บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อ่านหัวใจ

อ่านหัวใจ

———-

กรณีนักร้องแต่งกายเลียนแบบพระตามที่เป็นข่าวทั่วไป และผมได้เขียนถึงเป็นบทความชื่อ “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” ตามลิงก์ข้างล่างนี้ 

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1719353274825069

ต่อมามีสื่อเสนอความคืบหน้า ตามลิงก์ข้างล่างนี้

http://www.amarintv.com/news-update/news-8604/187745/

——-

ผมขออนุญาตเก็บสาระจากสื่อดังกล่าวนั้นมาเสนอดังนี้ 

นักร้องคนนั้นชื่อนายอดิศร ดอนหลิมไพร อายุ ๓๐ ปี อยู่บ้านหนองสะเดา ต.บ้านนา อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร เป็นนักร้องนำวงดนตรีชื่อวง ทอมดี้ 

นายแดนชัย ดอนหลิมไพร อายุ ๕๒ ปี พ่อของนายอดิศรเป็นผู้จัดการวง

เหตุเกิดที่จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๑ โดยนายพวงทอง เกิดพันธ์ จัดงานบวชลูกชาย ได้ว่าจ้างวงดนตรีวงนี้มาแสดงเป็นราคา ๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมโต๊ะจีน ๑๕๐ โต๊ะ รวมทั้งเวทีและเครื่องไฟ 

ในข่าวไม่ได้ระบุว่าจัดงานที่บ้านหรือที่วัดที่จะบวช วัดที่จะบวชชื่อวัดอะไรก็ไม่ได้บอก

นายพวงทอง เกิดพันธ์ เจ้าภาพงานบวชบอกว่า ตนต้อนรับแขกที่มาร่วมงานจำนวนมากจนรู้สึกเหนื่อย และกลับเข้าบ้านพักก่อนงานเลิก จึงไม่ทราบว่ามีการแสดงตามคลิปที่แชร์กัน มาได้ทราบตอนที่ได้เห็นคลิป ซึ่งตนเองก็เห็นว่าไม่เหมาะสม และจากการสอบถาม ทราบว่าการแสดงชุดดังกล่าวแสดงช่วงเวลากว่า ๒๓:๐๐ น. ซึ่งเหลือคนดูเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

นายอดิศร ดอนหลิมไพร (นักร้องคนนั้น) ยอมรับว่า ทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตนเองเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ และเคยบวชมาแล้ว ล่าสุดก็บวชถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงได้นำจีวรตอนที่บวชมาแต่งเพื่อให้ความสุขกับแฟนเพลง โดยไม่ทราบว่าจะมีผลกระทบแต่อย่างใด และต่อไปนี้ตนคงจะไม่ทำอีกแล้ว เพราะรู้สึกผิด และอยากขอโทษผู้เกี่ยวข้องที่ตนเองทำให้เกิดความเสื่อมเสีย

นายแดนชัย ดอนหลิมไพร (พ่อของนักร้องคนนั้นและเป็นผู้จัดการวง) บอกว่า ตนและครอบครัวรู้สึกไม่สบายใจ จึงขอกราบขอโทษสังคม การแสดงในคืนนั้นเป็นการแสดงออกถึงความบันเทิงด้านหน้าเวที ไม่ได้มีเจตนาที่จะหมิ่นพุทธศาสนาแต่อย่างใด ทางลูกชายก็ไม่สบายใจเป็นอย่างมาก มีอาการซึมเศร้าผิดไปจากเดิม ได้เขียนข้อความขอโทษสังคมในโซเชียลแล้วเช่นกัน การแสดงครั้งต่อไปตนจะระมัดระวังมากขึ้น

จบสาระสำคัญจากข่าวที่สื่อซึ่งระบุข้างต้นนำเสนอ

————–

อ่านแล้วคิดอย่างไร?

ผมอยากบอกว่า อ่านแล้ว อย่าอ่านแค่ตัวหนังสือ แต่จงอ่านเข้าไปถึงหัวใจของบุคคลเหล่านี้ด้วย

ขอให้สังเกตก่อนว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในงานบวชพระ

งานบวชพระ แต่เอาพระมาล้อเล่น คิดได้อย่างไร

นายพวงทอง เกิดพันธ์ เจ้าภาพงานบวชบอกว่า การแสดงชุดเต้นพระแสดงหลังห้าทุ่มไปแล้วซึ่งเหลือคนดูเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

เจตนาแห่งคำพูดนี้ก็เพื่อจะบรรเทาโทษว่า คนดูไม่กี่คน ถ้าเป็นเรื่องเสียหายก็มีคนเห็นไม่กี่คน เล็กน้อยเท่านั้นเอง 

มุมมองนี้ต้องเข้าใจให้ถูก มิเช่นนั้นจะหลงกล

อันว่าพฤติกรรมที่เสื่อมเสียนั้น อย่าว่าแต่มีคนดูเพียงเล็กน้อยเลย แม้แต่ไม่มีใครเห็นเลย มีแต่คนทำเห็นตัวเองทำอยู่คนเดียว มันก็คงเสื่อมเสียอยู่นั่นเอง 

อย่าเอาจำนวนคนเห็นมาเป็นประมาณ

กล่าวเฉพาะนายอดิศร ดอนหลิมไพร (นักร้องคนนั้น) บอกว่าตนนับถือศาสนาพุทธ และเคยบวชมาแล้ว ล่าสุดก็บวชถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ 

การยกเรื่องที่เคยบวชมาแล้วขึ้นมาอ้างก็คงเพื่อจะยืนยันว่า-ไม่ได้มีเจตนาจะดูหมิ่นพระเลย – ผมเองก็เคยบวชเป็นพระมาแล้ว ผมจะดูหมิ่นพระได้อย่างไร – ประมาณว่าต้องการจะให้เชื่อแบบนี้ 

ลองมาอ่านหัวใจของนายอดิศรดู

การแสดงชุดเต้นพระนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที-แบบว่าเกิดแวบขึ้นมาในขณะกำลังเปิดการแสดงอยู่ 

หากแต่ได้มีการวางแผนเตรียมการมาก่อน เช่นผ้าสบง ผ้าอังสะ วิก หรือชุดพระที่เอามาสวมใส่ ตลอดจนบาตรพลาสติก – เหล่านี้ เตรียมการจัดหามาล่วงหน้าทั้งสิ้น

ในขณะที่เตรียมการเหล่านี้ นายอดิศรคิดอย่างไร 

นายอดิศรซึ่งยืนยันว่าตนเคยบวชมาแล้ว-บวชถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วย นายอดิศรซึ่งเคยเป็นพระมาแล้วคิดอย่างไรจึงเอาพระมาล้อเล่นเป็นการบันเทิงในงานบวชพระ?

ในระหว่างเตรียมการอยู่นั้น นายอดิศรรู้หรือไม่ว่าตนกำลังทำอะไร และคาดการณ์ได้หรือไม่ว่าผลแห่งการกระทำนั้นจะเป็นอย่างไร 

มีผู้ตั้งคำถามว่า เมื่อจะเอาศาสนามาล้อเล่น ทำไมนายอดิศรจึงไม่แต่งตัวเป็นโต๊ะอิหม่ามหรือบาทหลวงอะไรสักคนหนึ่งขึ้นไปเต้นแกล้มเหล้าบนเวที 

ทุกคนจะตอบคำถามแทนนายอดิศรได้ทันทีว่า ทำแบบนั้นก็ฉิบหาย

แต่งเป็นบาทหลวง อาจฉิบหายไม่มาก แต่แต่งเป็นโต๊ะอิหม่ามนั้น นายอดิศรอาจไม่มีโอกาสลงมากล่าวคำขอโทษด้วยซ้ำไป 

ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต

“การณ์” เช่นนี้นายอดิศรย่อมรู้เท่าถึงอย่างแน่นอน นายอดิศรจึงไม่ทำ 

แต่แต่งเป็นพระ นายอดิศรแน่ใจได้เลยว่าปลอดภัย เพราะพระไม่ดุ ชาวพุทธไม่มีน้ำยา จับหัวพระเล่นได้สบาย

“การณ์” เช่นนี้นายอดิศรก็ย่อมรู้เท่าถึงอย่างแน่นอนด้วยเช่นกัน

แต่นายอดิศรบอกสังคม-บอกพวกเรา-ว่าเขารู้เท่าไม่ถึงการณ์!! 

ถ้าไม่อ่านให้ถึงหัวใจ คงมีคนหลงเชื่อเยอะทีเดียว

——————-

นายอดิศรบอกว่า เขาเคยบวชถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙

นายอดิศรเคยเห็นมาแล้วตั้งแต่เกิดใช่ไหมว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านยกพระหัตถ์ไหว้พระ เพราะท่านทรงเคารพพระสงฆ์ 

ในหลวงของประเทศไทยเคยบวชเป็นพระมาแล้วทุกพระองค์ นายอดิศรน่าจะทราบ 

ถามว่า ถ้ามีคนบอกให้นายอดิศรแต่งตัวเป็นในหลวงขึ้นไปเต้นบนเวที นายอดิศรจะกล้าทำไหม 

นายอดิศรย่อมรู้เท่าถึงการณ์อย่างแน่นอนว่า ทำเช่นนั้นก็หัวขาด 

แต่การเอาบุคคลที่ในหลวงก็ทรงเคารพไปล้อเล่นเป็นการบันเทิง นายอดิศรกลับบอกว่า ว่าเขารู้เท่าไม่ถึงการณ์!! 

——————-

อีกมุมหนึ่งของหัวใจที่ผมอยากชวนให้อ่านก็คือ นายอดิศรก็ตาม พ่อของนายอดิศรก็ตาม ออกมาขอโทษสังคมเพราะสำนึกผิดด้วยตัวเอง หรือเพราะถูกสังคมประณาม?

สมมุติว่า การแสดงนี้เกิดขึ้นในสังคมที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แสดงเสร็จ ผู้คนชื่นชมกันมาก 

นายอดิศรก็ตาม พ่อของนายอดิศรก็ตาม จะออกมาขอโทษหรือไม่? 

การณ์จะตรงกันข้าม คือนายอดิศรจะกลายเป็นฮีโร่ขึ้นมาทันทีในฐานะผู้นำการลบหลู่พระพุทธศาสนาได้อย่างถึงใจที่สุด การแสดงแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องและแพร่หลาย

แต่เพราะถูกผู้คนรุมกันตำหนิติเตียน นายอดิศรและพ่อของนายอดิศรจึงจำเป็นต้องออกมาขอโทษ

การออกมาขอโทษตามรูปการณ์นี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากใจจริงที่สำนึกผิดแต่ประการใด 

คำแก้ตัวว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” นั้น มองให้ถูกจะเห็นว่า แท้จริงเป็นคำรับรองว่าคนพวกนี้หาได้มีความสำนึกถึงผิดชอบชั่วดีแต่ประการใดไม่ 

รู้เท่าถึงการณ์แท้ๆ แต่มาโกหกสังคมว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์

คนที่เคยบวชเป็นพระมาแล้ว ซ้ำบวชถวายพระเจ้าแผ่นดินอีกด้วย อย่าว่าถึงขั้นลงมีอกระทำแบบนี้เลย แม้เพียงความคิดจะทำก็ไม่ควรมี 

ไม่ต้องกล่าวไปถึงขั้น-ต้องรอให้สังคมตำหนิเสียก่อนจึงรู้สึกตัว 

ถ้าการกระทำนั้นเป็นความไม่ถูกต้อง ผู้มีสำนึกที่ดีย่อมรู้เองตั้งแต่ต้นว่าไม่ควรทำ สังคมจะชมหรือจะตำหนิก็ไม่ต้องเอามาถือเป็นประมาณเลย 

——————-

นายอดิศรบอกว่า ต่อไปนี้ตนคงจะไม่ทำอีกแล้ว

พ่อของนายอดิศรบอกว่า การแสดงครั้งต่อไปตนจะระมัดระวังมากขึ้น

ใครเชื่อบ้างว่าจะเป็นเช่นนั้น?

ไม่ทำเพราะสำนึกได้ด้วยตัวเองตั้งแต่แรกว่าไม่ควรทำ

ไม่ใช่ไม่ทำเพราะถูกตำหนิ

ถ้าไม่มีใครตำหนิ ก็จะทำต่อไป-ใช่หรือไม่ 

——————-

มีผู้วิจารณ์ว่าเรื่องที่เกิดนี้เป็นแผนโปรโมทวงดนตรี

ทำให้มีคนรู้จักทั่วโลก

ค่าใช้จ่ายในการโปรโมทครั้งนี้ก็มีแค่ “ขอโทษ” คำเดียว!!

ก็เป็นมุมที่ทุกคนมีสิทธิ์มอง 

แต่ผมมองอีกมุมหนึ่ง-ถ้าต่อไปมีเจ้าภาพมาจ้างดนตรีวงนี้อีก แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีฉากเต้นพระแบบที่เคยแสดงด้วย ไม่มีไม่จ้าง 

อะไรจะเกิดขึ้นอีก? 

เมื่อดนตรีวงนี้ไปแสดงที่ไหนอีกก็ตาม ทั้งนักร้อง นักดนตรี ผู้จัดการวง จะระลึกได้หรือไม่ว่า ครั้งหนึ่งพวกตนได้เคยใช้เวทีแห่งนี้กระทำการอย่างไร้สติมาแล้ว 

——————-

จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทำผิดซ้ำซ้อน

ผิดแรก ตั้งใจลบหลู่พระสงฆ์ ลบหลู่พระพุทธศาสนา

ผิดซ้ำ ออกมาโกหกสังคมว่าทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ทั้งหมดที่เขียนมานี้อาจมีญาติมิตรกำลังคิดว่าผมเล่นไม่เลิก กัดไม่ปล่อย ไม่ยอมจบ เจ้าคิดเจ้าแค้น ฯลฯ 

ผมไม่บอกตั้งแต่ต้น แต่จะขอบอกตอนนี้ว่า เจตนาของผมก็คือขอให้ช่วยกันรู้ทัน 

อย่าให้คนประเภทนี้เย้ยหยันลับหลังว่าพวกเราโง่ แค่คำพูดไม่กี่คำก็หลอกได้ 

ไม่มีใครยืนยันได้ว่า เวลาที่เขาคุยกันในหมู่พวกของเขา เขาพูดกันแต่เรื่องสำนึกผิด หรือกำลังหัวเราะกันอย่างสนุกสนานที่ได้ทำแบบนี้ 

ขอให้ระลึกไว้ว่า ความสำนึกผิดที่มั่นคงยั่งยืนต้องมาจากภายในของพวกเขาเอง ไม่ใช่มาจากแรงกดดันของกระแสสังคม-แบบนี้ 

ความปรารถนาของผมอยู่ที่ตรงนี้

ความสำนึกผิดที่มาจากภายในของพวกเขาเอง จะทำให้พวกเขาปลอดภัยแน่นอน 

ไม่ว่าใครจะชังใครจะชอบหรือไม่อย่างไร ถ้าเป็นความไม่ดีไม่งามเขาก็จะไม่ทำด้วยตัวเขาเอง 

เราควรช่วยกันให้บทเรียนแก่พวกเขาเพื่อหวังผลเช่นนี้

ในฐานะเพื่อนมนุษย์ จงอย่าได้รังเกียจเดียดฉัน 

อย่าโกรธแค้นชิงชัง 

อย่าอาฆาตพยาบาท 

อย่าแม้แต่-บริภาษด่าว่าให้เสียหาย 

พบปะเจอะเจอคนเหล่านี้ที่ไหนจงมองกันด้วยสายตาที่เป็นมิตร 

รักได้ จงรัก 

รักไม่ได้ จงเป็นวางอารมณ์กลาง

แต่อย่าเกลียดชัง 

จงรังเกียจการกระทำของเขา 

แต่อย่ารังเกียจตัวเขา 

แยกการกระทำกับตัวบุคคลออกจากกัน

การกระทำแบบนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ทำ ก็ควรแก่การรังเกียจทั้งนั้น และต้องช่วยกันรังเกียจด้วย

แต่บุคคลผู้ทำนั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็คือเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของพวกเรา 

เขามีสุข ชื่นชมยินดีอนุโมทนากับเขา

เขามีทุกข์ เห็นใจเขา 

มาอยู่ตรงหน้าเรา ช่วยได้ต้องช่วย 

อย่าคิดเป็นอันขาดว่า-ไอ้นี่มันลบหลู่พระศาสนา ปล่อยให้มันตายอยู่ตรงนั้นแหละ สมน้ำหน้ามัน

คิดแบบนั้น เราบกพร่องทันที 

อ่านหัวใจเขาให้ออก

บอกให้เขารู้ว่าเรารู้ทัน

ช่วยกันรังเกียจการกระทำ

ให้อภัย แต่จำชื่อพวกเขาไว้

จนกว่าเขาจะรู้สึกละอายแก่ใจด้วยตัวของเขาเอง

—————-

ผมชอบข้อเสนอแนะของพระคุณท่านรูปหนึ่ง-ตามข้อความในภาพประกอบ 

เป็นข้อเสนอแนะอย่างบัณฑิต

ไม่ใช่เพื่อความสะใจหรือเพื่อประโยชน์อื่นใดของตัวผู้เสนอ

แต่เพื่อความบริสุทธิ์ของตัวผู้กระทำความผิดพลาดนั้นเอง

ถ้าเขายินดีทำตามคำแนะนำ เราก็ควรนับถือได้ว่าเขาเป็นคนดีคนหนึ่ง

แต่ถ้าเขาบอกว่าไม่เห็นจำเป็นจะต้องทำ

เราก็จะได้ช่วยกันจำว่า-นี่คือคนระยำโดยสันดาน 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ เมษายน ๒๕๖๑

๑๑:๑๕

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *