนไม่ห้าม

นี่คือจับเอาคำว่า “ข้าวเย็น” ไปคู่กับ “ข้าวร้อน” เพื่อให้เห็นว่าเป็นคนละอย่างกัน

ไม่ได้ฉันข้าว แต่ฉันมาม่า

นี่คือจับเอาคำว่า “ข้าว” ไปเทียบกับ “มาม่า” คือจะบอกว่า “มาม่า” ไม่ใช่ “ข้าว” เพราะฉะนั้นฉันมาม่าได้ 

ผมไม่ได้ฉัน แต่ผมกิน

นี่คือจับเอาคำว่า “กิน” มาเทียบกับ “ฉัน” เพื่อจะบอกว่าเป็นคนละอย่างกัน 

ทั้งหมดนี้เรารู้กันว่าเป็นการพูดล้อเลียน พูดเล่นสนุก จะว่า “เลี่ยงบาลี” ก็พอได้ แต่จะอย่างไรก็มองได้ว่าผู้พูดพอจะมีความรู้ทางภาษาอยู่บ้างในระดับที่เอามาพูดเล่นสนุกได้

เรื่องที่ฟังดูไร้สาระนี้ เราอาจช่วยกันทำให้มีสาระขึ้นมาได้ ด้วยการศึกษาให้รู้ว่า คำว่า “ห้ามฉันข้าวเย็น” นี้ ตัวบทในพระวินัยท่านว่าไว้อย่างไร 

คัมภีร์มหาวิภังค์ ภาค ๒ แห่งวินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๕๐๘ มีพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติแสดงไว้ดังนี้ – 

โย  ปน  ภิกฺขุ  วิกาเล  ขาทนียํ  วา  โภชนียํ  วา  ขาเทยฺย  วา  ภุญฺเชยฺย  วา  ปาจิตฺติยนฺติ

แปลยกศัพท์ว่า – 

โย ปน ภิกฺขุ = อนึ่ง ภิกษุรูปใด 

ขาเทยฺย วา = ขบเคี้ยวก็ตาม

ภุญฺเชยฺย วา = ฉัน (กิน) ก็ตาม

ขาทนียํ วา = ซึ่งของควรขบเคี้ยวก็ดี 

โภชนียํ วา = ซึ่งของกินก็ดี

วิกาเล = ในเวลาวิกาล

ปาจิตฺติยํ = อาบัติปาจิตตีย์มีแก่ภิกษุรูปนั้น 

หนังสือ “นวโกวาท” ส่วนที่เป็นวินัยบัญญัติ (โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๗) แปลความข้อนี้เป็นไทยว่า – 

ภิกษุฉันของเคี้ยวของฉันที่เป็นอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงวันใหม่ ต้องปาจิตตีย์

คำบางคำที่ควรรู้ :

(๑) วิกาเล = ตามศัพท์หมายถึง “ผิดเวลา” คือมิใช่เวลาที่เหมาะ, ซึ่งโดยปกติหมายถึงตอนบ่ายหรือตอนเย็น (“wrong time,” i. e. not the proper time, which usually means afternoon or evening) 

ตามคำจำกัดความในตัวบทบอกไว้ชัดเจนว่า ในสิกขาบทนี้ “วิกาล” หมายถึง “มชฺฌนฺติเก วีติวตฺเต ยาว อรุณุคฺคมนา” แปลว่า “ตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงรุ่งอรุณ” 

(๒) ขาทนียํ = ของควรเคี้ยวหรือควรขบ (hard or solid food)

(๓) โภชนียํ = สิ่งที่กินได้, อาหารที่บริโภคได้ (what may be eaten, eatable, food)

(๔) ขาเทยฺย = เคี้ยว, กัด (to chew, bite) 

(๕) ภุญฺเชยฺย = กิน (to eat) 

คำว่า “ห้ามฉันข้าวเย็น” มีคำบาลีที่มีความหมายตรงกันอีกคำหนึ่งคือ “วิกาลโภชน” (วิ-กา-ละ-โพ-ชะ-นะ) แปลตามตัวว่า “กินในเวลาวิกาล” หมายถึง พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และผู้ถือศีลอุโบสถ จะไม่ฉัน/กินอาหารในเวลาวิกาล คือหลังเที่ยงวันไปแล้ว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิกาลโภชน” ว่า taking a meal at the wrong time, i, e. in the afternoon (กินอาหารผิดเวลา คือกินหลังเที่ยงวัน) 

ประมวลความทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่า คำที่พูดสั้นๆ ว่า “ห้ามฉันข้าวเย็น” นั้น หลักฐานตามต้นฉบับในคัมภีร์มีความหมายรัดกุมชัดเจน ไม่มีช่องโหว่ช่องว่างที่จะเอามาตีความเล่นสำนวนโวหารเลี่ยงบาลีไปเป็นอื่นได้เลย 

…………..

ภาพประกอบที่มีข้อความว่า “รับแก้ผ้า ตัดแขน + ตัดขา” และมีข้อความแสดงความเห็นด้านบนว่า “นอกจากจะวิตถารแล้ว ยังอำมหิตโหดเหี้ยม” เป็นภาพที่ไม่เกี่ยวกับคำว่า “ห้ามฉันข้าวเย็น” แต่เห็นว่าอยู่ในจำพวกเดียวกัน คือพวกที่เข้าใจภาษาไทยดีว่าอะไรเป็นอะไร แต่พอใจที่จะหยิบขึ้นมาล้อเล่น

รับแก้ผ้า” หมายถึง รับเปลี่ยนทรงเสื้อผ้า เช่นหลวมแก้ให้คับ คับปรับแก้ให้หลวม เราพูดกันสั้นๆ ว่า “แก้” เช่น กางเกงตัวนี้หลวมไปหน่อย ต้องเอาไปแก้ 

ตัดแขน + ตัดขา” ก็หมายถึง เสื้อแขนยาว ตัดแขนเสื้อออกให้เป็นเสื้อแขนสั้น กางเกงขายาว ตัดขากางเกงออกให้สั้นขึ้น

คำพวกนี้ ใครอ่านก็เข้าใจดี แต่คนที่ชอบสนุกกับภาษายกเอาทำให้เห็นเป็นเรื่องสนุก 

รับแก้ผ้า” เอามาตีความว่า ถอดเสื้อผ้าออกจากร่างกาย 

ตัดแขน + ตัดขา” เอามาตีความว่า ตัดแขนคน ตัดขาคน

ผู้ที่เอาคำว่า “ห้ามฉันข้าวเย็น” มาพูดล้อดังบรรยายไว้ข้างต้นก็เป็นประเภทเดียวกัน คือเห็นแต่ความสนุก แต่ไม่เห็นโทษ

การเอาเรื่องทางศาสนามาพูดเล่นนี้บางศาสนาลงโทษกันถึงตาย แต่พระพุทธศาสนาของเรานี้ดี ไม่เอาโทษใคร เป็นเหตุให้มีผู้เอาเรื่องต่างๆ ไปทำเป็นเรื่องล้อเล่นได้ตามสบาย โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการทำสิ่งที่เป็นอัปมงคลแก่ตัวเองโดยไม่รู้ตัว

บางเรื่องบางกรณี ใครเอาเรื่องทางศาสนาไปทำให้แปลกแหวกแนวออกไป กลับได้รับการยกย่องสนับสนุนโดยสมาชิกของศาสนานั้นเองด้วยซ้ำไป

ผมจึงเขียนคำโปรยไว้ข้างต้นว่า 

ล้อเล่นกับภาษาไทย

แต่อย่าเอาพระธรรมวินัยมาล้อเล่น

…………..

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

๑๒:๓๖

————–

ห้ามฉันข้าวเย็น” บาลีวันละคำ (2,546) 2-6-62 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *