สาราณียกร (บาลีวันละคำ 2,145)
สาราณียกร
อ่านว่า สา-รา-นี-ยะ-กอน
ประกอบด้วยคำว่า สาราณีย + กร
(๑) “สาราณีย”
อ่านว่า สา-รา-นี-ยะ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = ระลึก, คิดถึง) + อนีย ปัจจัย, แปลง น (น หนู) ที่ อนีย เป็น ณ (ณ เณร) (อนีย > อณีย), ทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ ส-(รฺ) เป็น อา (สรฺ > สาร)
: สรฺ + อนีย = สรานีย > สราณีย > สาราณีย แปลตามศัพท์ว่า “-อันเขาพึงระลึก” หรือ “-อันเป็นที่ตั้งแต่งการระลึกถึง”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาราณีย” ว่า courteous, polite, friendly [making happy, pleasing, gladdening?] (มีอัธยาศัย, สุภาพ, เป็นกันเอง [ทำให้มีความสุข, ทำให้ดีใจ, ทำให้ถูกใจ?])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาราณีย-, สาราณียะ : (คำวิเศษณ์) เป็นที่ตั้งแห่งความระลึก. (ป.; ส. สฺมรณีย).”
(๒) “กร”
บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ ปัจจัย
: กรฺ + อ = กร แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)
(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)
(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ว่า –
(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).
(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).
(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).
ในที่นี้ “กร” มีความหมายตามข้อ (1)
สาราณีย + กร = สาราณียกร (สา-รา-นี-ยะ-กะ-ระ) แปลว่า “ผู้ทำสิ่งอันควรระลึกถึง”
“สาราณียกร” เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาราณียกร : (คำนาม) ตําแหน่งเจ้าหน้าที่ของสมาคมหรือสถาบันการศึกษาเป็นต้น ทําหน้าที่อย่างบรรณาธิการ.”
เพิ่มเติม :
คำว่า “บรรณาธิการ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรรณาธิการ : (คำนาม) ผู้จัดเลือกเฟ้น รวบรวม ปรับปรุง และรับผิดชอบเรื่องลงพิมพ์.”
แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำนิยามมียาวกว่านี้ คือบอกไว้ว่า –
“บรรณาธิการ : (คำนาม) ผู้จัดเลือกเฟ้น รวบรวม ปรับปรุง และรับผิดชอบเรื่องลงพิมพ์; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทํา ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์.”
บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2550 อธิบายคำว่า บรรณาธิการ กับ สาราณียกร ไว้ดังนี้ –
…………..
คำว่า บรรณาธิการ เป็นคำนาม ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า editor หมายถึง บุคคลที่รับผิดชอบในการจัดพิมพ์หนังสือหรือเอกสารต่าง ๆ โดยทำหน้าที่คัดเลือกและตรวจแก้เรื่องที่ลงพิมพ์ เช่น บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งถูกนักการเมืองชื่อดังฟ้อง.
ส่วนคนที่ทำหน้าที่จัดทำหนังสือของสมาคมหรือสถาบันการศึกษา มักใช้ว่า “สาราณียกร” เช่น เธอเป็นสาราณียกรหนังสือรุ่น.
…………..
ความหมายในคัมภีร์ :
ความหมายหลักของคำว่า “สาราณียกร” อยู่ที่คำว่า “สาราณีย”
ในคัมภีร์ท่านจำกัดความหมายของ “สาราณีย” ไว้ว่า –
๑ อรหรูปโต เป็นเรื่องที่สมควร คือเป็นเรื่องที่ดีงาม ไม่ใช่เรื่องชั่วช้าเลวทราม
๒ สริตพฺพภาวโต เป็นเรื่องที่ควรระลึกถึง หรือต้องระลึกถึง
ขยายความว่า –
บางเรื่องเป็นเรื่องดีงาม แต่คนมักลืม ไม่ระลึกถึง ไม่ยกเอาขึ้นมาพูด อย่างนี้ไม่ควร
บางเรื่องไม่ใช่เรื่องดีงาม แต่คนก็ชอบคิดชอบยกขึ้นมาพูด อย่างนี้ก็ไม่ควร
สรุปว่า “สาราณีย” คือเรื่องที่ดีงามอันควรจะต้องระลึกถึง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนที่เสแสร้งแกล้งทำให้เรารัก
: เลวหนักกว่าคนที่จงใจทำให้เราชัง
—————–
(หยิบคำและภาพมาจากโพสต์ของ บัว พชรบงกช)
#บาลีวันละคำ (2,145)
27-4-61