บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

“อย่านึกว่าไม่มีอะไรทำ”

“อย่านึกว่าไม่มีอะไรทำ”

————————

ญาติมิตรท่านหนึ่ง (ท่านไม่อนุญาตให้เอ่ยนาม แต่ถ้าเอ่ยออกไปผมเชื่อว่าจะมีคนรู้จักไม่น้อยกว่าครึ่งโลก) มีแก่ใจส่งหนังสือตำราบาลีมาให้ผมหลายเล่ม หนึ่งในจำนวนนั้น คือ ธาตุปฺปทีปิกา ที่ผมถ่ายรูปมาเป็นภาพประกอบเรื่องนี้

ธาตุปฺปทีปิกา เป็นตำราว่าด้วยธาตุในภาษาบาลี เป็นหนังสือประกอบความรู้ ไม่ใช่หนังสือหลักสูตรบังคับเรียน ใครรักเรียนรักรู้ก็ขวนขวายหามาศึกษเอาเอง ใครไม่เห็นว่าจำเป็น ก็ไม่ต้องมี ไม่บังคับ หนังสือเล่มนี้ผมไม่แน่ใจว่านักเรียนบาลีรุ่นหลังจะรู้จักกันหรือเปล่า 

สมัยผมเรียนบาลี (ความจริงเวลานี้ก็ยังเรียนอยู่) มีโอกาสไปที่ร้านจำหน่ายหนังสือของมหามกุฏฯ หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ไปเห็นหนังสือเล่มนี้เข้าก็ซื้อทันที จำได้ว่าฉบับที่ซื้อมาเป็นปกอ่อน ปกสีฟ้า เล่มหนา คงเป็นเพราะกระดาษเนื้อหยาบจึงดูเล่มใหญ่กว่าฉบับปกแข็งเล่มที่ญาติมิตรส่งมาให้เล่มนี้ ผมได้อาศัย ธาตุปฺปทีปิกา เล่มนั้นเป็นแหล่งค้นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เนืองๆ 

เมื่อลาสิกขาออกจากวัดแล้วตำรับตำราต่างๆ ที่เป็นของส่วนตัวผมก็ฝากไว้ในวัดทั้งหมด ไม่ได้เอาติดตัวมาด้วย แต่ฝากแล้วก็ฝากเลย ไม่ได้คิดจะเอาคืน เป็นอันถวายไว้ในพระพุทธศาสนาไปเลย

—————-

อ่านคำนำของหลวงเทพดรุณานุศิษฏ์ ผู้รวบรวมเรียบเรียงแล้วเกิดความรู้สึกแตกต่างไปจากที่เคยได้อ่านครั้งแรกเมื่ออายุราวๆ ๒๐ กว่าๆ ตอนนั้นอ่านแล้วก็นึกทึ่งในตัวท่านผู้รวบรวมเรียบเรียงว่าท่านเป็นนักบาลีที่เก่งมาก สามารถทำตำรามาให้เราใช้ศึกษาได้ อ่านแล้วก็ลงมือศึกษาตามท่านไป อุปมาเหมือนคนรอรับประทานอาหาร พอมีอาหารมาวางตรงหน้าก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ลงมือรับประทานไปตามต้องการ

แต่ครั้นเวลาผ่านไปประมาณครึ่งศตวรรษ มาอ่านอีกครั้งหนึ่ง ความรู้สึกก็แปลกไป อุปมาเหมือนคนที่รับประทานอาหารพอประทังความหิวไปได้แล้ว คราวนี้มีเวลาและอารมณ์พอที่จะเริ่มนึกถึงว่า อาหารนี่ปรุงมาจากไหน ใครเป็นคนปรุง ใครควรจะมีโอกาสได้กินอาหารชนิดเช่นนี้อีกบ้าง ทำอย่างไรจึงจะมีคนช่วยกันปรุงอาหารแบบนี้มากๆ ทำอย่างไรคนทั้งหลายจึงจะได้มากินอาหารนี้กันให้มากๆ ฯลฯ

ข้อความตอนท้ายของคำนำท่านเขียนไว้กระทบใจดีแท้ ขอคัดมาให้อ่านกันดังนี้ –

…………..

…………..

ธาตุปฺปทีปิกา ฉบับใหญ่นี้ ข้าพเจ้าได้ทำขึ้นเมื่ออายุข้าพเจ้าได้ราว ๓๘ ปี ต่อมาอีกประมาณ ๒ ปี ได้ทำฉบับเพิ่มเติมขึ้นอีกและเมื่อข้าพเจ้าอายุได้ราว ๔๒ ปี ได้แต่งพจนานุกรมบาลี-ไทย ฉบับพิสดารขึ้นฉบับหนึ่ง แต่ทำได้เพียงเล่ม ๑ ภาค ๑ เท่านั้นก็หมดโอกาสที่จะทำต่อไป และในคราวเดียวกันนี้ ข้าพเจ้าได้แต่งบาลีวิจาร วินิจฉัยศัพท์ที่เป็นปัญหาต่างๆ ขึ้นอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งได้แต่งเรื่อยๆ มาในคราวที่มีโอกาสอีก เมื่อข้าพเจ้ามีอายุได้ราว ๕๕ ปี ออกจากราชการโดยเกษียณอายุ ได้แต่งบาลีไวยากรณ์ชั้นพิเศษขึ้นชุดหนึ่ง ๘ เล่มด้วยกันจบบริบูรณ์ และในระยะใกล้กันนี้ได้รวบรวมทำ พจนานุกรมธาตุสํสกฤต ขึ้นอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งสำหรับใช้สอบเทียบกับธาตุบาลี อันกำหนดว่าจะได้พิมพ์ขึ้นต่อไปในเร็วๆ นี้.

ขณะเขียนคำนำนี้ ข้าพเจ้ามีอายุได้ ๖๗ ปี เป็นอันหมดกำลังที่จะทำตำรับตำราได้อีกต่อไปแล้ว ขอฝากนักบาลีรุ่นหลังไว้ให้ช่วยกันทำตำราบาลี เพื่อบำรุงพระปริยัติธรรมให้รุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้น อย่านึกว่าไม่มีอะไรทำ เรื่องที่จะทำยังมีอีกมาก อย่างน้อยให้ระลึกว่าฝรั่งเขาเรียนบาลีทีหลังเรา เขาได้ทำพจนานุกรมมาให้เราดู ๒-๓ ฉบับแล้ว เราเรียนบาลีก่อนเขา ก็ยังไม่เกิดพจนานุกรมที่สมบูรณ์ขึ้นได้เลย ข้าพเจ้าขอฝากให้ระลึกถึงความข้อนี้ไว้ด้วย เทอญ.

หลวงเทพดรุณานุศิษฏ์

มหามกุฏราชวิทยาลัย

๓ กรกฎาคม ๒๔๙๓

…………..

…………..

ที่กระทบใจอย่างแรง และกระทบความรู้สึกของผมมาตลอดเวลายาวนานก็คือข้อความที่ว่า 

….ฝรั่งเขาเรียนบาลีทีหลังเรา เขาได้ทำพจนานุกรมมาให้เราดู ๒-๓ ฉบับแล้ว เราเรียนบาลีก่อนเขา ก็ยังไม่เกิดพจนานุกรมที่สมบูรณ์ขึ้นได้เลย….

…………..

หลวงเทพดรุณานุศิษฏ์ ท่านชื่อ ทวี ธรมธัช สำนักวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สอบเปรียญ ๙ได้เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ เป็นเปรียญสมัยที่สอบแปลปากเปล่า 

มีผู้บันทึกสถิติไว้ว่า ท่านเป็นเปรียญ ๙ รูปแรกของสำนักวัดราชบพิธฯ เมื่อท่านสอบได้แล้ว สำนักวัดราชบพิธฯ ก็ไม่มีใครสอบเปรียญ ๙ ได้อีกเลยเป็นเวลานานถึง ๘๘ ปี คือจนถึงปี พ.ศ.๒๕๔๑ สำนักวัดราชบพิธฯ จึงมีผู้สอบเปรียญ ๙ ได้อีก

ผมเคยนับสถิติแบบคร่าวๆ ตัวเลขกลมๆ 

ประโยค ๙ ในประเทศไทยมีประมาณ ๑,๕๐๐ 

เสียชีวิตไปแล้วประมาณ ๕๐๐ 

ลาสิกขาไปประกอบอาชีพต่างๆ ประมาณ ๕๐๐ 

ยังดำรงสมณเพศ มีสมณศักดิ์และตำแหน่งฐานะต่างๆ ประมาณ ๕๐๐

หลวงเทพดรุณานุศิษฏ์คนเดียวท่านทำตำราบาลีไว้ตั้งหลายเล่ม

ถ้าเปรียญ ๙ ที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ มีอุตสาหะขวนขวายทำตำราบาลีหรือศึกษาค้นคว้าวิชาการเกี่ยวกับพระไตรปิฎกและคัมภีร์บาลีให้ได้เท่าๆ กับหลวงเทพดรุณานุศิษฏ์ วงการบาลีบ้านเราจะอลังการขนาดไหน

—————

เมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้มีอุบาสิกาในวัยศึกษาท่านหนึ่งส่งหนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระเดชพระคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) วัดราชโอรสาราม มาให้ผมเล่มหนึ่ง บอกมาว่าตำราดีๆ ควรจะอยู่กับคนที่ทำงานเกี่ยวกับบาลี 

ทราบมาว่าอุบาสิกาท่านนี้เป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ วิชาเอกบาลีสันสกฤต ตัวท่านเองยังศึกษาและสอบบาลีศึกษาของคณะสงฆ์อีกด้วย ปีที่ผ่านมาสอบได้ บ.ศ.๗ (บ.ศ. = บาลีศึกษา) กำลังเรียนชั้น บ.ศ.๘ ผมคาดว่าท่านคงจะสอบได้ทะลุถึง บ.ศ.๙ โดยไม่มีปัญหา

ยังไม่ได้เห็นสถิติว่า ขณะนี้มีสตรีที่สอบได้ บ.ศ.๙ แล้วกี่ท่าน ทราบแต่ว่ามีหลายท่าน

ประเด็นที่น่าคิดก็คือ ในขณะที่ผู้ชาย-คือพระภิกษุสามเณรและฆราวาสที่ลาสิกขา-แม้จะเป็นประโยค ๙ แต่ก็มักมีท่าทีเรื่อยๆ เฉื่อยๆ เอื่อยๆ กับเรื่องภาษาบาลีและงานที่เกี่ยวข้อง ผู้หญิงกลับมีท่าทีกระตือรือร้นต่อเรื่องนี้มากขึ้นและทำท่าจะมากกว่าขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย

นึกถึงภาพเทพบุตรหนึ่งองค์มีเทพธิดาพันหนึ่งเป็นบริวาร

นึกถึงคนทำบุญวันพระ มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายทั่วไปหมดทุกวัด

ฤๅถึงคราที่จะต้องฝากการศึกษาและค้นคว้าบาลีไว้กับสตรี?

—————

เวลานี้หัวข้อที่น่าศึกษา ปัญหาที่รอคำตอบ มีอยู่ท่วมหัว ในขณะที่ประโยค ๙ บ้านเราก็เรียกได้ว่ามีอยู่ท่วมหัวพอๆ กัน

แต่จะเป็นเพราะเหตุอันใดก็ไม่ทราบ ท่านเหล่านั้นพอใจที่จะเสวยวิมุตติสุขไปตามลำพังเสียบ้าง มีความสุขกับกิจการงานด้านอื่นเสียบ้าง จึงทำให้งานเกี่ยวกับพระไตรปิฎก เกี่ยวกับคัมภีร์ เกี่ยวกับตำรับตำราบาลี แทบจะไม่มีใครสนใจที่จะหยิบจะจับขึ้นมาทำ

เมื่อสองวันก่อนทราบมาว่า ท่านผู้ที่จบประโยค ๙ ทั้งหลายตั้งกลุ่ม Line กันขึ้น ชื่อกลุ่ม “ป.ธ.๙” มีเพื่อนประโยค ๙ ท่านหนึ่งกรุณาจัดการให้ผมเข้าเป็นสมาชิกเรียบร้อยแล้ว

ดูบรรยากาศแล้วก็ครึกครื้นกันดี

ผมก็เลยเกิดความหวังขึ้นมาแบบเลือนราง คือหวังว่า ถ้ากลุ่มไลน์ ป.ธ.๙ คิดทำอะไรที่เป็นสาระยิ่งขึ้นก็จะเกิดประโยชน์มหาศาล

เช่น ใช้กลุ่มไลน์เป็นเสมือนสำนักงานติดต่อประสานงาน คิดงาน มอบหมายงาน แบ่งงานกันไปทำ เป็นต้นว่า —

๑ งานค้นคว้าหาคำตอบจากคัมภีร์ในประเด็นเกี่ยวกับพระธรรมวินัย เช่น 

– กรณีรับกฐิน นิมนต์ภิกษุต่างวัดมาเพื่อให้ครบองค์สงฆ์ ๕ รูป ใช้ได้หรือไม่ 

– กรณีภิกษุปรนนิบัติมารดาด้วยการจับเนื้อต้องตัวมารดา ถูกต้องหรือไม่ 

– กรณีภิกษุสามเณรยืนบิณฑบาตอยู่กับที่ ถูกต้องหรือไม่

ฯลฯ

๒ งานจัดทำตำรับตำราเกี่ยวกับภาษาบาลี มีรายละเอียดมาก ช่วยกันคิดอ่านจัดทำขึ้นมา

๓ งานประเภทพจนานุกรม และสารานุกรม เช่น 

– พจนานุกรมบาลี-ไทย โดยอาจใช้พจนานุกรมที่ฝรั่งทำไว้แล้วเป็นฐาน เช่น THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY edited by T. W. RHYS DAVIDS ที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุขอลิขสิทธิ์มาแปลเป็นไทยพิมพ์เผยแพร่ไปเรียบร้อยแล้ว เราอาจนำมาต่อยอดโดยการปรับปรุงเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ดียิ่งขึ้น

– นามานุกรมพุทธศาสน์ ทำนองเดียวกับพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เราก็เอามาช่วยกันจัดทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น งานบางอย่างที่มีผู้ทำไว้แล้ว เช่น DICTIONARY OF PALI PROPER NAMES ของ G.P. MALALASEKERA เราอาจขอลิขสิทธิ์เอามาแปลเป็นไทยได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาไปค้นคว้าใหม่ นอกจากปรับปรุงเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

๔ งานสืบค้นรวบรวมมติความคิดเห็นของครูบาอาจารย์แต่ปางก่อนในปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัยและประเด็นปัญหาทั่วไป 

หมายความว่า มีปัญหาเป็นอันมากที่เราสงสัยสอบถามกันอยู่ในเวลานี้ เป็นปัญหาที่ครูบาอาจารย์แต่ปางก่อนท่านได้เคยวินิจฉัยตัดสินไว้แล้ว เราไม่ต้องทำอะไรมากนอกจากไปสืบค้นดูว่าเรื่องนั้นๆ ท่านวินิจฉัยไว้อย่างไร เมื่อพบแล้วก็นำมาบอกกล่าวรับรู้เรียนรู้กัน หากเห็นว่าควรมีอะไรเพิ่มเติม ก็ช่วยกันศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมแล้วบันทึกไว้

๕ งานจัดทำ “คลังข้อมูลกลางพระพุทธศาสนา” ขึ้นไว้ เมื่อได้ข้อมูลอะไรมา ก็เอาไปเก็บไว้ในคลัง จัดระเบียบให้ดี ใครอยากรู้เรื่องอะไรก็เปิดเข้าไปดูได้แบบ one stop service ประโยค ๙ ที่เก่งทางโซเชียลมีเดียมีอยู่มากท่าน สามารถแสดงฝีมือได้เต็มที่

ที่ว่ามานี้เป็นการคิดคร่าวๆ หลวมๆ เท่าที่นึกได้ในปัจจุบันทันด่วนนี้เท่านั้น ถ้าได้ช่วยกันคิด และมีเวลาคิดกันนานๆ ก็จะเห็นช่องทางทำงานได้อีกมากมาย

—————

เราท่านทั้งหลายที่เรียนจนจบประโยค ๙ จะออกไปทำงานทางโลกก็ดี ยังอยู่เป็นศรีแก่พระศาสนาก็ดี พูดได้เต็มปากว่า-ได้ดีเพราะวัด หรือได้ดีไปจากวัด จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องใช้หนี้วัด

วิธีใช้หนี้วัดที่ประเสริฐที่สุดก็คือ เอาความรู้มาค้นคว้าศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยตั้งจุดหมายไปที่-เพื่อการมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนา

ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมวินัยมีมากขึ้นเพียงใด การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องก็จะเกิดมีตามมามากขึ้นเพียงนั้น 

เมื่อพระธรรมวินัยมั่นคงอยู่ในความรู้ความเข้าใจของชาวพุทธ พระพุทธศาสนาก็ชื่อว่ามั่นคง เป็นประทีปส่องใจและอำนวยสุขสันติให้แก่พหูชนได้ยั่งยืนสืบไป

หลวงเทพดรุณานุศิษฏ์บอกว่า เมื่อท่านมีอายุได้ ๖๗ ปี เป็นอันหมดกำลังที่จะทำตำรับตำราได้อีกต่อไปแล้ว 

แต่ผมไม่รู้สึกเช่นนั้นเลย ผมอายุ ๗๐ กว่าแล้ว ยังรู้สึกอยู่เสมอว่ายังมีกำลังที่จะทำงานวิชาการพระพุทธศาสนาต่อไปได้อีก

ดูปริมาณงานที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำ ดู “การบ้าน” ที่ได้รับมาจากคนทั้งหลาย ผมเชื่อว่าทำไปจนอายุ ๑๒๐ ปี ก็ยังไม่หมด

อันที่จริงต้องพูดว่า ตายแล้วเกิดใหม่อีก ๑๐๐ ชาติก็ยังทำไม่หมด 

อย่านึกว่าไม่มีอะไรทำ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ กันยายน ๒๕๕๙

๑๖:

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *