จีรังยั่งยืน (บาลีวันละคำ 1,264)
รังยั่งยืน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จีรัง : (คำวิเศษณ์) นาน, ยาวนาน, มักใช้เข้าคู่กับคำ ยั่งยืน เป็น จีรังยั่งยืน เช่น สังขารไม่จีรังยั่งยืน.”
พจน.54 ไม่ได้บอกว่า “จีรัง” เป็นภาษาอะไร
ใน พจน.54 นอกจากคำว่า “จีรัง” ก็ไม่มีคำอื่นอีกที่ขึ้นต้นว่า จีร– แต่มีคำว่า “จิร” บอกไว้ว่า –
(1) จิร– : (คำวิเศษณ์) นาน, ช้า. (ป., ส.).
(2) จิรกาล : (คำนาม) กาลนาน, เวลาช้านาน.
(3) จิรัฐิติกาล : (คำนาม) เวลายั่งยืน, เวลาที่ตั้งอยู่นาน.
ในบาลีมีคำว่า “จิร” อ่านว่า จิ-ระ แปลว่า เวลานาน (long time)
และมีคำว่า “จีร” (จี-ระ) ไม่ได้แปลว่า เวลานาน แต่แปลว่า เปลือกไม้, เส้นใย (bark, fibre)
“จิร” (เวลานาน) ในบาลีแจกรูปตามวิภัตติได้ เท่าที่พบบ่อยมักเป็น –
จิเรน (จิ-เร-นะ) แปลว่า โดยกาลนาน
จิรสฺส (จิ-รัด-สะ) แปลว่า ต่อกาลนาน
จิรํ (จิ-รัง) แปลว่า สิ้นกาลนาน, ตลอดเวลายาวนาน
เข้าใจว่า “จิรํ” นี่เองที่เราเอามาใช้ในภาษาไทย และเอาวิภัตติในคำเดิมติดมาด้วย แต่กลายเสียงจาก “จิรัง” เป็น “จีรัง”
ความจริงคำนี้เวลาออกเสียง อาจฟังเป็น “จีรัง” ก็ได้ เป็น “จิรัง” ก็ได้ พจนานุกรมน่าจะเก็บไว้ทั้งสองรูป
“จีรัง” บาลีเป็น “จิรํ” แปลว่า ตลอดเวลายาวนาน
“ยั่งยืน” เป็นภาษาไทย หมายถึง คงทน ยืนยง คืออยู่ได้นาน หรืออยู่มานาน ก็ความหมายเดียวกับ จิรํ หรือ จีรัง นั่นเอง
“จีรังยั่งยืน” จึงเป็นคำที่มีทั้งคำศัพท์และคำแปลอยู่ด้วยกันในคำเดียวกัน
: เวลาทำมาหากิน ให้นึกว่าจะอยู่ได้ร้อยปี
: เวลาทำความดี ให้นึกว่าจะตายวันตายพรุ่ง
14-11-58