บาลีวันละคำ

ปริวรรต (บาลีวันละคำ 1,562)

ปริวรรต

อ่านว่า ปะ-ริ-วัด

ประกอบด้วย ปริ + วรรต

(๑) “ปริ” (ปะ-ริ)

เป็นคำอุปสรรค (คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง) มีความหมายว่า รอบ, เวียนรอบ; ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด (around, round about; all round, completely, altogether)

(๒) “วรรต” บาลีเป็น “วตฺต” (วัด-ตะ)

1) เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ปัจจัย

: วตฺ + = วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เป็นไปแล้ว

2) เป็นคำนามและคุณศัพท์ รากศัพท์มาจาก วตฺต (ธาตุ = หมุนไป) + ปัจจัย

: วตฺตฺ + = วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “การหมุนไป” “สิ่งที่หมุนไป

ปริ + วตฺต = ปริวตฺต แปลตามศัพท์ว่า “การหมุนไปรอบๆ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปริวตฺต” ว่า changing round, twisting, turning (เปลี่ยน [จากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง], บิดหรือหมุนรอบ)

ปริวตฺต” คำกริยาอาขยาตในภาษาบาลีเป็น “ปริวตฺตติ” (ปะ-ริ-วัด-ตะ-ติ) มีความหมายดังนี้ –

(1) หมุนรอบ, ม้วน, เป็นไปรอบ (to turn round, twist, go about)

(2) เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา, เคลื่อน, พลิกแพลง, เปลี่ยนแปลง (to change about, move, change, turn)

ปริวตฺต” ในบาลีเป็น “ปริวรฺตฺต” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปริวรฺตฺต : (คำนาม) ‘ปริวรรตต์, ปริวรรต,’ การกลับหรือคืนหลัง; การหมุนเวียน; การหนี, การล่าถอยไป, การละทิ้ง; การแลกเปลี่ยน; การส่งคืน; อวสานของโลกหรือจตุรยุค; บริจเฉท, ครันถ์หรือครังถ์, ปรากฤตว่า – ‘ผูก;’ เสียงเอก; กูรมราช, เจ้าแห่งเต่าทั้งหลาย, กูรมาวตาร; turning or going back; revolving; flight, retreat, desertion; exchange or barter; requital or return; the end of the world or the four ages; a chapter, a book; a canto; the king of the tortoises, the Tortoise Incarnation.”

ปริวตฺต” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ปริวรรต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปริวรรต, ปริวรรต– : (คำกริยา) หมุนเวียน เช่น ปริวรรตเงินตรา; เปลี่ยนแปลง, เปลี่ยนไป, แปรไป. (ส. ปริวรฺต; ป. ปริวตฺต).”

พจน.54 ยังมีคำว่า “ปริวรรตกรรม” (ปะ-ริ-วัด-ตะ-กํา) แปลว่า การหมุนเวียน

เรื่องควรรู้ :

คำว่า “ปริวรรต” ถ้าใช้ในงานชำระตรวจสอบคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา หมายถึง การถ่ายคำจากอักษรหนึ่งไปเป็นอีกอักษรหนึ่ง แต่ยังคงเป็นภาษาเดิม เช่น ปริวรรตคัมภีร์บาลีอักษรขอมเป็นอักษรไทย แต่ข้อความยังคงเป็นภาษาบาลี

ปริวรรต” ในความหมายนี้ตรงกับคำอังกฤษว่า transliteration เป็นคนละอย่างกับ “แปล” (translation) ซึ่งหมายถึงถ่ายความหมายจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล transliteration เป็นบาลีว่า –

aññakkharehi likhana อญฺญกฺขเรหิ ลิขน (อัน-ยัก-ขะ-เร-หิ ลิ-ขะ-นะ) = การเขียนโดยอักษรชนิดอื่น

และแปล translation เป็นบาลีว่า –

(1) anuvāda อนุวาท (อะ-นุ-วา-ทะ) = “การพูดตาม” คำนี้เล็งถึงการแปลสดๆ คือคนหนึ่งพูดเป็นภาษาหนึ่ง แล้วอีกคนหนึ่งก็ “พูดตาม” แต่พูดเป็นอีกภาษาหนึ่ง

(2) bhāsāparivattana ภาสาปริวตฺตน (พา-สา-ปะ-ริ-วัด-ตะ-นะ) = การเปลี่ยนภาษา, การแปลภาษา

(3) aññathākaraṇa อญฺญถากรณ (อัน-ยะ-ถา-กะ-ระ-นะ) = “การทำโดยประการอื่น” คือการทำภาษาหนึ่งให้มีความหมายเป็นอีกภาษาหนึ่ง

ตัวอย่างเพื่อความชัดเจน :

(1) นโม = NAMO นี่คือ transliteration ปริวรรต

(2) นโม = nomage, veneration นี่คือ translation แปล

………….

: เงินใช้ทำความดีได้

: แต่ใช้เปลี่ยนกรรมชั่วให้เป็นกรรมดีไม่ได้

13-9-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย