บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ไม่มีโอกาสไหนจะเหมาะเท่านี้อีกแล้ว

ไม่มีโอกาสไหนจะเหมาะเท่านี้อีกแล้ว

———————-

ปัญหาที่กำลังถกเถียงกันในหมู่ประชาชน-โดยเฉพาะชาวพุทธ-ในขณะนี้ก็คือ กรณีที่พระภิกษุสามเณรปฏิบัติการช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมด้วยรูปแบบและวิธีการที่-เหมือนกับชาวบ้านเขาทำกัน เช่น ลงเรือสวมชุดชูชีพ หุงข้าวต้มแกงเลี้ยงคน ฉุดลากแบกเข็นงานโยธา

มีผู้แสดงความเห็นว่า ถ้าถอดสบงจีวรออก แล้วสวมเสื้อนุ่งกางเกง ก็เป็นชาวบ้านเต็มตัว

ถกเถียงกันว่า การที่พระภิกษุสามเณรลงไปทำกิจเช่นนั้นสมควรหรือไม่ 

เมื่อประมวลความเห็น ก็มี ๒ ฝ่ายใหญ่ๆ คือ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่สมควร อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสมควร

จากนั้นก็ตะลุมบอนกันว่า ไม่สมควรอย่างไร และสมควรอย่างไร 

ล่อกันเละอยู่ตรงนั้น 

……………….

ผมมีข้อสังเกตที่อยากให้มองกันเป็นเบื้องต้น นั่นก็คือ ทั้งฝ่ายที่เห็นว่าไม่สมควรและฝ่ายที่เห็นว่าสมควร ล้วนแต่เอาความเห็นของตัวเองเป็นหลัก

นั่นเป็นจุดที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง 

หลักของเรื่องนี้ก็คือ – เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติของบุคคลในพระศาสนา ก็ต้องเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก

นั่นคือต้องเริ่มด้วยการศึกษาหลักพระธรรมวินัยก่อนเป็นเบื้องต้น

ซึ่งแทบจะไม่มีฝ่ายไหนทำ

เปิดฉากขึ้นมาก็-ผมเห็นว่า ฉันเห็นว่า 

พระธรรมวินัยว่าอย่างไร ไม่มีใครเอ่ยอ้าง 

……………….

คำก็พระธรรมวินัย สองคำก็พระธรรมวินัย อย่าเพิ่งรำคาญนะครับ 

มองภาพรวม-คือภาพจริง-ให้ออกก่อน 

พระพุทธศาสนาที่เรากำลังสัมผัสอยู่ ณ เวลานี้มีมาก่อนเราเกิดหลายสิบชั่วคน 

อย่างน้อยๆ ก็ ๒,๖๐๐ ปี 

เราไม่ใช่คนแรกที่เพิ่งมาเจอ 

แต่มีคนเจอมาก่อนเราแล้วหลายสิบชั่วคน 

ท่านเหล่านั้นเจออะไรมาบ้าง ท่านก็บอกกล่าวไว้ แล้วก็บันทึกไว้ ที่เราเรียกกันเป็นคำรวมว่า พระไตรปิฎก หมายถึงคัมภีร์ต่างๆ 

แล้วศึกษาสืบทอดปฏิบัติต่อๆ มา 

รู้กันในนามว่า “พระธรรมวินัย” 

เนื้อหาหลักๆ ของพระธรรมวินัยมี ๒ ส่วน คือ 

๑ สิ่งที่ห้ามทำ 

๒ สิ่งที่ต้องทำ 

อนึ่ง ชาวพุทธเราเมื่อเกิดมาก็เป็นชาวบ้าน ไม่ได้เป็นพระภิกษุสามเณรมาตั้งแต่เกิด 

ต่อมาจึงสมัครเข้ามาเป็นพระภิกษุสามเณร 

กฎสากลมีอยู่ว่า ใครสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกของสังคมสมาคมใด ต้องปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทของสังคมสมาคมนั้น

สมัครเข้าไปแล้ว ไม่พอใจจะอยู่ ก็ลาออกไปได้ 

สมัครเข้าไปแล้ว ปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทของสังคมสมาคมนั้นไม่ได้ ก็ลาออกไป 

จะถือสิทธิ์อยู่เป็นสมาชิกไปด้วย และไม่ปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทของสังคมสมาคมนั้นไปด้วย หาชอบไม่

กฎกติกามารยาทของสังคมชาวพุทธก็คือพระธรรมวินัย

มองภาพให้ตรงกันก่อนนะครับ 

……………….

ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ก็คือ ผู้ที่สมัครเข้าไปเป็นสมาชิกของสังคมสงฆ์ –

ไปทำอะไรเข้าอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่เข้าใจกันว่า “ห้ามทำ” แล้วบอกกันว่าทำได้ ไม่ผิด ไม่เสียหายอะไร

งดการกระทำอะไรบางอย่างหรือหลายอย่างที่เข้าใจกันว่า “ต้องทำ” แล้วบอกกันว่าไม่ทำก็ได้ ไม่ผิด ไม่เสียหายอะไร

เงื่อนปมของปัญหาอยู่ตรงที่ว่า – 

อะไรที่ไปทำเข้านั้นเป็นสิ่งที่ “ห้ามทำ” จริงๆ หรือ 

และอะไรที่งด ที่ไม่ทำนั้น เป็นสิ่งที่กำหนดให้ “ต้องทำ” จริงๆ หรือ

จุดผิดพลาดอยู่ตรงที่-แทบทุกคนเอาความเห็นของตัวเป็นหลักในการคิดหาคำตอบ แทบไม่มีใครพูดถึงพระธรรมวินัย

ขั้นตอนการศึกษาพระธรรมวินัยที่ท่านวางเป็นหลักไว้มีดังนี้ – 

๑ ศึกษาหลักคำสอนชั้นต้นก่อน นั่นคือตรวจสอบดูว่าในพระบาลีหรือพระไตรปิฎกแสดงเรื่องนั้นๆ ไว้อย่างไร 

๒ ต่อจากนั้นดูไปที่คัมภีร์ชั้นรองๆ ลงมา ที่เรียกว่าอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ดูว่าท่านอธิบายเรื่องนั้นๆ ไว้อย่างไร 

๓ ดูต่อไปอีกว่าเรื่องนั้นๆ อาจารย์แต่ปางก่อนท่านมีมติไว้อย่างไร 

๔ สุดท้ายจึงมาถึงความเห็นของเรา เรื่องนั้นๆ ประเด็นนั้นๆ เรามีความเห็นว่าอย่างไร 

ที่เกิดขึ้นเวลานี้ก็คือ-โผล่ขึ้นมาก็ประกาศเลยว่า – 

เรื่องนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าทำได้ ไม่ผิด 

เรื่องนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าทำไม่ได้ ผิด 

กฎกติกามารยาทของสังคมสงฆ์ จะคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง แล้วทำหรือไม่ทำไปตามความพอใจของตัวเอง หาชอบไม่

ร้อยคนก็ร้อยความเข้าใจ หาข้อยูติเป็นรอยเดียวกันไม่ได้

จึงต้องยึดตามขั้นตอนการศึกษาที่ท่านวางลำดับเอาไว้แล้ว 

ถ้ากรณีใด ทำตามขั้นตอนแล้วก็ยังหาข้อยุติไม่ได้จริงๆ ก็ต้องทำสิ่งที่เรียกว่า ประกาศมติของหมู่คณะ คือตกลงกันว่ากรณีนั้นเรื่องนั้นให้ปฏิบัติอย่างนี้ๆ 

แต่ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ หรือต่างคณะก็ต่างทำ 

เมื่อทำด้วยมติหมู่คณะ-ซึ่งในที่นี้หมายถึงมติของคณะสงฆ์-ก็เป็นอันยุติ

ใครจะเห็นด้วยหรือใครจะไม่เห็นด้วย ก็ไปว่ากันในระดับคณะสงฆ์

ไม่ต้องมาตะลุมบอนกันเป็นกลุ่มๆ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้

สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ กลายเป็นว่าต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ต่างคณะก็ต่างทำ 

ใครเห็นด้วยก็ชม

ใครไม่เห็นด้วยก็ด่า 

เข้าล็อกที่ว่า-ชาวพุทธทะเลาะกันเอง

……………….

ผมได้เสนอแนะคณะสงฆ์มาตลอดเวลาว่า ขอให้ตั้งหน่วยงานทางวิชาการขึ้นมาสักหน่วยหนึ่ง 

จะใช้ชื่อว่า กองวิชาการพระพุทธศาสนา หรือกองวิชาการคณะสงฆ์ หรือชื่ออะไรก็ว่ากันไป 

แต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะหรือรองสมเด็จพระราชาคณะสักรูปหนึ่งเป็นแม่กอง 

ระดมพระสงฆ์ทรงคุณวุฒิทางพระธรรมวินัยเข้ามาเป็นคณะทำงาน จะขอแรงฆราวาสที่เป็นเปรียญมาช่วยงานด้วยก็ได้ 

หน่วยงานนี้มีหน้าที่ศึกษาปัญหาทั้งปวงอันเกี่ยวด้วยพระธรรมวินัย ค้นคว้าพระคัมภีร์พระบาลีพระไตรปิฎกลงมาจนถึงอาจริยมติ ประมวลเข้าไว้เป็นองค์ความรู้และแนวการปฏิบัติ แล้วประกาศเป็นมติคณะสงฆ์ไทยว่า เรื่องอย่างนี้ๆ คณะสงฆ์ไทยมีมติให้ปฏิบัติอย่างนี้ๆ ห้ามปฏิบัติอย่างโน้นๆ 

ตลอดจนประชาชนทั้งหลายสงสัยเรื่องอะไรอย่างไรอันเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หน่วยงานนี้จะทำหน้าที่รวบรวมปัญหาข้อสงสัยนั้นๆ มา แล้วศึกษาค้นคว้าหาคำตอบที่ยุติเป็นแนวเดียวกัน 

ไม่ใช่ตอบกันไปเป็นร้อยพ่อพันแม่ ไม่รู้จะเชื่อใครดี 

กองวิชาการพระพุทธศาสนา หรือกองวิชาการคณะสงฆ์นี้จะมีงานทำทั้งปี ไม่ใช่ทำหน้าที่จัดสอบปีละครั้งเหมือนกองบาลีและกองธรรม (สอบเสร็จก็ว่างงานไปอีกเกือบจะทั้งปี) 

การตั้งกองวิชาการฯ ขึ้นมานี้ แทบจะไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน 

บุคลากร – คณะสงฆ์มีอยู่พร้อมแล้ว

สถานที่ – เลือกเอาวัดแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งก็มีพร้อมอยู่แล้ว 

อุปกรณ์และค่าใช้จ่ายประจำวัน – แรกๆ อาจต้องใช้งบประมาณบ้าง แต่ถ้ามอบหมายงานให้พระที่เก่งในทางหาทุน (พระที่มีคุณสมบัติเช่นนี้หาได้ไม่ยาก) เป็นผู้รับผิดชอบ ผู้คนจะแห่กันมาสนับสนุนอย่างเหลือล้น

ค่าภัตตาหารประจำวันสำหรับพระที่เป็นคณะทำงาน 

ค่านิตยภัต 

ค่าน้ำ ค่าไฟ 

ค่าอุปกรณ์สำนักงาน

ฯลฯ

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ รับรองว่าจะมีเจ้าภาพตลอดปี ไม่มีขาดแคลน

ขออย่างเดียว ให้เขารู้เถอะว่ามีคนตั้งใจทำงานเพื่อพระศาสนาจริงๆ

และที่สำคัญที่สุด ขออย่างเดียว ขอให้มี “ความคิด” ที่จะทำงานกันบ้างเถิด 

ถ้ามีกองวิชาการฯ ที่ว่านี้ ชาวพุทธก็จะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกันเองว่า อย่างนั้นพระทำได้ อย่างนี้พระทำไม่ได้ 

กองวิชาการฯ จะทำหน้าที่ยุติปัญหา

อะไรพระทำได้ 

อะไรพระทำไม่ได้ 

คณะสงฆ์ไทยมีคำตอบที่ชอบด้วยพระธรรมวินัยไว้ให้พร้อมเสมอ 

ไม่ต้องเถียงกัน

ไม่มีโอกาสไหนจะเหมาะเท่านี้อีกแล้วที่คณะสงฆ์จะตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา

จะต้องให้กราบเท้าหรือกราบอะไรอีกก็ยอมขอรับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๙ กันยายน ๒๕๖๒

๑๗:๔๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *