กเลวะราก, กะเลวะราด, กะเลกะราด (บาลีวันละคำ 451)
กเลวะราก, กะเลวะราด, กะเลกะราด
“ติดฝิ่น กินสุรา ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก ลักเล็กขโมยน้อย คอยเกะกะระราน อยู่ที่ไหนชาวบ้านนอนตาไม่หลับ”
สมัยก่อนมีคำเรียกคนประเภทนี้ ฟังได้ว่า “พวกกะเลวะราก” บางทีก็ว่า พวกกะเลวะราด, กะเลกะราด (อาจจะสะกดเป็นอย่างอื่นอีกแล้วแต่ว่าจะได้ยินเป็นอย่างไร)
คำนี้มีที่มาอย่างไร ?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “กเฬวราก” (อ่านว่า กะ-เล-วะ-ราก) บอกความหมายไว้ว่า “ซากศพ, บางทีใช้เข้าคู่กันเป็น กเฬวรากซากศพ, เขียนเป็น กเฬวราก์ ก็มี เช่น เผากเฬวราก์ผู้อนาถ”
นอกจากนี้ยังมีคำว่า “กเลวระ” (อ่านว่า กะ-เล-วะ-ระ) บอกไว้ว่า “ซากศพ เช่น ถึงกระนั้นก็จะพบพานซึ่งกเลวระร่าง มิเลือดก็เนื้อจะเหลืออยู่บ้างสักสิ่งอัน. (ม. ร่ายยาว มัทรี), ใช้ว่า กเฬวราก ก็มี”
“กเฬวราก” บาลีเป็น “กเฬวร” (อ่านว่า กะ-เล-วะ-ระ, เฬ- ฬ จุฬา) เขียนเป็น “กเลวร” (เล- ล ลิง ก็มี)
ความหมายเดิมของ “กเฬวร” มาจาก กเฬ (= จิต) + วร (ธาตุ = ระวัง, ป้องกัน) : กเฬ เจตสิ วรติ สํวรตีติ = กเฬวรํ
“กเฬวร” แปลตามศัพท์ว่า “ร่างที่ป้องกันที่จิต” (= ศูนย์กลางที่ทำให้ร่างดำรงอยู่ได้คือจิต) หมายถึง “ร่างกาย”
ศัพท์ว่า “กเฬวร” พบว่าใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ
1. ร่างกาย (the body)
2. ร่างที่ตายแล้ว, ซากศพ (a dead body, corpse, carcass)
3. ขั้นบันได (the step in a flight of stairs)
อย่างไรก็ตาม ความหมายที่ใช้บ่อยจนถือได้ว่าเป็นความหมายหลัก คือ ร่างที่ตายแล้ว หรือซากศพ
เราลากเสียง “กเฬวร” เป็น “กเฬวราก” เพื่อให้คล้องจองกับ “ซากศพ” เวลาพูดควบกันจึงเป็น “กเฬวรากซากศพ”
ซากศพเป็นที่น่ารังเกียจฉันใด คนเกะกะระรานทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนก็น่ารังเกียจฉันนั้น จึงเป็นที่มาของคำเรียกคนชนิดนั้นว่า “กเฬวรากซากศพ”
ต่อมาคำว่า “ซากศพ” หายไป เหลือแต่ “กเฬวราก” แล้วก็เพี้ยนเป็น กะเลวะราด, กะเลกะราด หรือลากเข้าคำไทยเป็น “กะเรี่ยกะราด” ก็มี
: คนดีแม้จะตาย คนยังเสียดาย ไม่คิดว่าเป็นซากศพ
: คนเลวบัดซบ เป็นศพตั้งแต่ยังไม่ตาย
————————–
(ตามคำเสนอแนะของพระคุณท่าน Sunant Sukantharam)
บาลีวันละคำ (451)
9-8-56
กเลวร, กเลพร = กาย, ร่างกาย (สรีร วปุ คตฺต อตฺตภาว ..) (ศัพท์วิเคราะห์)
กเล เจตสิ วรติ สํวรตีติ กเลวรํ ร่างที่ป้องกันที่จิต
กเล บทหน้า วร ธาตุ ในความหมายว่าระวัง, ป้องกัน อ ปัจจัย
กเฬพร (สัน.กเฑพร) (บาลี-อังกฤษ)
๑. ร่างกาย the body
๒. ร่างที่ตายแล้ว, ซากศพ, กเลวระ a dead body, corpse, carcass (ขนฺธานํ เภโท กเฬพรสฺส นิกฺเขโป) = กุณป
๓. ขั้นบันได the step in a flight of stairs = กลิงฺคร
กเลวระ (พจน.อ.เปลื้อง ณ นคร)
[กะ-เล-วะ-ระ] (มค. กเลพร = ร่างกาย) น. ร่างกาย, ซากศพ, ที่เป็นของเปื่อยเน่า (เหมือน กเลพระ).
กเลวระ (สอ เสถบุตร)
(P) remains, refuse (of humanity)
rubbish, trash, trashy, despicable
กเลวร, กเฬพร ปุง., นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ร่างกาย, อัตภาพ, ซากศพ.
กลเวร (น.๒๓๕) (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)
น. ร่าง, กาย the body
กเลวระ
[กะเลวะระ] (แบบ) น. ซากศพ เช่น ถึงกระนั้นก็จะพบพานซึ่งกเลวระร่าง มิเลือดก็เนื้อจะเหลืออยู่บ้างสักสิ่งอัน. (ม. ร่ายยาว มัทรี), ใช้ว่า กเฬวราก ก็มี. (ป., ส.).
กเฬวราก
[กะเลวะราก] (กลอน) น. ซากศพ, บางทีใช้เข้าคู่กันเป็น กเฬวรากซากศพ, เขียนเป็น กเฬวราก์ ก็มี เช่น เผากเฬวราก์ผู้อนาถ. (มาลัยคําหลวง).
Sunant Sukantharam 7-8-56
เจริญพร อ.ขอทราบศัพท์หนึ่งศัพท์คือ กเลวระ หรือ กเฬวราก แปลว่า “อัตภาพ, ร่างกาย, ซากศพ” นี้ทำตัวหรือมีที่มาอย่างไร อีก ๑ คำ (แล้วเพี้ยนเป็นภาษาไทยตำนี้ ใช่หรือไม่ “กะเลวกะลาด”
ราชา สาธูติ ปฏิสฺสุณิตฺวา อนฺโตสาณิยํ มหาพเล มลฺเล เปตฺวา เอกเมกํ ราชานํ ปกฺโกสาเปตฺวา
นิปฺปีฬเนน วิสํ กาเรตฺวา อกฺขีนิ อุปฺปาฏาเปตฺวา
มาเรตฺวา มสํ อาทาย กเลวรานิ คงฺคายํ ปวาเหตฺวา
วุตฺตปฺปการํ พลีกมฺมํ กาเรตฺวา พลิเภรึ อาโกฏฺฏาเปตฺวา
ยุทฺธาย คโต ฯ
พระราชาทรงรับว่า ดีละ แล้ววางคนปล้ำผู้มีกำลังมากไว้ภายในม่าน ให้เรียกพระราชามาทีละองค์ แล้วให้ทำให้สลบด้วยการบีบรัดแล้วควักเอานัยน์ตาแล้วฆ่าให้ตาย เอาแต่เนื้อไว้ ลอยซากศพไปในแม่น้ำคงคา ให้ทำพลีกรรมมีประการดังกล่าวแล้วให้ตีกลองบวงสรวงแล้วเสด็จไปรบ.
เวนสาขชาดก ปัญจกนิบาต
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๗๒๕
กเฬวรสฺส นิกฺเขโปติ อตฺตภาวสฺส นิกฺเขโป ฯ มรณมฺปตฺตสฺส
หิ นิรตฺถํว กลิงฺครํ อตฺตภาโว ปตติ ฯ ตสฺมา ตํ กเลวรสฺส
นิกฺเขโปติ วุตฺตํ ฯ
การทอดทิ้งอัตภาพ ชื่อว่าการทอดทิ้งซากศพ จริงอยู่ เมื่อบุคคลถึงความตาย อัตภาพก็ตกเป็นเหมือนท่อนไม้ไร้ประโยชน์ฉะนั้น เพราะฉะนั้น มรณะนั้นท่านจึงเรียกว่าการทอดทิ้งซากศพ
สุมังคลวิลาสินี ภาค ๒ หน้า ๖๗๓ (อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร)
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลเล่ม ๑๓ หน้า ๓๕๓
นายก “กเฬวราก” กับ รัฐบาล “กเลวระ” แปลว่า …
ผู้เขียน: น้าเล็กนอนดึก (pardar สมาชิก)
ภาษาไทยวันละหลายคำ วันนี้ขอเสนอคำว่า :
“กเฬวราก” (กะ-เล-วะ-ราก) คำนาม แปลว่า ซากศพ, บางทีใช้เข้าคู่กันเช่น “กเฬวรากซากศพ” คำนี้บางทีถูกนำเอาไปใช้เป็นคำด่าก็มีเช่น “พวกกเฬวรากพวกนี้เมื่อไรจะไปผุดไปเกิดเสียที”
“กเลวระ” (กะ-เล-วะ-ระ) คำนาม แปลว่าซากศพ เช่น “ถึงกระนั้นก็จะพบพานซึ่งกเลวระร่าง มิเลือดก็เนื้อจะเหลืออยู่บ้างสักสิ่งอัน” (มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี)
“กะเรี่ยกะราด” (กะ-เรี่ย-กะ-ราด) คำคุณศัพท์หรือกริยาวิเศษณ์ แปลว่า เรี่ยราย, กระจัดกระจาย, วางหน้าไม่สนิท ตัวอย่างเช่น “นายสมชายทำหน้ากะเรี่ยกะราดเมื่อถูกสอบถามถึงคลิปคนหน้าเหมือน”
(อ้างอิง : พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒)
ดังนั้น จงเติมคำลงในช่องว่าง (100,000 ล้านคะแนน)
นายก “กเฬวราก” แปลว่า …………..
รัฐบาล “กเลวระ” แปลว่า ……….
—————————————————————
หมายเหตุ : คำว่า กะเลกะราด, กะเลวะราด, กะเลว-วะราด – ไม่มีในพจนานุกรม แต่จะได้ยินบ่อยจากหลายๆสื่อทั้งวิทยุโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ (รวมทั้ง ASTV ก็ไม่เว้น) ดังนั้นช่วยกันระวังการใช้ภาษาไทยกันวันละนิดก็ดีนะครับ
วันที่ : 14 พฤศจิกายน 51 23:48
กเลวระ หรือ กเฬวราก แปลว่า “อัตภาพ, ร่างกาย, ซากศพ” ปกติใช้ในความหมายว่า “ซากศพ” ซึ่งนิยมพูดหรือเขียนต่อกับคำว่า “กเฬวราก” เป็น “กเฬวรากซากศพ” ด้วยมีเสียคล้องจองรับกันพอดี บางครั้งถูกนำไปใช้เป็นคำด่าก็มี ในกรณีที่เปรียบเทียบผู้ถูกด่าเป็นเหมือนซากศพ ไม่มีประโยชน์ ทำแต่งเรื่องเน่าเหม็น หรือนำความเน่าเหม็นมาให้ เช่นใช้ว่า “พวกกเฬวรากพวกนี้เมื่อไรจะไปผุดไปเกิดเสียที”