สาลา (บาลีวันละคำ 453)
สาลา
ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาลา”
“สาลา” แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา” (สลติ คจฺฉติ เอตฺถาติ สาลา = บุคคลย่อมไปในที่นั้น เหตุนั้น ที่นั้นจึงเรียกว่า สาลา)
“ศาลา-สาลา” หมายถึง ห้องโถง, ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์
ความหมายในภาษาไทย พจน.42 บอกว่า –
“ศาลา : อาคารทรงไทย ปล่อยโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาวัด ศาลาที่พัก ศาลาท่านํ้า, โดยปริยายหมายถึงอาคารหรือสถานที่บางแห่ง ใช้เพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาพักร้อน ศาลาสวดศพ”
ภาษาไทยคำเก่าๆ ใช้คำว่า “ศาลา” ในความหมายว่า –
1. สถานที่ปฏิบัติราชการ เช่น ศาลาว่าการกระทรวง.. ศาลากลางจังหวัด.. สุขศาลา (ปัจจุบันเรียกว่า สถานีอนามัย)
2. สถานที่ปฏิบัติกิจบางอย่าง (เฉพาะคราวหรือประจำ) เช่น ศาลาการเปรียญ (ศาลาวัดสำหรับพระสงฆ์แสดงธรรมและใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลต่างๆ ด้วย)
“ศาลา” ในภาษาไทยใช้เรียกสถานที่ทุกระดับ ตั้งแต่สถานที่เฉพาะพระราชามหากษัตริย์ ไปจนถึงสถานที่สำหรับคนอนาถา มีทั้งที่ต้องอธิบายจึงจะรู้ว่าเป็นสถานที่อะไร และที่เอ่ยขึ้นมาก็รู้กันดีโดยไม่ต้องอธิบาย เช่น
– “ศาลาลงสรง” = ศาลาที่สร้างขึ้นชั่วคราวสำหรับใช้ในพระราชพิธีโสกันต์หรือพระราชพิธีเกศากันต์และพระราชพิธีลงท่า
– “อาโรคยศาลา” หรือ “อาโรคยศาล”= โรงพยาบาล
– “ศาลาลูกขุน” = ที่ทำการของลูกขุน
– “ศาลาราย” = ศาลาที่สร้างเป็นหลัง ๆ เรียงเป็นแนวรอบโบสถ์หรือวิหาร เช่น ศาลารายวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
– “ศาลาฉทาน” = สถานที่แจกจ่ายอาหารแก่คนทั่วไปเป็นการกุศล
– “ศาลาพักร้อน”
– “ศาลาริมทาง”
– “ศาลาวัด”
: แม้เป็นเพียงศาลา
อย่าดูถูกว่าต้อยต่ำ
ถามตัวเองสักคำ
ทำประโยชน์เหมือนศาลาได้บ้างหรือยัง
บาลีวันละคำ (453)
11-8-56
สาลา = ศาลา, โรงเรือน, ที่พัก, ที่อาศัย (ศัพท์วิเคราะห์)
สลติ คจฺฉติ เอตฺถาติ สาลา โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา
สล ธาตู ในความหมายว่าไป ณ ปัจจัย อา อิต. พฤทธิ์ อ เป็น อา
สาลา (บาลี-อังกฤษ)
ห้องโถง (มีหลังคาและมีฝาล้อมรอบ), ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์ a large (covered & enclosed) hall, large room, house; shed, stable
คำที่ต่อด้วย -สาลา
อคฺคิ-โรงไฟ a hall with a fire
อาสน-ห้องมีที่นั่ง, หอฉัน hall with seats
อุทปาน-เพิงครอบบ่อน้ำ a shed over the well
อุปฏฺฐาน-ห้องสำหรับบริการ service hall
กฐิน-ห้องสำหรับกฐิน a hall for the kaṭhina
กีฬ-ห้องเล่น playhouse
กุตูหล-ห้องที่พักสำหรับคนทั่วไป a common room
กุมฺภการ-ห้องนายช่างหม้อ potter’s hall
คิลาน-ห้องคนไข้, โรงพยาบาล sick room, hospital
ชนฺตาฆร-ห้องอาบน้ำ (ใหญ่) (large) bath room
ทาน-โรงทาน a hall for donations
ทฺวาร-ห้องที่มีประตู hall with doors
ปานีย-ห้องน้ำดื่ม a water — room
ภตฺต-ห้องอาหาร refectory
ยญฺญ-ห้องบูชายัญ hall of sacrifice
รชน-โรงย้อมผ้า dyeing workshop
รถ- โรงรถ car shed
หตฺถิ-โรงช้าง an elephant stable
อาโรคฺยสาลา = โรงพยาบาล
สาลา อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
โรง.
อคฺคิ- อิต.
เรือนไฟ, โรงบูชาไฟ, ห้องอบตัว
อาสน- อิต.
โรงอาหาร, โรงฉัน.
อุปฏฺฐาน- อิต.
ศาลาเป็นที่บำรุง, หอฉัน, โรงฉัน.
กฐิน- อิต.
บริเวณที่พระภิกษุขึงผ้ากฐินทำให้เป็นจีวร.
กุตูหล- อิต.
ศาลาพักผ่อน, โรงหย่อนใจ, ศาลาสาธารณะ.
กุมฺภการ- อิต.
โรงช่างหม้อ.
คิลาน- อิต.
โรงพักคนไข้, หอรักษาคนไข้, สถานพยาบาล
ทาน- อิต.
โรงทาน.
ทฺวาร- อิต.
ศาลามีประตู.
ปานีย- อิต.
ร้านเครื่องดื่ม, โรงดื่ม.
ภตฺตคฺค นป.
ห้องอาหาร, โรงอาหาร.
ศาลา
น. อาคารทรงไทย ปล่อยโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาวัด ศาลาที่พัก ศาลาท่านํ้า, โดยปริยายหมายถึงอาคารหรือสถานที่บางแห่ง ใช้เพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาพักร้อน ศาลาสวดศพ. (ส.; ป. สาลา).
ศาลากลาง
น. อาคารที่ใช้เป็นที่ทำการของจังหวัด เช่น ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา.
ศาลากลางย่าน
น. อาคารทรงไทย คล้ายศาลาการเปรียญ นิยมสร้างไว้กลางหมู่บ้าน สำหรับให้คนในหมู่บ้านมาประชุม ทำบุญ หรือฟังธรรม เช่น ศาลากลางย่านที่ตำบลบ้านบุ, ศาลาโรงธรรม ก็เรียก.
ศาลาการเปรียญ
น. ศาลาวัดสำหรับพระสงฆ์แสดงธรรม.
ศาลาฉทาน
[-ฉ้อทาน] น. สถานที่แจกจ่ายอาหารแก่คนทั่วไปเป็นการกุศล, ฉทานศาลา ก็เรียก.
ศาลาดิน
น. ศาลาที่ใช้พื้นดินเป็นพื้นหรือพื้นติดดิน ใช้ประกอบศาสนกิจเป็นต้น เช่น ศาลาดินที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม.
ศาลาตักบาตร, ศาลาบาตร
น. ศาลาที่ลักษณะเป็นโรงยาว มีฐานสำหรับตั้งบาตรได้หลายลูก มักปลูกไว้ในย่านกลางหมู่บ้านที่อยู่ไกลวัด ในเวลาเทศกาลที่นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ ก็จะตั้งบาตรเรียงไว้ที่ศาลานั้นเพื่อให้ประชาชนได้ตักบาตร.
ศาลาประชาคม
น. สถานที่หรืออาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประชุมประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชนในชุมชนนั้น ๆ.
ศาลายก
น. ศาลาที่ยกพื้นสูงใช้ประกอบศาสนกิจเป็นต้น เช่น ศาลายกที่หน้าวัดสุทัศนเทพวราราม.
ศาลาราย
น. ศาลาที่สร้างเป็นหลัง ๆ เรียงเป็นแนวรอบโบสถ์หรือวิหาร เช่น ศาลารายวัดพระศรีรัตนศาสดาราม.
ศาลาโรงธรรม
น. ศาลากลางย่าน.
ศาลาลงสรง
[-สง] น. ศาลาที่สร้างขึ้นชั่วคราวสำหรับใช้ในพระราชพิธีโสกันต์หรือพระราชพิธีเกศากันต์และพระราชพิธีลงท่า.
ศาลาลูกขุน
(โบ) น. ที่ทำการของลูกขุน.
ศาลาวัด
น. อาคารที่ปลูกไว้ในวัดสำหรับทำบุญและศึกษาเล่าเรียนเป็นต้น.
ศาลาสรง
[-สง] (ถิ่น-พายัพ, อีสาน) น. ศาลาขนาดย่อมมุงหลังคาและมีฝากั้นมิดชิด ใช้เป็นที่สรงนํ้าพระสงฆ์ที่เคารพนับถือ ปฏิบัติกันในเทศกาลสงกรานต์โดยทํารางนํ้ารูปนาคพาดเข้าไปในศาลา เวลาสรงนํ้าพระให้เทนํ้าลงบนรางนั้น.
สุขศาลา
[สุกสาลา] น. สถานบริการสาธารณสุขที่ไม่มีแพทย์ประจํา ให้บริการสาธารณสุขทุกสาขา และส่งเสริมป้องกันด้านอนามัยแก่ประชาชนในระดับตําบลและหมู่บ้าน, ปัจจุบันเรียกว่า สถานีอนามัย.
วิถี ศาลา คงคา นารี
วิถี ทางร่วมเส้น สัญจร
ศาลา ที่พักนอน ผ่อนร้อน
คงคา ชโลธร เรือแล่น เสมอนา
นารี งามชะอ้อน สี่นี้ของกลาง
(จำมาจากของเก่า)