บาลีวันละคำ

วจีกรรม [2] (บาลีวันละคำ 2,140)

วจีกรรม [2]

ไม่ต้องเปิดปากก็ทำได้

อ่านว่า วะ-จี-กำ

แยกคำเป็น วจี + กรรม

(๑) “วจี

บาลีอ่านว่า วะ-จี รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วจฺ + = วจ + อี = วจี แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด, ถ้อยคำ (speech, words)

อีกคำหนึ่งที่มีความหมายอย่างเดียวกับ “วจี” คือ “วาจา” รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(จฺ) เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (วจฺ > วาจ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์

: วจฺ + = วจณ > วจ > วาจ + อา = วาจา แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)

(๒) “กรรม

บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

กรรม” ในแง่ภาษา –

1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย)

2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม

3- กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ” (the doing, deed, work)

กรรม” ในแง่ความหมาย –

1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม

2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม

3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม

4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม

กรรม” ในแง่ความเข้าใจ –

1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น

2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)

3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น

วจี + กมฺม = วจีกมฺม แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำทางวาจา” (verbal action) หมายถึง การกระทำด้วยคำพูด ในทางตรงข้ามกับการกระทำด้วยกายและใจ (deed performed by speech in contradistinction to deeds by the body or thought)

วจีกมฺม” ในภาษาไทยใช้เป็น “วจีกรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

วจีกรรม : (คำนาม) การพูด, การกระทําทางวาจา, เช่น การกล่าวเท็จเป็นการทำผิดทางวจีกรรม. (ป. วจีกมฺม).”

คำในชุดนี้มี ๓ คำ คือ –

(1) กายกรรม = กรรมที่ทำด้วย “การกระทำ” (bodily action)

(2) วจีกรรม = กรรมที่ทำด้วย “คำพูด” (verbal action)

(3) มโนกรรม = กรรมที่ทำด้วย “การคิด” (mental action)

ดูเพิ่มเติม : “วจีกรรม [1]” บาลีวันละคำ (1,934) 25-9-60

ขยายความ :

คนทั่วไปมักเข้าใจแต่เพียงว่า วจีกรรมก็คือการพูด คือใช้ปากเปล่งเสียงออกมาเป็นภาษา

แต่ความจริงวจีกรรมสามารถทำได้ 2 ทาง คือ –

(1) ทางวจีทวาร (speech as a door of action; speech-door) คือใช้ปากเปล่งเสียงออกมาเป็นภาษา

(2) ทางกายทวาร (the body-door; the channel of bodily action) คือใช้กิริยาอาการแทนคำพูด ที่เรียกกันว่า “ภาษาท่าทาง” เช่น พยักหน้า = รับ สั่นศีรษะ = ปฏิเสธ ชี้มือ โบกมือ ฯลฯ

แม้แต่การนิ่งเฉยไม่แสดงกิริยาอาการใดๆ เลย ก็อาจตีความได้ว่าเป็นการยอมรับ = นิ่งคือยอมรับ ก็จัดเป็น “วจีกรรม” แบบหนึ่ง

หรืออย่างที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน คือ “ภาษามือ” นี่ก็เป็น “วจีกรรม” ที่ทำทางกายทวาร

การเขียนหนังสือ การทำเครื่องหมายลายลักษณ์ต่างๆ แม้กระทั่งการวาดรูปก็จัดเป็น “วจีกรรม” ชนิดหนึ่งด้วยเช่นกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องสวรรค์นรก

: ก็ไม่เป็นเหตุให้การพูดโกหกกลายเป็นความดี

#บาลีวันละคำ (2,140)

22-4-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *