บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

หัวรถจักรใต้สะพานจุฬาลงกรณ์

หัวรถจักรใต้สะพานจุฬาลงกรณ์

———————————

แก้ไขข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อน

………..

เมื่อวานนี้ (๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐) ผมเขียนเรื่อง “หาวิธีไม่ให้เกิดสงคราม ง่ายกว่า ?” รายละเอียดอ่านได้จากลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

……………………………………………………….

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1390520631041670

……………………………………………………….

เรื่องข้างต้นนั้นมีข้อความตอนหนึ่งผิดพลาดคลาดเคลื่อน คือในย่อหน้าที่ว่า –

……….

สะพานรถไฟซึ่งอยู่ใกล้กับค่ายภาณุรังษีถูกทิ้งระเบิด มีหัวรถจักรตกจมน้ำอยู่ใต้สะพานหัวหนึ่ง ผมยังทันได้เห็น คนราชบุรีรุ่นนั้นต้องเคยได้เห็นกันทั้งนั้น ตอนนี้ถูกกู้ขึ้นมาแล้ว ไม่แน่ใจว่าเอาไปเก็บไว้ที่ไหน

……….

ตรงที่ว่า “ตอนนี้ถูกกู้ขึ้นมาแล้ว ไม่แน่ใจว่าเอาไปเก็บไว้ที่ไหน” ผิดพลาดคลาดเคลื่อนครับ

วันนี้ (๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐) ผมไปสนทนากับหลวงพ่อวัดมหาธาตุ นมัสการถามท่านว่า จนถึงวันนี้หัวรถจักรถูกกู้ขึ้นมาหรือยัง 

ท่านตอบทันทีว่า “ยัง” และยังปรารภต่อไปอีกว่า “ทหารน่าจะหาทางกู้ขึ้นมา”

เป็นอันว่า ข้อเท็จจริงคือ จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกินครึ่งศตวรรษแล้ว หัวรถจักรที่ตกสะพานตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังจมอยู่ใต้สะพาน 

เรื่องนี้ผมเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนด้วยเหตุดังต่อไปนี้ –

๑ นานมาแล้วเคยเห็นภาพและข่าวที่ทหารเอาเครื่องมือและกำลังพลมาทำการยกหัวรถจักร ผมเห็นภาพเพียงแค่นั้น ไม่ได้ติดตามตรวจสอบว่ายกขึ้นมาสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่เข้าใจเอาเองว่าน่าจะเอาขึ้นมาได้เรียบร้อยแล้ว

๒ ผมเคยเข้าไปที่ศาลหลักเมือง เดินผ่านถนนจากตัวศาลหลักเมืองไปทางแม่น้ำ ได้เห็นบริเวณแห่งหนึ่งถูกจัดไว้เป็น “พิพิธภัณฑ์ทหารช่าง” มีเครื่องมือจักรกลหนักตั้งแสดงไว้ จะเป็นเพราะตาฝาดหรือจินตนาการไปเองก็ไม่ทราบ ผมคิดไปว่า บริเวณนั้นเป็นที่เก็บหัวรถจักรที่กู้ขึ้นมาได้

๓ เป็นเวลาถึง ๕๐ กว่าปีแล้วที่ไม่เคยได้ยินใครพูดถึงหัวรถจักรใต้สะพานรถไฟอีกเลย ราวกับว่าไม่เคยมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่นั่น จึงเชื่อสนิทว่าเพราะกู้ขึ้นมาได้แล้ว และตรงใต้สะพานไม่มีอะไรเหลืออยู่อีกแล้ว จึงไม่มีใครพูดถึงอีก

เมื่อความจริงปรากฏว่า หัวรถจักรที่จมอยู่ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังคงจมอยู่ตรงนั้น แล้วผมคิดอย่างไร?

ผมคิดดังนี้ –

๑ น่าอัศจรรย์ยิ่งนักที่คนราชบุรีและคนที่ไหนๆ ก็ตาม ขับรถข้ามสะพาน นั่งรถข้ามสะพาน หรือเดินข้ามสะพานตรงนั้นกันทุกวันทุกคืน แต่ไม่มีใครรู้ว่า ใต้สะพานนั้นมีหัวรถจักรจมอยู่ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ และเดี๋ยวนี้ก็ยังนอนนิ่งอยู่ตรงนั้น

๒ จนถึงวันนี้ ผมเชื่อว่าเจ้าของบ้าน-คือคนราชบุรีที่อายุตั้งแต่ ๖๐ ปีลงมา-ไม่เคยเห็นและน่าจะไม่เคยรู้ด้วยซ้ำไปว่า ที่ใต้สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองมีหัวรถจักรหัวหนึ่งจมอยู่ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเนื่องมาจากสะพานถูกทิ้งระเบิด และเดี๋ยวนี้หัวรถจักรนั้นก็ยังนอนนิ่งอยู่ตรงนั้น

๓ หัวรถจักรหัวนั้นเป็นสมบัติทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งของคนราชบุรี-และถ้าจะว่าไปแล้วก็ของชาติบ้านเมือง-สมควรที่คนราชบุรีจะได้รับรู้และช่วยกันทำอะไรสักอย่างให้เป็นที่ปรากฏแก่ตาโลก

๔ ที่ผมคิดได้ในเวลานี้ก็คือ หน่วยงานของทางราชการหรือเอกชนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวควรเป็นเจ้าภาพเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้

๕ ที่ควรทำได้ก่อนทันที คือ จัดทำป้ายติดตั้งไว้ตรงบริเวณที่หัวรถจักรจมอยู่ ทำลูกศรชี้ลงไปตรงจุดนั้น และมีคำบรรยายความเป็นมาของเหตุการณ์ให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ตรงนั้น ป้ายที่ว่านี้มีฐานะเป็นป้ายประวัติศาสตร์

นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้คนสนใจว่ามีอะไรสำคัญอยู่ที่นี่ จากนั้นก็ใช้วิธีโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้เข้าใจแพร่หลายออกไป

๖ จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาดำเนินการในระยะยาวต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับหัวรถจักร เช่น อาจไม่ต้องกู้ขึ้นมา หากแต่ให้คงอยู่ตรงนั้นโดยใช้หลักวิชาปรับแต่งสถานที่ให้สามารถมองเห็นหัวรถจักรได้ หรือถึงขั้นสามารถให้คนลงไปเดินชมถึงหัวรถจักรได้เลยก็ยิ่งวิเศษ 

นี่เป็นแค่ความคิดฝัน จะทำได้หรือไม่ได้ก็ลองพิจารณากันดู แต่เป้าหมายก็คือ ต้องไม่ปล่อยให้หัวรถจักรประวัติศาสตร์จมอยู่ใต้น้ำ-เหมือนไม่มีอะไรอยู่ตรงนั้น-อีกต่อไป แต่ควรพัฒนาขึ้นมาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของราชบุรี

ข้อเสนอนี้จะมีใครรับเอาไปทำ หรือจะลอยหายไปกับสายลมก็ตาม ผมถือว่าได้ทำหน้าที่เป็นเบื้องต้น-ในฐานะคนราชบุรี-เรียบร้อยแล้ว

—————–

ขอบคุณญาติมิตรทั้งหลาย โดยเฉพาะท่านผู้ใช้นามว่า Nareerat Preecharpeechacupt ที่กรุณาเข้ามาแสดงความคิดเห็นและตั้งข้อสงสัยว่าหัวรถจักรน่าจะยังไม่ได้ถูกกู้ขึ้นมา เป็นเหตุให้ผมต้องไปตรวจสอบข้อมูลจากหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ราชบุรี ทำให้ได้รู้ความจริงว่าหัวรถจักรยังไม่ได้ถูกกู้ขึ้นมาจริงดังที่ตั้งข้อสงสัย และทำให้ได้เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาอีกตอนหนึ่ง จึงต้องขอขอบคุณเป็นพิเศษไว้ ณ ที่นี้

—————–

คนรุ่นใหม่มักจะถามว่า เสียเวลาไปกับอดีตได้ประโยชน์อะไร

เราจะช่วยกันตอบคำถามนี้ให้กระจ่างเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้

หรือจะรอให้เขาอยู่ไปจนถึงบั้นปลายชีวิตแล้วได้คำตอบด้วยตัวเขาเอง

อดีตที่มีคุณค่าคงละลายหายไปกับกาลเวลา-ถ้าเรามัวแต่รอ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐

๑๔:๑๗

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *