อย่ารุกล้ำสิทธิสาธารณะของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
อย่ารุกล้ำสิทธิสาธารณะของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
—————————
เมื่อวันก่อน (๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๒) ผมเดินออกกำลังตอนเช้าไปตามถนนเลียบแม่น้ำแม่กลอง
เลย “สนามหญ้า” (ตามชื่อที่เคยเรียกกันและยังมีคนเรียกอยู่) หรือ “หอนาฬิกา” (ตามชื่อที่บางคนชอบเรียก) ไปหน่อยก็จะเป็นท่าเทียบเรือเก่า เทศบาลเมืองราชบุรีปรับปรุงเป็นห้องสมุดเปิด เป็นบริเวณที่มีคนเอาของมาตั้งขาย และมีอะไรต่อมิอะไรตั้งวางระเกะระกะอยู่พอสมควร
ว่ากันตามหลัก ถนนเลียบแม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี (ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า) ไปจนถึงสะพานรถไฟ มีทางเท้าให้คนเดินได้ตลอดสาย
และว่ากันตามหลักจริงๆ แล้ว ถนนทุกสายในเขตเทศบาลหรือในตัวเมืองทุกแห่งในประเทศไทย เขาย่อมทำทางเท้าไว้สำหรับคนเดินด้วยเสมอ
และก็บนทางเท้านี่แหละที่คนบางพวกหรือบางคนยึดครองเป็นที่ประกอบกิจกรรมส่วนตัวสารพัดรูปแบบ ทั้งแบบถาวร ชั่วคราว หรือชั่วขณะเวลา มีให้พบเห็นได้ทั่วไป
ไม่ต้องแจกแจงรายการนะครับ เพราะเราเคยเห็นกันมาทั้งนั้น
รูปแบบหนึ่งที่ผมพบเสมอก็คือ ยืนคุยกันขวางทางเท้า
เมื่อไปเจอธุรกิจหรือกิจธุระบนทางเท้าเข้า คนส่วนมากใช้วิธีหลบลงไปเดินบนพื้นถนน
กลายเป็นว่า เป็นสิทธิที่มนุษย์จำพวกนั้นจะใช้ทางเท้าเป็นที่ประกอบธุรกิจหรือทำกิจธุระได้ตามความพอใจ
และเป็นหน้าที่ของคนอื่นๆ ที่จะต้องหลบ หลีก เลี่ยง เอาเองตามสะดวก
กรณีทำนองนี้มักจะมีท่านจำพวกหนึ่งออกรับแทนว่า ที่บ้านไหนเมืองไหนมันก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ เป็นกันทั่วโลก เมืองฝรั่งก็เป็น จะมาเอาอะไรกันนักกันหนา ถ้อยทีถ้อยอาศัย แบ่งๆ กันไปก็พอแล้ว
เมืองไทยเราจึงเจริญรุ่งเรืองมาได้เป็นอันดี
………………….
ในวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าวข้างต้นคือบริเวณท่าเทียบเรือเก่า ผมมองไปแต่ไกลก็เห็นมนุษย์ ๒-๓ คนยืนขวางบนทางเท้า
คนหนึ่งเป็นสุภาพสตรี-มองออกทันทีว่าประกอบอาชีพสะพายแผงสลากกินแบ่งเดินขายไปตามถนน อีก ๒ คนเป็นลูกค้า
สุภาพสตรีคนนั้นกำลังชี้ชวนให้ลูกค้าให้ซื้อสินค้าของเธอ และลูกค้า ๒ คนก็กำลังเลือกสินค้าอย่างขะมักเขม้น
๓ คนยืนขวางเต็มทางเท้า
สุภาพสตรียืนด้านซ้ายสุด สุภาพบุรุษยืนกลางคนหนึ่งและค่อนไปทางขวาคนหนึ่ง
ผมวางแผนเข้าปะทะขึ้นมาเดี๋ยวนั้นเลย
ถ้าเป็นเรือ ก็ตั้งเข็มชนสุภาพสตรี
เล็งจุดปะทะ จะเอาส่วนไหนของผมชนกับส่วนไหนของเธอ
กะว่าให้เซหรือเอียงเล็กน้อย จะต้องใช้น้ำหนักปะทะกี่ปอนด์
เมื่อพร้อมแล้ว ผมก็สั่งตัวเองเดินหน้าเต็มตัว
เข้าเป้าตามที่กำหนด
ได้ยินเสียงร้อง เอ๊ะ เอ๊ะ…นี่… พร้อมกับเซไปเล็กน้อย
ผมคาดว่าคำที่จะหลุดตามมาคงจะเป็น … มาเดินชนเค้าทำไม …
แต่ก็ไม่ได้ยินถ้อยคำใดๆ อาจเป็นเพราะผมเดินหน้าเต็มตัวต่อไปโดยไม่รอดูผลการปะทะ
ใช้คำตามสำนวนในกามนิตก็ว่า “เท่านี้พอแก่การย์”
………………….
ในวรรณกรรมเรื่อง “เพลงยาวถวายโอวาท” ของสุนทรภู่ หรืออาจจะเป็นสุภาษิตสอนหญิง จำไม่ถนัด มีกลอนที่ผมจำได้ ๒ วรรค
“อย่านอนเปล่าเอากระจกยกออกมา
ส่องดูหน้าทีหนึ่งแล้วจึงนอน”
เป็นคำสอนเชิงปริศนาธรรม หมายความว่า ในรอบวันตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เราไปทำอะไรมาบ้าง พูดอะไรกับใครว่าอย่างไรบ้าง และรู้สึกนึกคิดเรื่องอะไรอย่างไร …
ก่อนจะนอน ให้เก็บมาทบทวนพิจารณาว่า ถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไรหรือไม่ ถ้าถูกต้อง ก็ให้อนุโมทนากับตัวเอง ถ้าผิดพลาด ก็ให้จำไว้เป็นบทเรียนว่าอย่าทำพูดคิดแบบนั้นอีก
ผมเชื่อว่า ญาติมิตรทั้งหลายก็คงจะได้เคย-หรือแม้แต่ยังปฏิบัติเช่นว่านี้กันอยู่
ผมจึงเชื่อว่า คงจะมีสักเวลาหนึ่ง-อาจเป็นก่อนนอนคืนนั้น-ที่สุภาพสตรีนักขายหวยคนนั้นคงจะได้นึกทบทวนดูว่า
เช้าวันนั้นหรือเช้าวันหนึ่ง
อีตาลุงคนหนึ่งเดินชนเรา
แล้วเดินจากไปโดยไม่ขอโทษ
เอ เราทำอะไรอยู่นะตอนนั้น
อ้อ กำลังมีคนจะซื้อหวย
เรายืนขายอยู่บนทางเท้า
เรายืนตรงไหนนะ
อ้อ นึกนอกแล้ว
เรายืนขวางทางแกนั่นเอง
เอ นี่เราก็ทำไม่ถูกนะ
ทางเท้า คนเขาจะเดิน
แล้วเราไปยืนขวาง
ไม่เอาละ
ทีหลังต้องระวัง ไม่ทำอีก
………….
………….
แต่ก็ไม่แน่ เธออาจจะคิดตรงกันข้าม
… อย่าให้เจออีกนะ
เจอคราวนี้กูด่าไม่เลี้ยง
………….
………….
ความจริงผมจะหลบลงไปเดินบนถนน-อย่างที่คนส่วนมากนิยมทำกัน-ก็ได้ แต่ก็จะเป็นส่งเสริมให้มนุษย์จำพวกนั้นปฏิบัติการเห็นแก่ตัวแล้วลอยนวลต่อไป
ผมนึกถึงเถรภาษิตในพระไตรปิฎกที่ว่า –
อโมฆํ ทิวสํ กยิรา
อปฺเปน พหุเกน วา.
ควรทำวันคืนไม่ให้เปล่าจากประโยชน์
จะน้อยหรือมากก็ให้ได้อะไรบ้าง
ที่มา: เถรคาถา (สิริมณฺฑเถร) พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๕๙
ไม่ควรเดินผ่านไปเปล่าๆ โดยไร้ประโยชน์
จะน้อยหรือมากก็ขอให้ได้เตือนสติเพื่อนมนุษย์บ้าง
ว่า-อย่ารุกล้ำสิทธิสาธารณะของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒
๑๗:๔๓
…………………………….
…………………………….