บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

————————

ถ้าเราต้องการคนมีฝีมือ มีความสามารถ ที่จะเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายเพื่ออุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เราจะไปหาได้ที่ไหน? 

(๑) ผู้แทนราษฎรของเรา-ซึ่งอยู่ในกระบวนการออกกฎหมายโดยตรง-เป็นชาวพุทธเป็นส่วนมาก ว่ากันตามหลักแล้ว ท่านเหล่านั้นควรจะเป็นกำลังหลักของพระพุทธศาสนา 

แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ผู้แทนราษฎรของเราทำงานเพื่อกระเป๋าตัวเองและพวกพ้องเป็นส่วนมาก 

คิดถึงประโยชน์ของพระศาสนาน้อยที่สุด หรือพูดกันตามจริงก็คือ-ไม่ได้คิดถึงเลย

ความคิดที่จะออกกฎหมายเพื่ออุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาจึงไม่มี 

แต่จะตัดท่านเหล่านั้นทิ้งไป ก็คงไม่ใช่วิธีที่ฉลาดนัก ผมว่าเรายังเข้าไม่ถูกช่อง ลองไม่ถูกทางมากกว่า

(๒) ชาวพุทธส่วนหนึ่งซึ่งมีรากฐานไปจากวัด มีความพยายามที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยการตั้งพรรคการเมือง ตามทฤษฎีที่ว่า-ต้องมีคนของเราเข้าไปนั่งในสภา จึงจะมีโอกาสเสนอกฎหมายเพื่ออุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาได้

แต่การดำเนินการทางการเมืองของท่านเหล่านั้นก็อุปมาได้กับเด็กอนุบาลเมื่อเทียบกับนักการเมืองอาชีพ 

อันนี้ไม่ว่ากัน เพราะเราไม่ใช่มืออาชีพในด้านนี้อยู่แล้ว แต่ควรให้กำลังใจกันต่อไป 

(๓) ที่น่าสังเกตก็คือ คณะสงฆ์

คณะสงฆ์เป็นคณะที่มีพลังทางสังคมมากๆ 

แต่ท่านก็ไม่ช่วย ไม่ขยับอะไรทั้งสิ้น 

ท่านปล่อยให้มีพระภิกษุสามเณรประพฤติเลอะเทอะ เป็นข่าวเสื่อมเสียอยู่เนืองๆ แบบนั้นท่านทำ 

แต่จะให้พระภิกษุสามเณรลงมาช่วยหนุนคนวัดเข้าสภา ท่านไม่ทำ อ้างว่าจะเป็นการเสื่อมเสีย

สรุปก็คือ ในกระบวนการออกกฎหมายเพื่ออุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เราไม่มีกำลังสนับสนุน และไม่ได้เตรียมกำลังไว้สนับสนุนด้วยประการใดๆ เลย

นี่คือความประมาทและขาดวิสัยทัศน์อย่างแท้จริง 

เราเสวยบุญเก่ากันเพลิน จนลืมสร้างบุญใหม่ 

ผมเชื่อว่า วันเวลาที่จะหมดบุญกำลังใกล้เข้ามา

แต่เราก็ยังไม่รู้สึกตัว 

สังเกตได้จาก-ไม่มีผู้บริหารการพระศาสนาระดับไหนเตรียมตัว หรือแม้แต่ไหวตัวใดๆ ทั้งสิ้น 

ยกเว้นการเตรียมอพยพเอาพระพุทธศาสนาไปไว้ที่ดินแดนอื่น ซึ่งได้ทำกันมาก่อนแล้วค่อนข้างนานพอสมควร 

ถ้าเป็นยุทธสงคราม ก็ดูท่าทีว่าเรากำลังเตรียมที่จะทิ้งค่ายกันแล้ว

การมี “ที่ใหม่” ทำให้ความตั้งใจที่จะรักษา “ที่มั่น” แผ่วลง 

คนที่คิดว่า “เราถอยไม่ได้อีกแล้ว” ไม่ทราบว่ายังมีเหลืออยู่กี่คน 

——————

พระพุทธศาสนาในเมืองไทยยังไม่ล่มสลายวันนี้พรุ่งนี้หรอกครับ อย่าเพิ่งตกใจ 

เรายังมีเวลาคิดอ่านรักษาที่มั่นแห่งนี้ได้ทันอยู่ 

แต่ต้องเลิกประมาท 

และต้องมีอุดมคติ มีอุดมการณ์ ที่เรียกเป็นคำรวมว่า-มีความคิด

เวลานี้มีคนที่มีความคิดเสนอว่า ต้องให้พระภิกษุสามเณรมีสิทธิ์เลือกตั้ง เราจึงจะได้คนของเราเข้าสภา 

วิธีนี้ล่อแหลมมาก-ถึงมากที่สุด

เพราะเป็นการเริ่มต้นทำลายระบบวิถีชีวิตสงฆ์ 

ซึ่งก็คือ-การทำลายตัวเอง

ถ้าพระภิกษุสามเณรมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ 

พระภิกษุสามเณรก็ใกล้จะเป็นชาวบ้านมากขึ้น 

พระพุทธศาสนามีระบบวิถีชีวิตสงฆ์ ก็เพื่อเสนอทางเลือกให้สังคม 

ถ้อยคำภาษาที่คุ้นกันดีก็มีอยู่ นั่นคือ —

อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชิตา …

จากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือน 

พระภิกษุสามเณรทำอะไรได้เหมือนชาวบ้านมากเข้าเท่าไร ความเป็นผู้ไม่มีเรือนก็มีน้อยลงเท่านั้น 

เท่ากับเร่งให้สังคมรู้สึกมากขึ้นว่า พระเณรทำอย่างนี้ก็เหมือนชาวบ้าน แล้วจะต้องบวชทำไม 

นั่นคืออวสานคุณค่าแห่งเพศบรรพชิต

แม้จะยังนุ่งสบงทรงจีวรอยู่ แต่คุณค่าของสมณเพศก็ไม่เหลือ

เป็นการฆ่าตัวตายอย่างสมบูรณ์แบบ

เพราะฉะนั้น ขอความกรุณาอย่าเลือกใช้วิธีนี้เลยนะครับ 

ลองช่วยกันหาวิธีอื่นเถอะ 

——————

ผมมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์อยู่หน่อยหนึ่ง นั่นคือมหาวิทยาลัยสงฆ์ – มจร มมร 

สมัยเป็นพระหนุ่มเณรน้อย อยู่ในยุคสมัยที่พระเณรถูกมองอย่างดูถูก โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาอย่างใหม่จากเมืองฝรั่ง

คนพวกนั้นมองพระเณรว่าเป็นพวกโง่ๆ เซ่อๆ เป็นตัวตลก ไม่ทันโลก-โดยเฉพาะโลก civilized แบบตะวันตกที่เขาไปชุบตัวมา 

คำดูถูกว่า “พวกไม่ทันโลก” นี้ ผมนับถือท่านอาจารย์นาวาเอก ธัญนพ ผิวเผือก อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กองทัพเรือ 

ท่าน “ศอกกลับ” หรือตอกหน้าคนจำพวกนั้นไปว่า โลกไหน? ที่คุณว่าพวกผมไม่ทันโลกน่ะโลกไหน คุณว่าผมไม่ทันโลกของคุณ คุณเองก็ไม่ทันโลกของพวกผม 

พวกนั้นไม่กล้าดูถูกอีกเลย 

แต่ที่ทำให้สังคมไม่กล้าดูถูกพระเณรได้เด็ดขาดก็คือ มจร มมร 

สถาบันทั้งสองแห่งนี้ทำให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ทัดเทียมกับพวกหัวสมัยใหม่ 

ในความรู้สึกของผมในเวลานั้น มจร มมร เป็นความหวังของคณะสงฆ์ในการที่จะสร้างพระเณรรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทันโลกที่เคยถูกดูถูกว่า-ไม่ทัน 

เป็นความหวังของพระศาสนาในฐานะ-ผู้ที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนแทนพระเณรรุ่นเก่า

แต่ ณ วันนี้ ผมรู้สึกค่อนข้างผิดหวัง เพราะเห็นว่า มจร มมร กำลังแล่นไปผิดท่า 

วัตถุประสงค์เดิมของสถาบันทั้งสองแห่งนี้ก็คือ สร้างพระภิกษุสามเณรที่มีความรู้ทัดเทียมกับชาวโลก 

แต่ ณ เวลานี้ มจร มมร กำลังสร้างผู้มีความรู้เหมือนชาวโลกที่เป็นพระภิกษุสามเณร 

พูดให้ชัดกว่านี้ก็ได้  

เวลานี้ มจร มมร กำลังผลิตคนที่มีความรู้เหมือนชาวโลกส่งให้สังคม แต่ไม่ได้ผลิตพระภิกษุสามเณรที่มีความรู้ทัดเทียมกับชาวโลกส่งให้พระศาสนา

ชาว มจร มมร ใจเย็นๆ นะขอรับ 

อย่าเพิ่ง “เอ๊ะ” หรือ “บ๊ะ” ใส่กระผม 

ความหมายในคำพูดของกระผมก็คือ มหาวิทยาลัยทางโลกเขาผลิตคนชนิดไรให้สังคม มจร มมร ก็ผลิตคนชนิดเช่นนั้นให้สังคม อาจจะพิเศษหน่อยตรงที่ผลิตในบรรยากาศของศาสนา แต่ปลายทางก็คือ-ส่งออกสู่สังคมเหมือนเขานั่นเอง เพราะเป็นสินค้าตัวเดียวกัน 

แต่ มจร มมร ไม่ได้ผลิต “กำลังพล” (ศัพท์ทางทหาร) ที่พระศาสนาต้องการส่งให้พระศาสนา 

ตรงนี้คือสิ่งที่กระผมต้องการจะสื่อ 

ที่กระผมบอกว่า-มองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ก็มองเห็นจากจุดนี้เอง 

ฟังเรื่องเทียบนะขอรับ

กองทัพบกมีโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

กองทัพเรือมีโรงเรียนนายเรือ

กองทัพอากาศมีโรงเรียนนายเรืออากาศ 

สถาบันทั้ง ๓ แห่งนี้ ผลิต “กำลังพล” ที่กองทัพต้องการส่งให้กองทัพ 

นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเหล่านี้ ออกไปเป็นนายทหารสัญญาบัตร เข้าสู่สายงานต่างๆ ในกองทัพ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกองทัพไปสู่เป้าหมายที่กำหนด จะป้องกันประเทศหรือจะพัฒนาประเทศ ก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นกำลังพลที่มีคุณภาพเต็มตามมาตรฐาน 

มจร มมร ทำหน้าที่ผลิต “กำลังพล” ส่งให้พระศาสนาแบบเดียวกันนี้หรือเปล่า? 

เปล่า 

แต่ผลิตส่งให้สังคม ซึ่งก็เป็นเรื่องดี ไม่ได้เสียหายอะไรเลย 

แต่พระศาสนาได้ประโยชน์จาก มจร มมร น้อยอย่างยิ่ง 

ถ้า มจร มมร จะกรุณาทบทวนบทบาทเสียใหม่ แน่นอนควรจะต้องเป็นการทบทวนอย่างขนานใหญ่ อาจถึงระดับ re-engineering กันเลย

นั่นคือ แทนที่จะผลิตพระเณรที่มีความรู้เหมือนทางโลกส่งให้สังคม ก็หันมาผลิตพระเณรที่มีความรู้ความสามารถตามที่พระศาสนาต้องการส่งให้พระศาสนา 

จะยังคงผลิตส่งให้สังคมต่อไปก็ได้ แต่ควรหันมาเน้นหนัก-ผลิตส่งให้พระศาสนา 

คำว่า “ส่งให้พระศาสนา” ในที่นี้ต้องไม่ใช้เหตุผลแบบที่เรามักจะแก้ต่างแทนให้กัน 

คือเรามักจะอธิบายว่า ผลผลิตของ มจร มมร แม้จะส่งออกสู่สังคม แต่บุคคลเหล่านั้นก็ย่อมเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม 

เป็นอย่างที่ว่า-

อยู่ก็เป็นศรีพระศาสนา

ลาสิกขาก็เป็นศรีสังคม 

นั่นเท่ากับเป็นกำลังของพระศาสนาอยู่แล้วในตัว 

ไม่เอาเหตุผลแบบนี้ครับ 

ต้องเป็นการผลิตกำลังพลที่พระศาสนาต้องการ แล้วส่งให้พระศาสนาโดยตรง 

ตัวอย่างเช่น คณะสงฆ์ต้องการ “เจ้าคณะอำเภอ” ๕๐๐ รูป มีความรู้ความสามารถเต็มตามมาตรฐานพระสังฆาธิการที่มีคุณภาพ 

คณะสงฆ์แจ้งความต้องการนี้ไปยัง มจร มมร 

มจร มมร รับนโยบายไปวางแผนผลิต 

๔ ปี หรือ ๕ ปี จบการศึกษา ส่งผลผลิตให้คณะสงฆ์ 

คณะสงฆ์ “บรรจุ” (ศัพท์ทางราชการ) ผู้จบการศึกษาเหล่านี้ลงในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ 

จบภารกิจของ มจร มมร – เฉพาะงานผลิตเจ้าคณะอำเภอ 

ผลิตกำลังพลสายไหนอีก ก็ว่ากันไปอีก 

แบบนี้ครับ คือพันธกิจของ มจร มมร 

แบบที่-จับเอาเจ้าคณะพระสังฆาธิการเก่าๆ เดิมๆ มาเข้าหลักสูตรพักหนึ่ง ให้ประกาศนียบัตร แล้วกลับไปเป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการด้วยบุคลิกเดิม

เลิกกันที 

ทำได้หรือไม่ 

แน่นอน ผู้ที่จะทำงานนี้ได้ต้องมีทุนสำคัญคือ อุดมคติ อุดมการณ์ อุทิศชีวิตเพื่อรับใช้พระศาสนา 

เราเป็นอย่างนั้นกันได้หรือเปล่า?

เราตั้ง มจร มมร ขึ้นมาเพื่อจะเป็นเหมือนเขา

หรือว่า-เรายังคงเป็นเรา แต่เป็นเราที่มีความรู้ทัดเทียมเขา 

ตรงนี้แหละจะเป็นการทดสอบ หรือ “วัดกึ๋น” กันละ 

——————

แต่ถ้าเกิดมีคนลุกขึ้นมาบอกว่า โอย ทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก เราเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะจัดการเรียนการสอนอะไรอย่างไรตามใจชอบไม่ได้ รัฐต้องไฟเขียวเราจึงจะทำได้ 

ถ้าเป็นอย่างนี้ก็กรรมของพระศาสนา 

แล้วถ้าผู้ได้อำนาจรัฐเป็นคนละฝ่ายกับพระพุทธศาสนาด้วยละก็ คราวนี้กำไม่ต้องแบกันละ 

เราตั้งมหาวิทยาลัยของเราขึ้นมาแทบล้มประดาตาย แต่ไปๆ มาๆ เอาไปยกให้รัฐเฉยเลย 

แต่ถ้าไม่ได้เป็นอย่างที่ว่า 

เรายังมีอำนาจมีสิทธิ์ขาดโดยสมบูรณ์ จะจัดการเรียนการสอนอะไรอย่างไรขึ้นอยู่กับเรา รัฐมีหน้าที่อนุมัติตามเราและสนับสนุนเราลูกเดียว ไม่มีอำนาจขัดขวาง

ถ้าเป็นอย่างนี้ แสงสว่างปลายอุโมงค์ก็ยังพอมีความหวัง

——————

ถ้าอำนาจสิทธิ์ขาดเป็นของเราอย่างที่ว่า คราวนี้ สมมุติว่า (ไม่ต้องสมมุติก็ได้ เพราะเป็นเรื่องจริง) พระศาสนาต้องการกำลังพลที่จะส่งเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายเพื่ออุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา 

มจร มมร ก็รับนโยบายมาศึกษาวิจัยสิครับว่าจะวางแผนผลิตอย่างไร 

เริ่มจาก-จะได้คนมาจากแหล่งไหน 

กำลังพลทุกสายงานที่ มจร มมร จะผลิตส่งให้พระศาสนาต้องมีแหล่งที่มา ไม่ใช่นั่งรอให้มาเองตามบุญตามกรรมตามศรัทธาอย่างในอดีต 

ความจริง วิธีการอย่างนี้ศาสนาคริสต์เขาทำมานานแล้ว เขามีแหล่งผลิตบาทหลวง แหล่งผลิตผู้เตรียมตัวเป็นบาทหลวงต่อเนื่องยาวนาน 

ไม่ได้นั่งรอให้พระเจ้าส่งลงมาให้-เหมือนเรา 

ของเรา แล้วแต่บุญแต่กรรม แล้วแต่ศรัทธาจะชักนำมา

ตั้งใจบวชหน้าไฟแค่ ๗ วัน แต่อยู่มาจนได้เป็นสมเด็จ – ก็บุญชักมา 

กำลังพลของเราล้วนได้มาตามบุญตามกรรมแบบนี้ทั้งสิ้น

ที่จะได้มาด้วยการตั้งใจสร้างตั้งใจผลิต พูดได้ว่า-ไม่มี 

แล้วเราก็บอกกันว่า ถ้าไม่ใช่บุญของเรา ทำยังไงเขาก็ไม่มา แต่ถ้าเป็นบุญของเรา ถึงเวลาเขาก็มาเอง 

แล้วเราก็นั่งรอบุญกันต่อไป-ราวกับว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเราทรงสอนให้ทำอย่างนี้

ระบบ-รอบุญมาเอง ต้องเลิกนะครับ ไม่งั้นเราหมดตัว

ต้องเริ่มระบบสร้างทายาท และต้องทำอย่างเป็นหน้าที่เป็นงานหลักของพวกเรา 

ผมนึกถึงวัดที่ระดมพระเณรมาอยู่มาเรียนบาลีได้เป็นร้อยๆ – อย่างวัดโมลีโลกยาราม 

ท่านทำได้ยังไง? 

พระเดชพระคุณท่านเจ้าอาวาสท่านบริหารจัดการเองด้วยบุคลิกส่วนตัว ด้วยความสามารถส่วนตัวล้วนๆ 

คณะสงฆ์ไม่ได้ช่วยเลยแม้แต่บาตรเดียว ได้แต่นั่งมอง – ถ้ากระผมเข้าใจผิด กราบขอประทานอภัย

การหาคน สร้างคน เตรียมคน เพื่อรับช่วงสืบทอดงานพระศาสนา เป็นงานที่ผู้บริหารการพระศาสนาของเราไม่เคยคิดจะทำ 

ปล่อยให้แต่ละวัดทำกันไปแล้วแต่ใครจะคิด 

ต้องตื่นได้แล้วนะขอรับ ไม่งั้นเราหมดตัวแน่

——————

ขอแทรกเรื่องที่ได้ฟังมา เท็จจริงไม่รับรอง โปรดฟังไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้น 

มีผู้บอกว่า สามเณรที่เราเห็นมาเรียนนักธรรมบาลีอยู่ตามสำนักต่างๆ ที่เจ้าอาวาสเจ้าสำนักท่านเอาใจใส่บริหารจัดการขึ้นมานั้น กว่าจะเอามาบวชได้ไม่ใช่ได้มาฟรีๆ 

ทางบ้านทางครอบครัวเรียกร้องค่าตอบแทนเป็นรายปี ปีละหลายเงิน 

เอาลูกฉันไปบวช ต้องจ่ายให้ฉัน – เหมือนกับจะอธิบายว่า ถ้าลูกอยู่บ้าน ยังจะได้ใช้งานทำงานหาเงินได้ เมื่อเอาไปบวชก็ต้องจ่ายค่าชดเชย ปีละเท่าไรก็แล้วแต่จะตกลงกัน 

เมื่อก่อนขายได้แต่ลูกสาว

เดี๋ยวนี้ลูกชายก็ขายได้

ถ้าเรื่องเช่นนี้เป็นความจริง ก็ต้องนับว่าเป็นกรรมอีกอย่างหนึ่งของพระศาสนา 

ใครจะคิดอ่านประการไร ก็จงเร่งคิดกันเข้าเถิด 

อย่างไรก็ตาม ผมนึกถึงเรื่องพระนาคเสนในคัมภีร์มิลินทปัญหา 

พระนาคเสนเป็นลูกของตระกูลที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ไม่นับถือเฉยๆ แต่ออกจะมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์เอาด้วย 

คณะสงฆ์ในเวลาโน้นลงทัณฑกรรมพระเถระรูปหนึ่งที่ไม่มาประชุมด้วยกิจของสงฆ์ โดยการสั่งให้ไปเอาตัวเด็กคนนั้นมาบวช ใช้วิธีการอะไรอย่างไรก็เชิญตามสบาย เอาเด็ก (ซึ่งตอนนั้นดูเหมือนจะยังไม่เกิดด้วยซ้ำ) มาบวชให้จงได้ก็แล้วกัน ทำสำเร็จจึงจะพ้นโทษ 

พระเถระที่ถูกสงฆ์ลงทัณฑกรรมใช้ความพยายามและอดทนอย่างยิ่งยวด 

เฉพาะไปยืนบิณฑบาตที่ประตูบ้านนั้นโดยไม่มีใครใส่บาตรเลย ใช้เวลาถึง ๗ ปี 

ในที่สุดท่านก็เอาตัวเด็กคนนั้นมาบวชได้สำเร็จ โดยไม่ต้องเสียเงิน “แม้แต่แดงเดียว”

ซึ่งต่อมา เด็กคนนั้น-คือพระนาคเสน-ก็ได้เป็นกำลังสำคัญรักษาพระศาสนาจากการข่มขี่ของพญามิลินท์-กษัตริย์นอกศาสนาที่เป็นปฏิปักษ์กับพระพุทธศาสนาอย่างร้ายกาจ-ไว้ได้ ทำให้พญามิลินท์เปลี่ยนใจหันมานับถือพระพุทธศาสนาถึงกับออกบวชในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพ

เป็นการลงทุนทำงานที่สุดคุ้ม 

เราต้องทำงานแบบนี้กันแล้วนะครับ – ขอพูดซ้ำคำเดิม – ไม่งั้นเราหมดตัวแน่

——————

ตรงนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ท้าทายความสามารถ และท้าทายศรัทธาว่าใครบ้างที่อุทิศชีวิตให้พระศาสนา 

และใครบ้างที่เพียงอาศัยพระศาสนา 

ทุกอย่างล้วน “วัดกึ๋น” ของพวกเราได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะบรรดาท่านที่มีหน้าที่มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับต่างๆ อยู่ใน มจร มมร เวลานี้ 

พิสูจน์ว่าท่านสามารถทำงานทำหน้าที่รับใช้พระศาสนาได้จริง และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย 

หรือว่า-ที่แท้แล้ว ท่านก็เป็นเหมือน “ข้าราชการ” หรือ “พนักงานของรัฐ” คนหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาทั่วไปของรัฐ 

เพียงแต่แต่งเครื่องแบบต่างกันเท่านั้น

กระผมไม่ได้พูดแรง แต่ต้องการให้คิดกันแรงๆ เพราะงานเช่นนี้คิดเบาๆ ทำไม่สำเร็จ 

แต่อย่างไรก็ตาม ขอแค่ให้มีความคิดอยู่บ้างก็เอาเถอะ

เบาหรือแรง ค่อยมาปรับกันทีหลังได้ 

เกรงแต่ว่า-แค่คิดก็ยังไม่มี 

ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ผมเห็น ก็เป็นแค่ภาพลวงตา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

๑๖:๕๒

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *