บาลีวันละคำ

การเมือง (บาลีวันละคำ 1,083)

การเมือง

ภาษาบาลีมองคำนี้ว่าอย่างไร

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า “การเมือง” เป็นภาษาอังกฤษว่า politics

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำว่า politic เป็นบาลีว่า :

(1) nāgarika นาคริก

(2) janahitakāri ชนหิตการี

(3) upāyadakkha อุปายทกฺข

(๑) “นาคริก” (นา-คะ-ริ-กะ)

ประกอบรูปคำมาจาก นคร (เมือง, บ้านเมือง) + ณิก ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ต้นคำคือ -(คร) เป็น อา

: นคร + ณิก = นครณิก > นคริก > นาคริก แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวกับเมือง” หมายถึงกิจการหรือการปฏิบัติทั้งปวงอันเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง

ภาษาบาลีคำนี้มีนัยว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าเป็นกิจที่เกี่ยวกับผลได้ผลเสียของประชาชน เรียกว่า “การเมือง” ได้ทั้งสิ้น

(๒) “ชนหิตการี” (ชะ-นะ-หิ-ตะ-กา-รี)

ประกอบด้วย ชน (ประชาชน) + หิต (ผลประโยชน์) + การี (ผู้กระทำ)

: ชน + หิต = ชนหิต แปลว่า “ผลประโยชน์ของประชาชน”

: ชนหิต + การี = ชนหิตการี แปลว่า “ผู้กระทำการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

ภาษาบาลีคำนี้มีนัยว่า “การเมือง” ต้องเป็นกิจที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง

(๓) “อุปายทกฺข” (อุ-ปา-ยะ-ทัก-ขะ)

ประกอบด้วยคำว่า อุปาย + ทกฺข

(1) “อุปาย” แปลตามศัพท์ว่า “กลวิธีเป็นเหตุให้ถึงความชนะศัตรู” “วิธีเป็นเหตุให้เข้าถึง” “การเข้าใกล้” หมายถึง หนทาง, วิธี, กลวิธี, เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปาย” ว่า approach; way, means, expedient, stratagem (การเข้าใกล้; หนทาง, วิธี, เล่ห์เหลี่ยม, อุบาย)

อุปาย” ใช้ในภาษาไทยว่า “อุบาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุบาย : (คำนาม) วิธีการอันแยบคาย; เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม. (ป., ส. อุปาย).”

(2) “ทกฺข” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองในความฉลาด” “ผู้เจริญในกุศลธรรม” “ผู้ไปเร็วโดยไม่ชักช้าในกิจน้อยใหญ่

ทกฺข” มีความหมายว่า ขยัน, ฉลาด, สามารถ, ชำนาญ, คล่องแคล่ว, สันทัด, สะดวก (dexterous, skilled, handy, able, clever)

ทกฺข” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “ทักษะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทักษะ : ความชํานาญ. (อ. skill)”

อุปาย + ทกฺข = อุปายทกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ฉลาดในอุบาย” หมายถึง ฉลาดในวิธีการอันแยบคาย, ฉลาดในเล่ห์กล, ฉลาดในเล่ห์เหลี่ยม (ที่จะทำการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน)

ภาษาบาลีคำนี้มีนัยเป็นกลางๆ คือบอกเพียงว่า “ฉลาดในอุบาย” แต่ไม่ได้บ่งว่า “อุบายเพื่ออะไร” จึงเป็นช่องทางให้ “การเมือง” อาจหมายถึงฉลาดในอุบายที่จะทำการใดๆ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้องก็ได้

ทางเลือกของคนทำงานการเมือง :

อยู่ได้แค่ตาย : ถ้าเป็นนายของประชาชน

อยู่ได้คงทน : ถ้าเอาประชาชนเป็นนาย

8-5-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย