กปิ (บาลีวันละคำ 157)
กปิ
อ่านว่า กะ-ปิ (เสียงเดียวกับ “กะปิ ที่ใช้ปรุงเครื่องแกงหรือตำน้ำพริก)
“กปิ” แปลตามรากศัพท์ว่า “สัตว์ที่เคลื่อนไหวเรื่อย” คือ ลิง
“กปิ” ใช้ในภาษาไทย (โดยมากใช้ในกาพย์กลอน) ว่า “กระบี่” เช่น “ขุนกระบี่” คือ หนุมาน
“กระบี่” ในภาษาไทยนอกจากหมายถึง “ลิง” แล้วยังหมายถึง “ดาบ” (อาวุธชนิดหนึ่ง ใบแบนยาว ปลายแหลม มีคมข้างหนึ่งหรือทั้ง ๒ ข้าง ด้ามสั้น ที่ด้ามถืออาจมีโกร่งหรือไม่มีก็ได้ มีฝัก) อีกด้วย “กระบี่” ที่เป็นชื่อจังหวัดในภาคใต้ก็ว่าหมายถึง “ดาบ”
“กระบี่” ที่หมายถึงดาบ เป็นคำภาษาอะไร ควรแก่การสืบค้น ตัวอย่างเช่น –
คำนี้น่าจะมีที่มาจากเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นเรื่องการทำสงครามระหว่างยักษ์ฝ่ายหนึ่ง กับมนุษย์ที่มี “ลิง” เป็นกองทหารอีกฝ่ายหนึ่ง
“กระบี่”(ลิง) จึงเป็นสัญลักษณ์หรือมีนัยหมายถึงนักรบ/ทหาร
สิ่งที่คู่กับทหารคือ อาวุธ และอาวุธพื้นฐานประจำกายทหารก็คือ “ดาบ” นักรบ/ทหารจึงมีนัยหมายถึงดาบไปด้วย
ดังนั้น กระบี่คือลิง ลิงคือทหาร ทหารคือดาบ = กระบี่ = ดาบ
ภาษาบาลีคู่กับพระหรือวัด การดึงคำที่มีเค้าว่าจะเป็นภาษาบาลีได้ให้เห็นว่าเป็นภาษาบาลีดังที่ว่ามาข้างต้นนั้น นักภาษารุ่นเก่าพูดล้อว่า “ลากเข้าวัด” หรือ “จับบวช”
ท่านผู้ใดเห็นว่า “กระบี่ – ดาบ” ไม่ใช่มีมูลมาจากภาษาบาลี ก็แย้งค้านได้
จับบวชได้ ก็จับสึกได้
บาลีวันละคำ (157)
12-10-55
กปิ = กระบี่ แผลง ก เป็น กร แล้วประวิสรรชนีย์ เป็น กระ, ป ในบาลีมักลดรูปเป็น บ ในภาษาไทย เช่น ปุญฺญ = บุญ, ปาป = บาป ดังนั้น ปิ จึง = บิ = กระบิ, อิ เป็น อี = กระบี แล้วก็เป็น “กระบี่” ในที่สุด)
กปิ ลิง (ศัพท์วิเคราะห์)
กมฺปติ จลตีติ กปิ สัตว์ที่เคลื่อนไหวเรื่อย
กปิ ธาตุ ในความหมายว่าเคลื่อนไหว อ ปัจจัย
กปิ
การเรียกแต่เดิมเมื่อกล่าวถึงสีน้ำตาลอ่อน, เทียบ กปิล และ กโปต
กปิจิตฺต “มีจิตกลับกลอก” ไม่แน่นอน, โลเล
กปินิทฺทา “การหลับของลิง” การม่อยหลับ, การหลับๆ ตื่นๆ
(บาลี-อังกฤษ)
กปิ
[กะ-] (แบบ) น. ลิง เช่น ทรงพาหะองคต กปิยศโยธิน. (พากย์). (ป., ส.).
กระบี่ ๑
(กลอน) น. ลิง เช่น ขุนกระบี่มีกำลังโดดโลดโผน กระโจมโจนจับยักษ์หักแขนขา. (รามเกียรติ์ ร. ๒). (ป., ส. กปิ).
กระบี่ ๒
น. อาวุธชนิดหนึ่ง ใบแบนยาว ปลายแหลม มีคมข้างหนึ่งหรือทั้ง ๒ ข้าง ด้ามสั้น ที่ด้ามถืออาจมีโกร่งหรือไม่มีก็ได้ มีฝัก.