บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี

แผ่เมตตาให้ถูกวิธี

——————-

เมื่อพูดว่า “แผ่เมตตา” หลายคนจะนึกออกถึงคำว่า “สัพเพ สัตตา” 

“สัพเพ สัตตา” เป็นคำขึ้นต้นในบทแผ่เมตตา

คนไทยเราเห็นจะคุ้นกับคำแผ่เมตตามานาน จนเมื่อพูดถึงคนหรือสัตว์ที่ประสบเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งและตนไม่สามารถจะช่วยเหลืออย่างไรได้ ก็มักจะพูดว่า ทำอะไรไม่ได้ก็สัพเพสัตตาเถิด

เพราะคุ้นกับ “สัพเพ สัตตา” มานาน การแผ่เมตตาก็เลยเหมือนหญ้าปากคอก เห็นกันเป็นเรื่องง่ายๆ จนกลายเป็นเรื่องล้อเล่นล้อเลียน 

โปรดอ่านข้อความในภาพประกอบ 

ถ้อยคำล้อเลียนแบบนี้จะไม่มีโอชะเลยถ้าคนอ่านไม่เคยรู้คำแผ่เมตตามาก่อน 

ที่คิดว่าเป็น “หญ้าปากคอก” นั้น เอาเข้าจริงๆ อาจไม่ใช่ 

แค่บอกว่า คำในชุดนี้ไม่ได้มีแค่ “แผ่เมตตา” หรอกนะ

อ้าว ชักงงละสิ

ไม่ได้มีแค่ “แผ่เมตตา” แล้วมีแผ่อะไรอีก 

ก็มีแผ่กรุณา แผ่มุทิตา แผ่อุเบกขา ครบชุดของพรหมวิหารนั่นไง

ไม่เคยได้ยินละสิท่า

ถ้าไม่เคยก็เคยซะ ศึกษาดูเดี๋ยวนี้เลย ไม่ต้องไปพึ่งอาจารย์กู 

อาจารย์ย้อยเอามาเทียบให้ถึงที่แล้ว

…………………

บทเจริญพรหมวิหาร

———————-

๑ แผ่เมตตา

……………

สัพเพ  สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

อะเวรา  โหนตุ = จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย 

อัพยาปัชฌา  โหนตุ = อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย 

อะนีฆา  โหนตุ = อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย 

สุขี  อัตตานัง  ปะริหะรันตุ. = จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเถิด

๒ แผ่กรุณา

……………

สัพเพ  สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

สัพพะทุกขา  ปะมุจจันตุ = จงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเถิด

๓ แผ่มุทิตา

……………

สัพเพ  สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

ลัทธะสัมปัตติโต  มา  วิคัจฉันตุ = จงอย่าไปปราศจากสมบัติอันได้แล้วเถิด

๔ แผ่อุเบกขา 

……………

สัพเพ  สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

กัมมัสสะกา = เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน 

กัมมะทายาทา = เป็นผู้รับผลของกรรม 

กัมมะโยนี = เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด 

กัมมะพันธู = เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ 

กัมมะปะฏิสะระณา = เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย 

ยัง  กัมมัง  กะริสสันติ = จักทำกรรมอันใดไว้ 

กัลยาณัง  วา  ปาปะกัง วา = ดีหรือชั่ว 

ตัสสะ  ทายาทา = ภะวิสสันติ. จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น.

…………………

รู้อย่างนี้แล้ว ทีนี้พอจะแผ่เมตตาก็ควรจะแผ่ให้ครบชุด 

ข้อสำคัญอย่าว่าแต่ปาก อย่าเพียงแค่อ่านตามตัวหนังสือ แต่ควรขบคิดขยายความต่อไปด้วย คำแผ่แต่ละอย่างแต่ละคำมีความหมายอย่างไร 

ขบออกด้วยตัวเองจะเกิดอรรถรส มีโอชะยิ่งกว่าที่ฟังคนอื่นอธิบาย 

ติดขัดจริงๆ หรือไม่คุ้นกับสำนวนบาลีคำไหน ค่อยว่ากันเป็นคำๆ ไป 

ยกตัวอย่างเสียหน่อยก็ได้ 

เช่นตรงคำแผ่มุทิตา คำแปลที่ว่า “อย่าไปปราศจากสมบัติอันได้แล้ว” หมายความว่า ได้ทรัพย์ ได้ยศ ได้ตำแหน่ง ได้อะไรดีๆ มา ก็ขออย่าให้สิ่งนั้นๆ หลุดหายหรือเสื่อมเสียไป ขอให้ได้อยู่ชื่นชมกันไปนานๆ เถิด – อย่างนี้เป็นต้น

…………………

ที่เราเน้นกันที่แผ่เมตตา คงจะเป็นเพราะเมตตาเป็นพื้นฐานสำคัญ เป็นฐานใหญ่ฐานหลัก ถ้าเมตตาตั้งมั่นแล้ว กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ตามมาได้ง่าย 

แต่ไปๆ มาๆ เรากลับติดกันอยู่แค่แผ่เมตตา ลืมกรุณา มุทิตา อุเบกขา ไปเสียสนิท 

อย่างไรก็ตามทีเถิด แม้แต่เมตตาข้อเดียวนี่แหละ คิดดูให้ดีจะเห็นว่าสำคัญนัก

เริ่มตั้งแต่ความหมายของคำว่า “เมตตา” ไปเลย

เมตตา” เขียนแบบบาลีเป็น “เมตฺตา” (มีจุดใต้ ต ตัวหน้า) แปลตามศัพท์ว่า“ธรรมชาติที่รักใคร่” “ธรรมชาติที่มีอยู่ในมิตร” หรือ “ธรรมชาติของมิตร” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เมตฺตา” ว่า love, amity, sympathy, friendliness, active interest in others. 

แปลเป็นไทยว่า ความรัก, ความเป็นเพื่อน, ความเห็นอกเห็นใจกัน, ความเป็นมิตร, การเอาใจใส่ช่วยเหลือผู้อื่น

ทำได้หมดตามความหมายนี้ นั่นแหละแผ่เมตตาถูกวิธีแล้ว

อาจารย์บางสำนักที่เอาแต่แก่นล้วนๆ บอกว่า แผ่เมตตาไม่จำเป็นจะต้องท่อง สัพเพ สัตตา …. 

เมตตาไม่ได้อยู่ที่คำท่องบ่น เมตตาอยู่ที่ใจ 

สำนักที่หนักในธรรมมากกว่านั้นก็บอกว่า คนที่จะแผ่เมตตาได้ต้องปฏิบัติธรรมถึงระดับได้ฌานสมาบัติ 

คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แผ่เมตตาไม่ได้หรอก ผิดสภาวะ 

ฟังแล้วก็กลุ้มเล็กๆ 

คือท่านก็พูดถูก แต่มันเป็นการตัดทางปฏิบัติธรรมแบบชาวบ้านๆ 

เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า แผ่เมตตาไม่ต้องท่องคำอะไร เพราะเมตตาไม่ได้อยู่ที่คำท่อง 

และเดี๋ยวก็จะไม่มีใครแผ่เมตตา เพราะแต่ละคนก็ล้วนแต่ยังไม่ได้ฌานสมาบัติกันทั้งนั้น

ผมขอแนะนำแบบชาวบ้านๆ นะครับว่า ระดับเราๆ ท่านๆ นี่ ถ้าเป็นพิธีการก็พยายามทำให้ครบไตรทวารไปเลยเถอะ 

เวลาแผ่เมตตาสำรวมกิริยา เช่นประนมมือได้ก็ยิ่งดี – นี่ทางกาย 

ปากก็ท่องคำแผ่เมตตาไปด้วย – นี่ทางวาจา 

พร้อมกันนั้นก็ตั้งจิตให้ดิ่ง ให้นิ่ง แนวแน่ ส่งใจไปตามความหมายของคำที่พูด – นี่ทางใจ

ใครจะว่าเมตตาไม่ได้อยู่ที่คำท่อง ก็ให้ท่านว่าไป 

ใครจะว่าคนแผ่เมตตาต้องได้ฌานสมาบัติ ก็ให้ท่านว่าไป

แต่ในทางเนื้อหาสาระจริงๆ ควรจะมีวิธีการที่เป็นหลักสักหน่อย 

ขออนุญาตเสนอแนะตามแบบที่ผมใช้อยู่ ง่ายมากครับ 

นั่นคือขอให้ฝึกจิตคิดว่าคนที่เรากำลังเห็นอยู่นั้นคือ “เพื่อนรักของเรา”

มองไปทางไหน เห็นใคร รู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม ก็ให้น้อมนึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา”

พูดง่าย แต่อาจจะทำยากหน่อย 

ทำยากไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ 

ทำได้ครับ แต่ยาก เพราะฉะนั้นจึงต้องฝึก 

ตามตำราแล้ว ท่านแนะว่าให้เริ่มจากคนที่เรารักก่อน เพราะทำได้ง่าย ฝึกทำจนจิตใจค่อยคุ้นกับความรู้สึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” 

ต่อจากนั้นจึงค่อยขยายวงไปยังคนที่เรารู้สึกเป็นกลางๆ คือไม่รักไม่ชัง 

แล้วก็ขยายออกไปถึงคนที่เราไม่ชอบขี้หน้า ทะลุทะลวงไปจนถึงคนที่เป็นอริกับเรา

“นี่คือเพื่อนรักของเรา” – เจอใครก็ตั้งอารมณ์นี้ไว้ ตั้งได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร แต่จงหัดตั้งไว้เสมอ 

อุปสรรคสำคัญ หรือภูเขาหิมาลัยที่ขวางใจเราอยู่ก็คือ-ความจริงที่ว่า สังคมมีทั้งคนดีและคนเลว 

ก็แล้วถ้าไอ้คนที่เราพยายามคิดว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” มันเป็นคนร้ายคนเลว จะให้ทำยังไง 

เราน่ะคิดว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” 

แต่มันน่ะจ้องจะแทงเราตลอด 

ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ตั้งอารมณ์แบบนี้เป็นคนละอย่างกับพวก “โลกสวย” นะครับ 

พวกโลกสวยมองทุกอย่างในแง่ดีหมด แต่แผ่เมตตาแบบนี้คือมองทุกอย่างในแง่เป็นจริง 

มองคนทุกคนอย่างเป็นมิตรด้วย และมีสติรู้เท่าทันไปด้วย-ว่าทุกคนไม่ใช่คนดีทั้งหมด 

แบบนี้เป็นการปฏิบัติธรรม ๒ อย่างพร้อมๆ กัน

แผ่เมตตาด้วย

เจริญสติด้วย 

แผ่เมตตาคือทำดีกับคนอื่น

เจริญสติคือไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นทำชั่วกับเรา 

อย่าเอาความบกพร่องของคนอื่นมาเป็นเหตุให้เราบกพร่องไปอีกคนหนึ่ง

เหมือนคนเห็นพระบางรูปประพฤติตนเป็นอลัชชี เลยประกาศเลิกใส่บาตร 

มีพระอลัชชี ก็แย่อยู่แล้ว 

มีคนประกาศเลิกทำความดี ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก

ความหวาดระแวงหรือชิงชังคนอื่น ไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้น

แต่การฝึกมองคนอื่นว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” ช่วยทำให้จิตใจเราดีขึ้น

…………………

เมตตาก็คือไมตรี 

โปรดระลึกไว้ว่า ไม่มีใครเลยที่ไม่ชอบไมตรี

แม้แต่คนที่เราเกลียด ยามใดที่เราเห็นกิริยาวาจาของเขาที่แสดงถึงความมีไมตรีกับเรา ปากพาลๆ ของเราอาจจะบอกว่าหมั่นไส้ แต่ลึกๆ ในใจคงยากที่จะเกลียดไมตรีของเขา

เพลงยาวถวายโอวาทของสุนทรภู่กล่าวไว้ว่า –

ปรารถนาสารพัดในปัถพี

เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง

พระอภัยมณีตอนกษัตริย์สามัคคี พระฤๅษีเทศนาตอนหนึ่งว่า –

…………………

ประการหนึ่งซึ่งขาดพระศาสนา

ทั้งโลกาเกิดทุกข์ถึงยุคเข็ญ

ซึ่งจะกลับดับร้อนให้ผ่อนเย็น

ก็ต้องเป็นไมตรีปรานีกัน

…………………

เราหลายคนตั้งความปรารถนาขอไปเกิดในศาสนาพระศรีอารย์ 

พระศรีอารย์นั้นชื่อจริงๆ ที่ถูกต้องคือ “พระเมตไตรย” 

“เมตไตรย” คำบาลีว่า “เมตฺติ” คำเดียวกับที่เราใช้ว่า “ไมตรี” ในภาษาไทย 

ถ้าน้ำใจไมตรีที่รออยู่ตรงหน้าในชาตินี้เอง เรายังไม่สร้างไม่ทำกัน 

แล้วจะไปหวังให้ทันศาสนาพระศรีอารย์กันในชาติไหน?

เคยสังเกตไหมว่า สัตว์เดรัจฉานนั้นแค่มันไม่ทำร้ายกันและกันก็ประเสริฐแล้ว 

แต่จะให้มันมีไมตรีต่อกัน ยากมาก 

ตอนมันมีลูก สัตว์หลายชนิดคาบอาหารมาเลี้ยงลูก แต่พอลูกโต มันก็ไม่ทำแล้ว 

ยังไม่เคยมีสัตว์ชนิดไหนคาบอาหารไปเลี้ยงพ่อแม่ หรือไปเผื่อญาติมิตร นอกจากในนิทานชาดก

สำหรับมนุษย์ การมีเมตตา-ไมตรีในหมู่ญาติเป็นเรื่องปกติ แต่การมีเมตตา-ไมตรีไปในหมู่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นเรื่องแสนประเสริฐ 

ผมเห็นภาพช้างช่วยแม่สิงโตพาลูกเดินทาง 

ถ้าไม่ใช่ภาพจัดฉาก ก็น่าทึ่งมาก-ที่สัตว์ต่างสายพันธุ์ยังรู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 

ถ้ามนุษย์เราไม่สามารถจะมองกันได้ด้วยความรู้สึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” 

ผมว่าเรากำลังจะรูดลงไปเท่ากับสัตว์ หรือเผลอๆ อาจจะเตี้ยกว่าสัตว์บางชนิดด้วยซ้ำไป 

น่ากลัวนะครับ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๔:๓๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *