บาลีวันละคำ

สูกรมัททวะ (บาลีวันละคำ 2,793)

สูกรมัททวะ

คืออะไร?

อ่านว่า สู-กะ-ระ-มัด-ทะ-วะ

ประกอบด้วยคำว่า สูกร + มัททวะ

(๑) “สูกร

บาลีอ่านว่า สู-กะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + (อะ) ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ สุ เป็น อู (สุ > สู)

: สุ + กรฺ = สุกรฺ + = สุกร > สูกร แปลตามศัพท์ว่า (1) “สัตว์ที่ทำผลให้อย่างงดงาม” (2) “สัตว์ที่ทำความสุขให้

(2) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + กร (มือ), ทีฆะ อุ ที่ สุ เป็น อู (สุ > สู)

: สุ + กร = สุกร > สูกร แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีมือ (คือเท้า) งาม

สูกร” (ปุงลิงค์) หมายถึง หมูตอน, หมู (a hog, pig)

สูกร” ในภาษาไทยใช้เป็น “สุกร” (สุ-กอน)

โปรดสังเกต บาลีเป็น สู– สระ อู ไทยเป็น สุ– สระ อุ แต่ในบาลีพบที่ใช้เป็น “สุกร” ก็มีบ้าง

(๒) “มัททวะ

เขียนแบบบาลีเป็น “มทฺทว” (มัด-ทะ-วะ) รากศัพท์มาจาก มุทุ + ณฺย ปัจจัย

(ก) “มุทุ” รากศัพท์มาจาก มุทฺ (ธาตุ = ยินดี) + อุ ปัจจัย

: มุทฺ + อุ = มุทุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยินดี” “สิ่งอันคนยินดี

มุทุ” หมายถึง นุ่ม, ไม่แข็ง, อ่อน, อ่อนโยน (soft, mild, weak, tender)

บาลี “มุทุ” สันสกฤตเป็น “มฤทุ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

มฤทุ : (คำคุณศัพท์) อ่อน, นุ่ม; เย็น; สถูล; ขี้เท่อ; โกมล; กัลยาณ; soft; cool; blunt; gentle, mild.”

(ข) มุทุ + ณฺย ปัจจัย, แปลง มุ-(ทุ) เป็น มทฺ (มุทุ > มทฺทุ), แผลง อุ ที่ (มุ)-ทุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (มุทุ > มทฺทุ > มทฺโท > มทฺทว), ลบ ณฺย

: มุทุ + ณฺย = มุทุณฺย > มุทุ > มทฺทุ > มทฺโท > มทฺทว (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งผู้ที่ยินดี” “ความเป็นผู้อันคนยินดี” หมายถึง ความอ่อน, ความนุ่ม, ความสุภาพ (mildness, softness, gentleness)

มทฺทว” ในที่นี้เขียนตามบาลีเป็น “มัททวะ” อ่านว่า มัด-ทะ-วะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “มัททวะ” ไว้ว่า –

มัททวะ : ความอ่อนโยน, ความนุ่มนวล, ความละมุนละไม (ข้อ ๕ ในราชธรรม ๑๐).”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มัททวะ : คำนาม) ความอ่อนโยน, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม. (ดู ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม).”

ในที่นี้ “มัททวะ” ใช้เป็นคุณศัพท์ และไม่ได้เกี่ยวกับธรรมข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมแต่ประการใด

สูกร + มทฺทว = สูกรมทฺทว > สูกรมัททวะ แปลตามศัพท์ว่า “สุกรอันอ่อนนุ่ม

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “สูกรมัททวะ” ไว้ดังนี้ –

…………..

สูกรมัททวะ : ชื่ออาหารซึ่งนายจุนทะ กัมมารบุตร แห่งเมืองปาวา ถวายแด่พระพุทธเจ้า ในวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นบิณฑบาตมื้อสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าเสวยก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นบิณฑบาตที่มีผลเสมอกับบิณฑบาตที่พระองค์เสวยแล้วได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ และบิณฑบาต ๒ ครั้งนี้มีผลมีอานิสงส์มากยิ่งกว่าบิณฑบาตครั้งอื่นใดทั้งสิ้น (ที.ม.๑๐/๑๒๖/๑๕๘; บิณฑบาตที่เสวยในวันตรัสรู้ คือข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวาย), หลังจากเสวยสูกรมัททวะแล้ว พระพุทธเจ้าก็ประชวรหนัก และเมื่อเสด็จถึงเมืองกุสินาราแล้ว ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในราตรีนั้น

“สูกรมัททวะ” นี้ มักแปลกันว่าเนื้อสุกรอ่อน แต่อรรถกถาแปลต่างเป็นหลายนัย อรรถกถาแห่งหนึ่งให้ความหมายไว้ถึง ๔ อย่าง (อุ.อ.๔๒๗) ว่า ๑. มหาอัฏฐกถาซึ่งเป็นอรรถกถาโบราณบอกไว้ว่าเป็นเนื้อหมู ที่นุ่มรสสนิท ๒. อาจารย์บางพวกว่าเป็นหน่อไม้ ที่หมูชอบไปดุดย่ำ ๓. อาจารย์อีกพวกหนึ่งว่าเป็นเห็ด ซึ่งเกิดในบริเวณที่หมูดุดย่ำ และ ๔. ยังมีอาจารย์พวกอื่นอีกว่าเป็นยาอายุวัฒนะขนานหนึ่ง ส่วนอรรถกถาอีกแห่งหนึ่ง (ที.อ.๒/๑๗๒) บอกความหมายไว้ ๓ นัยว่า เป็นเนื้อหมูตัวเอกที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป บ้างว่าเป็นข้าวที่นุ่มนวลกลมกล่อม ซึ่งมีวิธีปรุงโดยใช้เบญจโครส (ผลผลิตจากน้ำนมโค ๕ อย่าง คือ นมสด นมเปรี้ยว เปรียง เนยใส เนยข้น) บ้างว่าเป็นยาอายุวัฒนะ.

…………..

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ กล่าวถึงคำว่า “สูกรมัททวะ” ไว้ว่า –

…………..

Sūkaramaddava is with Franke (Dīgha trsln 222 sq.) to be interpreted as “soft (tender) boar’s flesh.” So also Oldenberg (Reden des B. 1922, 100) & Fleet (J.R.A.S. 1906, 656 & 881). Scarcely with Rh. D. (Dial. ii.137, with note) as “quantity of truffles”

Franke (ทีฆนิกายแปล 222) แปลความหมายเป็น “เนื้อสุกรอ่อน (นุ่ม)”. Oldenberg (Reden des B.1922, 100) และ Fleet (J.R.A.S. 1906,656 และ 881) ก็เช่นเดียวกัน. ไม่ตรงกับ Rh. D. (Dial. 2/137, กับหมายเหตุ) เป็น “เห็ดดำ”

…………..

เป็นอันว่าฝรั่งก็มีความเห็นต่างกัน ข้างหนึ่งว่า “เนื้อสุกรอ่อน” อีกข้างหนึ่งว่า “เห็ดดำ”

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่ง ชื่อ “ความจริงในมหาปรินิพพานสูตร (กรณีพระมโน)” พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2543 ได้กล่าวถึงสูกรมัททวะไว้ตอนหนึ่ง ขอยกมาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้

…………..

อรรถกถาอธิบายเรื่องสูกรมัททวะ ว่าคืออะไรไว้ดังนี้

๑. เนื้อสุกร (อรรถกถาทีฆนิกาย และอรรถกถาอุทาน) อรรถกถาทีฆนิกายระบุคุณสมบัติไว้ด้วยว่า เป็นสุกร เอกเชฏฐกะ (ศัพท์นี้แปลตามตัวว่า ตัวพี่ตัวเดียว ผมขอสันนิษฐานเอาเอง ตามรูปศัพท์น่าจะหมายถึง สุกรที่เป็นลูกโทน -ผิดถูกไม่รับรอง) อายุไม่อ่อนนัก และไม่แก่นัก ตามคำอธิบายของอรรถกถาทั้งสองเล่ม ท่านว่า เนื้อสุกรชนิดนี้นุ่มสนิท และทำให้สุกแล้ว

๒. หน่อไม้ไผ่ (อรรถกถาอุทาน) เจ้าของความเห็นนี้ชี้แจงด้วยว่า สูกรมัททวะไม่ใช่เนื้อสุกร แต่เป็นหน่อไม้ไผ่ที่สุกรเหยียบย่ำ (คำว่า เหยียบย่ำ ภาษาบาลีว่า มทฺทิต จะหมายถึงเอาเท้าเหยียบย่ำเฉยๆ หรือรวมไปถึงเอาจมูกดุดด้วยก็ไม่ทราบ และการที่ทำเช่นนั้นหมายถึงสุกรหากินหน่อไม้ หรือเอาหน่อไม้มาให้สุกรเหยียบ ก็ไม่แน่ใจด้วย)

๓. เห็ด (อรรถกถาอุทาน) มีคำขยายความว่า เห็ดชนิดนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งสุกรเหยียบย่ำ (ใช้คำว่า มทฺทิต เช่นเดียวกัน แต่ไม่มีคำอธิบายว่า หมายถึงสุกรไปหากินสิ่งอื่นในพื้นที่นั้น หรือว่าไปหากินเห็ดชนิดนั้น)

๔. ข้าวสุกปรุงรส (อรรถกถาทีฆนิกาย) อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นข้าวสุกชนิดอ่อนนุ่ม ปรุงด้วยเบญจโครส (คือนมสด นมเปรี้ยว เนยใส เนยข้น และเปรียง) กับถั่วตามวิธีการ

๕. ผลิตภัณฑ์ทางเคมี (อรรถกถาทีฆนิกาย และอรรถกถาอุทาน) อรรถกถาทีฆนิกายใช้ศัพท์ว่า รสายนวิธี อรรถกถาอุทานใช้ศัพท์ว่า รสายตนะ ทั้งสองศัพท์มีความหมายอย่างเดียวกัน คือสิ่งที่ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมี แต่รับประทานได้ อาจจะในฐานะเป็นอาหารหรือเป็นยา อรรถกถาขยายความว่า รสายนวิธีเป็นวิทยาการชนิดหนึ่ง (ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปีกาฎีกา อธิบายคำว่า รส ในความหมายหนึ่ง ได้ความว่า เป็นวิธีที่ใช้ในกิจการเกี่ยวกับแร่ธาตุ เช่นผสมโลหะให้เป็นทอง) นายจุนทะเป็นช่างทอง ซึ่งน่าจะต้องรู้จักวิธีการทางเคมี จึงได้ผสมสิ่งที่เรียกว่า สูกรมัททวะ ขึ้นมา ด้วยเจตนาที่จะให้พระพุทธเจ้าเสวยแล้วดำรงพระชนม์อยู่ได้ยืนนาน

สิ่งที่เรียกว่า สูกรมัททวะ ทั้ง ๕ อย่างนี้ มีอธิบายไว้ใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ภาค ๒ หน้า ๑๗๒ และ ปรมัตถทีปนี อรรถกถาอุทาน หน้า ๔๒๗ ผู้ต้องการทราบรายละเอียดจากต้นฉบับ โปรดศึกษาดูได้ตามที่อ้าง

สูกรมัททวะ คืออะไร อรรถกถาท่านบอกไว้ตรงๆ อย่างนี้ตามความเห็นของผู้รู้ในยุคของท่าน ท่านไม่ได้ตั้งสมมุติฐาน หรือตีความว่ามันน่าจะเป็นอะไร แต่ท่านชี้ลงไปว่า ผู้รู้ในยุคนั้นระบุลงไปแล้วว่ามันคือสิ่งนี้ๆ ลักษณะอย่างนี้จึงไม่ใช่การตั้งสมมุติฐานหรือการตีความ ท่านเพียงแต่นำเอาสิ่งที่ถูกระบุแน่ชัดแล้วมาเสนอไว้ ส่วนที่ว่าสูกรมัททวะจะเป็นสิ่งไหนในจำนวน ๕ สิ่งเหล่านั้น หรือใครจะเชื่อว่ามันเป็นสิ่งไหน นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องสูกรมัททวะนี้ มักเอามาแสดงความเห็นกันเพียง ๒ อย่าง คือ เนื้อสุกร กับเห็ด และมักแสดงความเห็นโดยไม่อ้างที่มา คือไม่บอกว่าเป็นความเห็นที่อรรถกถาท่านเอามาเสนอไว้ แม้พระมโนเองก็แสดงความเห็นโดยไม่บอกที่มาเช่นกัน บางท่านกลับไปอ้างว่าเป็นความเห็นของฝรั่งเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งๆ ที่อรรถกถาท่านประมวลความเห็นต่างๆ ไว้ให้ดูกันตั้งพันปีกว่ามาแล้ว แต่แม้กระนั้น พระมโนก็ยังมองว่าเป็นสมมุติฐาน และเป็นการตีความ

ที่มา: ความจริงในมหาปรินิพพานสูตร (กรณีพระมโน) หน้า 132-133

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่ารอให้รู้ว่าสูกรมัททวะคืออะไรกันแน่เสียก่อนจึงค่อยปฏิบัติธรรม

: เพราะถึงตอนนั้นชีวิตอาจจะเลวระยำจนแก้ไขอะไรไม่ทัน

#บาลีวันละคำ (2,793)

4-2-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *