ฤษี – ฤๅษี (บาลีวันละคำ 2,064)
ฤษี – ฤๅษี
ผู้แสวงหา
อ่านว่า รึ-สี – รือ-สี
“ฤษี – ฤๅษี” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อิสิ” (อิ-สิ) รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = แสวงหา; ปรารถนา; ไป) + อิ ปัจจัย
: อิสฺ + อิ = อิสิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้แสวงหาคุณธรรม” (2) “ผู้ปรารถนาสิวะคือพระนิพพาน” (3) “ผู้ไปสู่สุคติ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิสิ” ว่า a holy man, one gifted with special powers of insight & inspiration, an anchoret, a Seer, Sage, Saint (คนศักดิ์สิทธิ์, ผู้มีพรสวรรค์เกี่ยวกับกำลังภายใน และผู้มีตาทิพย์, โยคี, ฤๅษี, มุนี, นักบุญ)
ในการพูดกันทั่วไปในภาษาไทย แทบจะไม่มีใครรู้จักคำว่า “อิสิ” แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็เก็บคำว่า “อิสิ” และ “อิสี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“อิสิ, อิสี : (คำนาม) ผู้แสวงคุณความดี, ฤษี, ผู้ถือบวช. (ป.; ส. ฤษิ).”
บาลี “อิสิ” สันสกฤตเป็น “ฤษิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ฤษิ : (คำนาม) พระฤษี [พระฤษีมีอยู่ ๗ จำพวก คือ สฺรุตรฺษิ, กานฺทรฺษิ, ปรมรฺษิ, มหรฺษิ, ราชรฺษิ, พฺรหฺมรฺษิ, เทวรฺษิ]; พระเวท; แสง; a sanctified personage [there are seven orders of these saints, as Srutarshi, Kāntarshi, Paramrshi, Maharshi, Rājarshi, Brahmarshi, and Devarshi]; a Veda; a ray of light.”
บาลี “อิสิ” สันสกฤต “ฤษิ” ในภาษาไทยมีทั้ง “ฤษี” (รึ-สี) และ “ฤๅษี” (รือ-สี)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) ฤษี : (คำนาม) ฤๅษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ. (ส. ฤษี ว่า ผู้เห็น, ผู้แต่งพระเวท; ป. อิสิ).
(2) ฤๅษี : (คำนาม) ฤษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ.
โปรดสังเกตว่า ที่คำว่า “ฤษี” พจนานุกรมฯ บอกที่มาของคำไว้ว่า สันสกฤต “ฤษี” (ที่คำว่า “อิสิ, อิสี” บอกว่าสันสกฤต “ฤษิ”) บาลี “อิสิ”
แต่ที่คำว่า “ฤๅษี” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกที่มาของคำไว้ ดังจะให้เข้าใจว่า คำ “ฤๅษี” ยังไม่ทราบว่ามาจากภาษาอะไร
แต่เมื่อดูรูปคำแล้วก็เห็นได้ชัดว่า “ฤๅษี” เป็นคำที่กลายมาจาก “ฤษี” และ “ฤษี” ก็กลายมาจาก “ฤษิ” อีกต่อหนึ่งนั่นเอง
ระวัง! อย่าเขียนผิด :
ข้อที่ต้องทราบก็คือ ตัว “ฤๅ” (รือ) ในคำว่า “ฤๅษี” ไม่ใช่ ฤ + สระ า เครื่องหมาย –ๅ เช่นนี้ไม่ใช่สระ อา หางยาวอย่างที่บางคนชอบเรียก แต่เป็นส่วนควบหรือตัวเต็มๆ ของตัว “ฤๅ”
เหมือนเราเขียน ญ หญิง ต้องมีเชิง หรือ ฐ ฐาน ก็ต้องมีเชิง
เชิงนั้นคือส่วนควบหรือตัวเต็มๆ ของ ญ และ ฐ ฉันใด
เครื่องหมาย –ๅ ก็เป็นส่วนควบหรือตัวเต็มๆ ของ “ฤๅ” ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น คำว่า “ฤๅษี” ต้องเขียนอย่างนี้
ถ้าเขียน “ฤาษี” (ฤ + สระ า) แบบนี้คือเขียนผิด
อภิปราย :
เวลาพูดถึง “ฤษี” หรือ “ฤๅษี” เราก็จะมีจินตนาการตายตัวว่า คือมองเห็นเป็นนักบวชที่สวมชฎา นุ่งหนังเสือ หนวดเครายาว ตามภาพที่นักวาดรูปนิยมวาด
ทำนองเดียวกับ-ถ้าจะวาดรูปคนญี่ปุ่น ผู้หญิงต้องสวมชุดกิโมโน ถ้าจะวาดรูปคนพม่า ผู้ชายต้องมีผ้าเคียนหัว นุ่งโสร่ง
“ฤษี” หรือ “ฤๅษี” ไม่จำเป็นจะต้องสวมชฎา นุ่งหนังเสือ หนวดเครายาวเป็นชุดประจำชาติแบบที่เราเห็นทั่วๆ ไปนั่นแต่ประการใด
ถ้าเอาความหมายของ “อิสิ” ในบาลีที่แปลตามศัพท์ว่า “แสวงหาคุณธรรม” และความหมายตามพจนานุกรมฯ ที่ว่า “ผู้แสวงคุณความดี” หรือความหมายของ “ฤษี” และ “ฤๅษี” ที่ว่า “แสวงหาความสงบ” “ฤษี” หรือ “ฤๅษี” อาจแต่งกายอย่างใดๆ ก็ได้ ให้มีความสะดวก เรียบง่ายเป็นประมาณ เน้นที่การประพฤติปฏิบัติมุ่งแสวงหาความสงบหรือความหลุดพ้นตามความหมายของชื่อที่หมายถึง “ผู้แสวงหา”
ถ้าจะว่าไปแล้ว คนเร่ร่อนจรจัดตุหรัดตุเหร่ก็อาจจัดอยู่ในจำพวก “ผู้แสวงหา” ชนิดหนึ่งได้ด้วยซ้ำไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าเอาแต่โหยหาสิ่งที่ยังไม่มี
: จนไม่มีเวลาชื่นชมยินดีกับสิ่งที่ได้มา
#บาลีวันละคำ (2,064)
5-2-61