บาลีวันละคำ

เบญจางคประดิษฐ์ (บาลีวันละคำ 441)

เบญจางคประดิษฐ์

อ่านว่า เบน-จาง-คะ-ปฺระ-ดิด

แยกคำเป็น เบญจ + องค + ประดิษฐ์

เบญจ” บาลีเป็น “ปญฺจ” (ปัน-จะ) แปลว่า ห้า (จำนวน ๕) ในภาษาไทยนิยมแปลงเป็น “เบญจ

องค” บาลีเป็น “องฺค” (อัง-คะ) แปลว่า ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, ชิ้นส่วน, องค์ประกอบ, ส่วนประกอบ, ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ (เช่น ศีลข้อปาณาติบาตจะขาด ต้องประกอบด้วยองค์ห้า)

เบญจ + องค = เบญจงค แล้วยืดเสียง อัง-คะ เป็น อาง-คะ = เบญจางค แปลตามศัพท์ว่า “องค์ห้า

ประดิษฐ์” บาลีเป็น “ปติฏฺฐิต” (ปะ-ติด-ถิ-ตะ) แปลว่า ตั้งขึ้น, ดำรงไว้, ประดิษฐาน, ยืนอยู่ เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประดิษฐ์” ใช้ในความหมายว่า ตั้งขึ้น, จัดทําขึ้น, คิดทําขึ้น, สร้างขึ้น, แต่งขึ้น

ในที่นี้ “ประดิษฐ์” มีความหมายว่า “จรดลงอย่างตั้งใจ

เบญจ + องค = เบญจางค + ประดิษฐ์ = เบญจางคประดิษฐ์ แปลตามศัพท์ว่า “การจรดลงอย่างตั้งใจด้วยองค์ห้า” หมายถึงการกราบโดยให้อวัยวะทั้ง 5 คือ เข่า 2 ฝ่ามือ 2 และหน้าผาก 1 สัมผัสลงกับพื้น เป็นกิริยาแสดงความเคารพอย่างสูงสุด ใช้ในการกราบพระ (พระรัตนตรัย เช่นกราบที่โต๊ะหมู่บูชา, กราบพระสงฆ์)

เบญจางคประดิษฐ์” ภาษาบาลีใช้ว่า “ปญฺจปติฏฺฐิต” (ปัน-จะ-ปะ-ติด-ถิ-ตะ) ไม่ใช่ “ปญฺจงฺคปติฏฺฐิต” (ไม่มี “องค” เหมือนในภาษาไทย)

: ชนใดรูปทราม แม้นกราบพระงาม ลบทรามกลับงามชวนชม

: ชนใดรูปงาม แม้นกราบพระทราม ลบงามกลับทรามซวนซม

: ชนใดรูปทราม ซ้ำกราบพระทราม สิ้นงามสามภพลบจม

: ชนใดรูปงาม ซ้ำกราบพระงาม ยิ่งงามสามภพนบนิยม

——————

(ปรับปรุงจาก ปญฺจปฺปติฏฺฐิต บาลีวันละคำ (50) 22-6-55)

บาลีวันละคำ (441)

30-7-56

ปญฺจปฺปติฏฺฐิต นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

เบญจางคประดิษฐ์, การหมอบลงกราบกับพื้นด้วยส่วนทั้งห้า(หน้าผาก ๑ มือ ๒ เข่า ๒).

องฺค = อวัยวะ, สรีระ, ส่วน, เหตุ, เครื่องหมาย (ศัพท์วิเคราะห์)

-องฺคติ คจฺฉตีติ องฺคํ ร่างที่เดินได้

องฺค ธาตุ ในความหมายว่าไป, ถึง, เป็นไป อ ปัจจัย

-องฺคียเต ญายเต เอเตน สมุทโย องฺคํ เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด คือทำให้รู้ต้นกำเนิด

องฺค ธาตุ ในความหมายว่ารู้ อ ปัจจัย

-อวยวภาเวน องฺคียเต ญายเตติ องฺคํ ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ

องฺค ธาตุ ในความหมายว่ารู้ อ ปัจจัย

องฺค (บาลี-อังกฤษ)

ส่วนของร่างกาย, แขนขา, อวัยวะ; ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ

ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์ เช่น องค์แห่งอุโบสถ

ปญฺจ+ปติฏฺฐิต (บาลี-อังกฤษ)

เบญจางคประดิษฐ์ กล่าวคือ การทำความเคารพโดยก้มกราบด้วยใช้หน้าผาก forehead, สะเอว waist, ข้อศอก elbows, เข่า knees, เท้า feet

˚patiṭṭhitaŋ 5 fold prostration or veneration, viz. with forehead, waist, elbows, knees, feet (Childers) in phrase ˚ena vandati (sometimes ˚ŋ vandati,

ปติฏฺฐเปตฺวา = ตั้งขึ้น, ดำรงไว้, ประดิษฐาน, ยืนอยู่ (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

(ปติฏฺฐิต = ความหมายเดียวกับ ปติฏฺฐเปตฺวา)

ปัญจ-

  [ปันจะ-] (แบบ) ว. เบญจ. (ป.).

เบญจางคประดิษฐ์ (ประมวลศัพท์)

การกราบด้วยตั้งอวัยวะทั้ง ๕ อย่างลงกับพื้น คือกราบเอาเข่าทั้งสอง มือทั้งสอง และศีรษะ (หน้าผาก) จดลงกับพื้น

เบญจ-, เบญจะ

  [เบนจะ-] ว. ห้า, ลําดับที่ ๕ เช่น นาเบญจะ หัวเมืองเบญจะ มาตรา … เบญจะ. (ป. ปญฺจ; ส. ปญฺจนฺ), มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.

เบญจางค-, เบญจางค์

  [เบนจางคะ-, เบนจาง] น. อวัยวะทั้ง ๕ คือ หน้าผาก ๑ มือ ๒ เข่า ๒; ส่วนทั้ง ๕ คือ ราก เปลือก ใบ ดอก ผล.

เบญจางคประดิษฐ์

  น. การกราบโดยให้อวัยวะทั้ง ๕ คือ เข่าทั้ง ๒ มือทั้ง ๒ และหน้าผาก จดลงกับพื้น.

ประดิษฐ-, ประดิษฐ์

  [ปฺระดิดถะ-, ปฺระดิด] ก. ตั้งขึ้น, จัดทําขึ้น, คิดทําขึ้น, สร้างขึ้น, แต่งขึ้น.ว. ที่จัดทําขึ้นให้เหมือนของจริง เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์, ที่คิดทําขึ้นไม่เหมือนธรรมชาติ เช่น ลายประดิษฐ์. (ส. ปฺรติษฺ; ป. ปติฏฺ).

องค-, องค์

  [องคะ-] น. ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, ตัว (ราชาศัพท์ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ทรงได้รับพระราชทานฉัตร ๗ ชั้น ใช้ว่า พระองค์ เช่น แต่งพระองค์); ส่วนย่อยที่เป็นองค์ประกอบ เช่น มรรคมีองค์ ๘; ในราชาศัพท์ใช้เป็นลักษณนามเรียกอวัยวะหรือสิ่งของ หรือคำพูด เป็นต้น ของกษัตริย์หรือเจ้านาย เช่น พระทนต์ ๑ องค์ (ฟัน ๑ ซี่) พระศรี ๑ องค์ (หมาก ๑ คํา) พระที่นั่ง ๑ องค์ พระบรมราโชวาท ๒ องค์; ลักษณนามใช้เรียกสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูป ๑ องค์ พระเจดีย์ ๒ องค์, (ปาก) ลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณร นักบวชในศาสนาอื่น เช่น ภิกษุ ๑ องค์ บาทหลวง ๒ องค์. (ป., ส. องฺค).

จรด

  [จะหฺรด] (โบ; แบบ) ก. จด, ถึง, จ่อให้ถึง.

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย