วันทยาวุธ (บาลีวันละคำ 1,845)
วันทยาวุธ
อาวุธไม่ใช่เครื่องมือทำร้ายเสมอไป
อ่านว่า วัน-ทะ-ยา-วุด
แยกศัพท์เป็น วันทย + อาวุธ
(๑) “วันทย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วันทย– : (คำวิเศษณ์) ควรไหว้, ควรนอบนบ. (ส.).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “วันทย” เป็นรูปคำสันสกฤต แต่ใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้เก็บรูปศัพท์ “วนฺทย” ไว้
ในบาลีมีศัพท์ที่ใกล้เคียง คือ “วนฺทนีย” (วัน-ทะ-นี-ยะ) รากศัพท์มาจาก วนฺทฺ (ธาตุ = ไหว้, กราบ, สรรเสริญ) + อนีย ปัจจัย
: วนฺทฺ + อนีย = วนฺทนีย แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาพึงไหว้”
“วันทย” ศัพท์นี้ถ้าเขียนเทียบบาลี ก็น่าจะเป็น “วนฺทิ” (วัน-ทิ) รากศัพท์มาจาก วนฺทฺ (ธาตุ = ไหว้, กราบ, สรรเสริญ) + อิ ปัจจัย
: วนฺทฺ + อิ = วนฺทิ แปลตามศัพท์ว่า “การไหว้”
วนฺทิ + อาวุธ แปลง อิ ที่ ทิ เป็น ย : วนฺทิ > วนฺทย +
โปรดทราบว่านี่เป็นการอธิบายแบบลากเข้าบาลี เพราะในบาลียังไม่พบศัพท์เช่นนี้
(๒) “อาวุธ”
บาลีอ่านว่า อา-วุ-ทะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ยุธ (ธาตุ = รบ, ต่อสู้) + อ ปัจจัย แปลง ย เป็น ว
: อา + ยุธ > วุธ + อ = อาวุธ
มีสูตรแสดงความหมายของศัพท์ว่า “อาทาย ยุชฺฌนฺเต ยนฺติ อาวุธํ” (อาทายะ ยุชฌันเต ยันติ อาวุธัง) แปลว่า “คนทั้งหลายถือเอาสิ่งใดไปรบกัน สิ่งนั้นชื่อว่า อาวุธ”
“อาวุธ” จึงแปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่คนถือเอาไปรบกัน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาวุธ” ว่า an instrument to fight with, a weapon, stick etc. (เครื่องมือสำหรับต่อสู้, อาวุธ, ไม้พลอง ฯลฯ)
อีกรูปหนึ่งของ “อาวุธ” คือ “อายุธ” ซึ่งพ้องกับรูปสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อายุธ : (คำนาม) อาวุธทั่วไป (ไม่จำกัดประเภท) ; a weapon (in general)”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาวุธ : เครื่องมือที่ใช้ในการทำร้าย ทำลาย ป้องกัน ต่อสู้ หรือฆ่า; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ใช้ปัญญาเป็นอาวุธ. (ป. อาวุธ, อายุธ; ส. อายุธ)”
วันทย + อาวุธ = วันทยาวุธ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วันทยาวุธ : (คำนาม) ท่าเคารพด้วยอาวุธของทหาร ตํารวจ ลูกเสือ เป็นต้น ที่แต่งเครื่องแบบ สวมหมวก และถืออาวุธอยู่กับที่.”
…………..
ขยายความ :
ทหารที่ถือปืนยาวเป็นอาวุธ เมื่อแสดงความเคารพด้วยอาวุธ (วันทยาวุธ) จะจับปืนยื่นไปข้างหน้า ตั้งปากกระบอกปืนขึ้นฟ้า คือชูอาวุธให้เห็น เป็นกิริยาที่แสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้อยู่ในท่าที่จะใช้อาวุธนั้นทำอันตรายต่อผู้นั้น
การทำความเคารพด้วยอาวุธตามกิริยาเช่นนี้ พอเทียบได้กับการยิงสลุตของเรือรบเมื่อไปเทียบท่าเมืองอื่น นั่นคือยิงกระสุนที่บรรจุอยู่ในปืนทิ้ง เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้ใช้ปืนทำอันตรายต่อเจ้าของท่า
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อาวุธอาจบังคับให้คนทำความเคารพได้
: แต่ไม่อาจบังคับหัวใจให้นับถือ
28-6-60