ขันธสันดาน (บาลีวันละคำ 2,144)
ขันธสันดาน
คุ้นหน้ามานาน แต่ไม่รู้จัก
อ่านว่า ขัน-ทะ-สัน-ดาน
ประกอบด้วยคำว่า ขันธ + สันดาน
(๑) “ขันธ”
บาลีเป็น “ขนฺธ” (ขัน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ขํ (อวัยวะ; ความว่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ ขํ เป็น นฺ (ขํ > ขนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา ธาตุ (ธา > ธ)
: ขํ > ขนฺ + ธา = ขนฺธา > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ธำรงอวัยวะคืออินทรีย์ไว้” (2) “ส่วนที่ธำรงความว่างเปล่าไว้”
(2) ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + อ ปัจจัย, แปลง ขาทฺ เป็น ขนฺธ
: ขาทฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคี้ยวกินอวัยวะ”
(3) ขชฺชฺ (ธาตุ = กิน) + อ ปัจจัย, แปลง ขชฺชฺ เป็น ขนฺธ
: ขชฺชฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันทุกข์มีความเกิดความแก่เป็นต้นกิน”
(4) ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + ธ ปัจจัย
: ขนฺ + ธ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนอันเขาขุดขึ้นได้ด้วยญาณ” (คือต้องใช้ปัญญาจึงจะรู้จักตัวจริงของขันธ์) (2) “ส่วนอันทุกข์ขุดขึ้น” (คือถูกทุกข์กัดกินตลอดเวลา)
“ขนฺธ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ก้อนใหญ่, ความใหญ่โตมโหฬาร (bulk, massiveness [gross] substance)
(2) ลำตัว, คือหลังของช้าง (the bulk of the body, i. e. elephant’s back)
(3) ไหล่หรือหลัง (the shoulder or back)
(4) ลำต้น (the trunk)
(5) หมวด, บท, เนื้อเรื่องที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่ (section, chapter, material as collected into uniform bulk)
(6) ตัว, การรวมตัว, หรือส่วนต่าง ๆ ของ- (the body of, a collection of, mass, or parts of)
ในที่นี้ “ขนฺธ” ใช้ในความหมายตามข้อ (6)
(๒) “สันดาน”
บาลีเป็น “สนฺตาน” (สัน-ตา-นะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, ดี) + ตนฺ (ธาตุ = แผ่, ขยาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ (สํ > สนฺ) ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ต-(นฺ) เป็น อา (ตนฺ > ตาน)
: สํ > สนฺ + ตนฺ + สนฺตนฺ + ณ = สนฺตนณ > สนฺตน > สนฺตาน (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่แผ่ขยายเชื้อแถวไปด้วยดี” หมายถึง การแผ่, การแยกกิ่งก้านสาขา (spreading, ramification) การต่อเนื่อง, การสืบลำดับเชื้อสาย; เชื้อสาย (continuity, succession; lineage)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“สนฺตาน : (คำนาม) ‘สันดาน’ วงศ์, ชาติ, กุล; สันตติ; ไม้สวรรค์ต้นหนึ่ง; พิสดาร; lineage, race, family; progeny; one of the tree of heaven; expansion.”
“สนฺตาน – สันดาน” ตามความหมายเดิมหมายถึง การแผ่ขยายออกไป เช่น พ่อมีลูก ลูกมีหลาน หลานมีเหลน และสืบต่อกันไปเรื่อยๆ กล่าวคือเล็งถึงตัวบุคคลที่สืบเชื้อสายต่อๆ กันมา ต่อมาความหมายขยายไปถึงลักษณะนิสัยไม่ว่าจะด้านดีหรือเลวที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาและสั่งสมเป็นบุคลิกประจำตัว
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สันดาน ๑ : (คำนาม) อุปนิสัยที่มีมาแต่กําเนิด เช่น มีสันดานดี มีสันดานเลว, (ภาษาปาก) มักใช้ไปในทางไม่สู้จะดี เช่นสันดานของเขาเป็นเช่นนั้น อย่าไปถือเลย. (ป., ส. สนฺตาน ว่า สืบต่อ).”
ขนฺธ + สนฺตาน = ขนฺธสนฺตาน แปลตามศัพท์ว่า “การสืบต่อแห่งขันธ์” เรียกทับศัพท์ว่า ขันธสันดาน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ขนฺธสนฺตาน” ว่า duration of the khandhas (ระยะแห่งขันธ์) (khandhas ในที่นี้หมายถึง “ขันธ์” ตามความหมายที่กล่าวแล้วข้างต้น)
อภิปราย :
“ขนฺธสนฺตาน” แม้จะแปลออกมาแล้วก็ยังไม่ชัดเจนว่าคืออะไรกันแน่ และในภาษาไทยเมื่อพูดว่า “ขันธสันดาน” ดูเหมือนจะคุ้นกันดีอยู่ แต่ถ้าถามว่าหมายถึงอะไร ก็ไม่แน่นักว่าจะมีใครเข้าใจถูก
“ขันธสันดาน” มีความหมายที่ชัดเจนว่า คือ ชีวิตที่เคยเกิดมาแล้วในอดีตชาติ จากชาติหนึ่งสืบต่อตามเหตุปัจจัยไปยังอีกชาติหนึ่ง ตลอดระยะเวลาอันยาวนานจนกำหนดไม่ได้ว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อไร
คำว่า “ขันธสันดาน” มักใช้เมื่อกล่าวถึงผู้ที่บำเพ็ญเพียรจนบรรลุธรรมในระดับที่สามารถระลึกชาติได้ ก็จะระลึกว่าในอดีตชาติตนได้เคยเกิดเป็นใครหรือเป็นอะไรในภพภูมิไหน นิสัยใจคอเป็นอย่างไร ชีวิตเป็นไปอย่างไร จากชาตินั้นแล้วเกิดเป็นอะไรต่อไปอีกจนกระทั่งมาถึงชาติปัจจุบัน
ชีวิตที่เคยเกิดมาแล้วในอดีตชาติจนถึงปัจจุบันนี่แหละท่านเรียกว่า “ขันธสันดาน”
คำว่า “ขันธสันดาน” ยังไม่ได้เก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิดกันอีกยาวนาน
: ยังไม่สายที่จะเปลี่ยนสันดานให้เป็นคนดี
#บาลีวันละคำ (2,144)
26-4-61