บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

โพธิ์พิโรธ

โพธิ์พิโรธ

———-

ญาติมิตรที่ติดตามข่าวในวงการคณะสงฆ์ในพักนี้ คงจะได้เห็นข่าวท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีถูกสั่งพักหน้าที่

คำว่า “พักหน้าที่” นั้น โดยผลที่เกิด เกือบจะไม่ต่างไปจากปลดออกจากตำแหน่ง

ถ้าผู้ถูกสั่งพักหน้าที่ไม่ลาออกจากตำแหน่งในเวลาอันสมควร 

คำสั่งปลดโดยตรงก็อาจจะตามมา

————

ผมเป็นคนราชบุรี 

เป็นศิษย์สำนักวัดมหาธาตุ ราชบุรี-วัดที่ท่านเจ้าคณะจังหวัดท่านเป็นเจ้าอาวาส 

ผมไปทำบุญที่วัดมหาธาตุเป็นประจำ

เป็นมรรคนายกในวันทำบุญทุกวันพระ

เป็นผู้รักษาอุโบสถศีลคนหนึ่งของวัดมหาธาตุ

พูดอย่างนี้เพื่อยืนยันว่า ผมเป็นคนอยู่ในพื้นที่ หรือ “อยู่ในที่เกิดเหตุ”

เพราะฉะนั้นก็จะขออนุญาตรายงานเหตุการณ์เท่าที่เห็นและเท่าที่รู้ เพื่อญาติมิตรได้โปรดทราบ ดังต่อไปนี้

๑ สืบเนื่องมาจากคณะสงฆ์โดยดำริของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้กำหนดให้มีโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล ๕” (ซึ่งต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า “โครงการศีล ๕”) โครงการนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คณะสงฆ์ทุกจังหวัดมีหน้าที่สนับสนุน ซึ่งใช้คำเรียกว่า “ขับเคลื่อน” ทั้งนี้โดยให้ทุกจังหวัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน และให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (ผอ.สำนักพุทธฯ) เป็นเลขานุการตามสายงาน

๒ จังหวัดราชบุรีสมัยนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด (๒๕๕๖-๒๕๕๗) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการศีล ๕ โดยมีวัฒนธรรมจังหวัดเป็นเลขานุการ (“วัฒนธรรมจังหวัด” เป็นตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานวัฒนธรรมประจำจังหวัด) ซึ่งไม่ตรงตามหลักการที่กำหนดให้ ผอ.สำนักพุทธฯ เป็นเลขาฯ

อุปมาให้มองเห็นภาพก็คือ คนมีอำนาจสตาร์ทรถเป็นคนหนึ่ง แต่คนถือกุญแจรถเป็นอีกคนหนึ่ง

นี่คือจุดเกิดเหตุเบื้องต้น

๓ เมื่อแต่งตั้งเลขาฯ ผิดสายงานเช่นนี้ งานขับเคลื่อนโครงการศีล ๕ ของจังหวัดราชบุรีก็ขัดข้องมาตั้งแต่ต้น คณะกรรมการประชุมกันไป ๓ ครั้ง เรื่องที่ตกลงกันแล้วในที่ประชุมไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้เต็มที่

พูดด้วยภาษาชาวบ้านก็คือเกิดการเล่นแง่กันระหว่างสำนักพุทธฯ กับสำนักงานวัฒนธรรมฯ จนขับเคลื่อนอะไรไม่ได้

๔ ปลายปี ๒๕๕๗ นายสุรพล แสวงศักดิ์ มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี จึงได้แก้ไขคำสั่งให้ ผอ.สำนักพุทธฯ เป็นเลขาฯ ตรงตามสายงาน

งานก็มีทีท่าว่าจะขับเคลื่อนไปได้

๕ ปลายปี ๒๕๕๗ นั่นเอง มีการเปลี่ยนตัว ผอ.สำนักพุทธฯ จังหวัดราชบุรี

ผอ.สำนักพุทธฯ คนใหม่เป็นภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย มีเวลามาทำงานที่สำนักพุทธฯ จังหวัดราชบุรีได้ไม่เต็มที่ ตามที่ทราบบางสัปดาห์มาครั้งเดียว บางสัปดาห์มาสองครั้ง บางทีสองสัปดาห์มาครั้งหนึ่ง จึงทำให้การขับเคลื่อนโครงการศีล ๕ เป็นไปได้ไม่เต็มที่อยู่นั่นเอง

๖ ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีได้นำปัญหานี้ไปกราบเรียนท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ คำกราบเรียนสถานการณ์นั้นเข้าใจว่าคงจะสรุปเป็นภาพรวมว่า งานนี้เจ้าหน้าที่ของทางราชการ “เขาไม่ทำ” (ตอนแรกเพราะมัวแต่เล่นแง่กันอยู่ ตอนหลังเพราะ ผอ.สำนักพุทธฯ ไม่สะดวกที่จะมานั่งสำนักงานทุกวัน) ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ จึงมอบนโยบายมาว่า “เขาไม่ทำ เราก็ทำไป”

๗ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘ คณะสงฆ์จังหวัดราชบุรีได้จัดให้มีการประชุมพระสังฆาธิการระดับวัด อันเป็นการประชุมกิจการคณะสงฆ์ตามปกติ (ไม่ใช่การประชุมคณะกรรมการโครงการศีล ๕) ในวาระการประชุมมีเรื่องการจัดระบบการปฏิบัติงานโครงการศีล ๕ ใหม่บรรจุไว้ด้วย

๘ เรื่องการจัดระบบการปฏิบัติงานโครงการศีล ๕ ใหม่นั้นเป็นความดำริของท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีซึ่งได้รับนโยบาย “เขาไม่ทำ เราก็ทำไป” มาจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ (ตามข้อ ๖) นั่นเอง โดยท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีได้ยกร่างแนวทางและวิธีดำเนินการบางอย่างขึ้นใหม่เพื่อให้คณะสงฆ์จังหวัดสามารถทำงานนี้ได้เองโดยไม่ต้องรอการขับเคลื่อนจากสำนักพุทธฯ เนื่องจากมีปัญหา (ตามข้อ ๕)

๙ ตามขั้นตอนของท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีนั้น เมื่อที่ประชุมวันนั้นตกลงตามแนวทางใหม่นี้แล้วก็จะต้องเสนอรายละเอียดทั้งหมดไปยังศูนย์อำนวยการโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ที่วัดปากน้ำ เพื่อขอความเห็นชอบและจะต้องได้รับอนุมัติเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้ หากไม่ได้รับอนุมัติก็จะดำเนินการไปตามวิธีการเดิมผสมกับวิธีการใหม่บางอย่างที่ไม่ขัดกับวิธีการเดิม

การประชุมวันนั้นจึงเป็นขั้นการพิจารณาแนวทางและวิธีดำเนินการเท่านั้น ยังไม่ได้มีการปฏิบัติตามแนวทางใหม่แต่อย่างใด และแนวทางใหม่นั้นจะได้รับอนุมัตให้ทำได้หรือไม่ก็ยังจะต้องรอการอนุมัติอีกทีหนึ่งก่อน

๑๐ ผอ.สำนักพุทธฯ ซึ่งไม่ได้เข้าประชุมด้วย (เนื่องจากเป็นการประชุมกิจการคณะสงฆ์โดยเฉพาะ และไม่ใช่การประชุมคณะกรรมการโครงการศีล ๕ ที่ ผอ.สำนักพุทธฯ เป็นเลขานุการ จึงเป็นการประชุมที่ไม่เกี่ยวกับ ผอ.สำนักพุทธฯ โดยตรง อนึ่ง ได้ทราบเป็นการภายในว่าในวันที่มีการประชุมนั้น ตัว ผอ.สำนักพุทธฯ ก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี) ได้รับรายงานจากบุคคลบางคนที่อยู่ในที่ประชุมในขณะที่การพิจารณาเรื่องนี้ยังไม่ได้เสร็จสิ้นถึงที่สุด ก็ได้ทำหนังสือรายงานไปยัง พศ. ว่า ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีประชุมเรื่องโครงการศีล ๕ โดยไม่เชิญให้ตน (ในฐานะเลขานุการโครงการ) เข้าร่วมประชุม และท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีได้สั่งให้ลบล้างแนวทางการดำเนินงานเดิมแล้วใช้แนวทางใหม่ที่ท่านคิดขึ้นเอง

พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือฟ้องว่า ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีจะไม่ทำตามนโยบายของคณะสงฆ์ซึ่งก็คือนโยบายของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำนั่นเอง

ในรายงานนั้นยังกล่าวโทษท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีด้วยว่า ไม่ได้ช่วยเหลือและไม่ได้สนับสนุนโครงการศีล ๕ แต่อย่างใดเลย

รายละเอียดของรายงาน โปรดอ่านจากภาพที่นำมาประกอบเรื่องนี้

๑๑ ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘ นั่นเอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ ได้เรียกตัวท่านเจ้าคณะภาค ๑๕ (จังหวัดราชบุรีอยู่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๕) ไปพบ และสั่งให้มีคำสั่งพักหน้าที่ของท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีโดยทันที

๑๒ โปรดสังเกตข้อเท็จจริงต่อไปนี้ –

(๑) คณะสงฆ์จังหวัดราชบุรีประชุมกันวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘ ผลการประชุมเป็นอย่างไร ยังไม่ยุติ

(๒) ผอ.สำนักพุทธฯ จังหวัดราชบุรี รายงานไปยัง พศ. วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘

(๓) โปรดสังเกตเป็นพิเศษว่า “รายงานไปยัง พศ.” ไม่ใช่รายงานไปยังท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ

(๔) ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ สั่งพักหน้าที่ของท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ก็วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘

(๕) และโปรดสังเกตด้วยว่า

– ภายในวันเดียว รายงานจากสำนักพุทธฯ จังหวัดราชบุรี ไปถึง พศ. 

– ภายในวันเดียว รายงานจาก พศ. ไปถึงท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ

– ภายในวันเดียว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ ทราบข้อกล่าวหา

– และภายในวันเดียวกันเท่านั้นเอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ สั่งพักหน้าที่ของท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี โดยไม่มีการสอบสวนใดๆ ทั้งสิ้น

การขับเคลื่อนอันเนื่องมาจากโครงการศีล ๕ ของจังหวัดราชบุรีที่รวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์

——————-

จากการประมวลข่าวมาจนถึงวันนี้ (๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘) ได้ข้อสรุปที่ปราศจากข้อสงสัยว่า –

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากความพยายามที่จะทำให้ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีพ้นจากตำแหน่งให้จงได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ – แม้จะเป็นวิธีการที่ไร้เกียรติเพียงไรก็ตาม

ถ้าการกระทำครั้งนี้เป็นผลสำเร็จ-ซึ่งมีสิ่งบอกเหตุว่าในที่สุดแล้วคงจะสำเร็จจริงๆ-ก็จะเป็นความสำเร็จที่อัปยศที่สุดเท่าที่เคยมีผู้สร้างผลงานอัปยศกับคณะสงฆ์

ต่อจากนี้ไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับท่านผู้ใดก็ตาม ขอผู้เกี่ยวข้องทุกคนทุกฝ่ายจงมีสติมั่นคง ดำรงตนอยู่ในธรรมสัมมาปฏิบัติ ยึดเอาความจริงความสัตย์เป็นที่ตั้ง โดยทั่วกัน เทอญ

——————-

เพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจด้านความสัมพันธ์ :

ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี (พระธรรมปัญญาภรณ์ ไพบูลย์ ชิวํโส ป.ธ.๗) รูปนี้ เป็นอันเตวาสิกของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ

พูดภาษาชาวบ้านก็คือท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำเป็นคู่สวดเมื่อท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีอุปสมบท

ย้อนหลังไป

ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีรูปนี้เป็นศิษย์สำนักวัดมหาธาตุราชบุรีมาตั้งแต่เป็นสามเณร

เป็นศิษย์ก้นกุฏิของพระเทพวิสุทธิโมลี (ช้อย) อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ

เมื่อพระเทพวิสุทธิโมลีดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ท่านก็เป็นเลขานุการตลอดสมัย

ย้อนหลังไปอีก

พระเทพวิสุทธิโมลีผู้นั้นเป็นกัลยาณมิตรร่วมรุ่นเรียนบาลีกันมากับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ

เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์นาวาอากาศเอกแย้ม ประพัฒน์ทอง ในชุดศิษย์เอก ๕ รูปที่เป็นเปรียญเอกอุ เรียกกันว่า “เบญจภาคี” โดยลำดับนามว่า “เกี่ยว นิยม พลอย ช้อย ช่วง”

๑ “เกี่ยว” คือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ (ป.ธ.๙ พ.ศ.๒๔๙๗)

๒ “นิยม” คือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม (ป.ธ.๙ พ.ศ.๒๔๙๘)

๓ “พลอย” คือพระเดชพระคุณพระวิสุทธิวงศาจารย์ วัดเทพธิดา (ป.ธ.๙ พ.ศ.๒๔๙๖)

๔ “ช้อย” คือพระเดชพระคุณพระเทพวิสุทธิโมลี วัดมหาธาตุ ราชบุรี (ป.ธ.๙ พ.ศ.๒๕๐๐)

๕ “ช่วง” คือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ (ป.ธ.๙ พ.ศ.๒๔๙๗)

ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำเป็นคู่สวดให้ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีรูปนี้ก็ด้วยความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างอาจารย์กับอาจารย์ผู้เป็น “เบญจภาคี” นั่นแล้ว

เมื่อพระเทพวิสุทธิโมลีมรณภาพ และท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีรูปนี้ได้รับพระบัญชาให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุสืบต่อมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๘ วัดปากน้ำก็เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของวัดมหาธาตุตลอดมา

ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีรูปนี้จึงเคารพท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำเป็นที่สุด

ไม่ปริปาก 

ไม่โต้แย้ง 

ไม่แสดงอาการขัดขืนใดๆ ทั้งสิ้น

ยอมรับคำตัดสินที่ไม่มีการไต่สวนนี้ โดยสงบ

วัดปากน้ำเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของวัดมหาธาตุมาตลอดเวลาอันยาวนาน

บัดนี้ พวกเราหมดที่พึ่งแล้วขอรับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

ในฐานะศิษย์สำนักวัดมหาธาตุ ราชบุรี

๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *