บาลีวันละคำ

กถา – คาถา (บาลีวันละคำ 2,297)

กถา – คาถา

ไม่ใช่ภาษาอะไรก็ได้

(๑) “กถา

อ่านว่า กะ-ถา รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กถฺ + = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องอันท่านกล่าวไว้

กถา” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation)

(2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)

(3) เรื่องยาวๆ (a longer story)

(4) คำพูด, ถ้อยคำ, คำแนะนำ (word, words, advice)

(5) การอธิบาย, การขยายเนื้อความ (explanation, exposition)

(6) การสนทนาหรืออภิปราย (discussion)

คำว่า “กถา” ที่เป็นคำทั่วไป (คือไม่ใช่คำเฉพาะ) ถ้าอยู่ท้ายคำนาม มีความหมายเท่ากับคำว่า “เรื่อง-” ในภาษาไทย เช่น –

ขันติกถา” = เรื่องขันติ, เรื่องความอดทน

บุญกถา” = เรื่องบุญ

แต่ถ้าเป็นคำเฉพาะ ก็หมายความตามความหมายเฉพาะของคำนั้นๆ เช่น –

อารัมภกถา” = คำปรารภ

ปาฐกถา” = ถ้อยคําหรือเรื่องราวที่บรรยายในที่ชุมนุมชนเป็นต้น; บรรยายเรื่องราวในที่ชุมนุมชนเป็นต้น

(๒) “คาถา

อ่านว่า คา-ถา รากศัพท์มาจาก คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คา + = คาถ + อา = คาถา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” หมายถึง คำกลอน, โศลก, คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง (a verse, stanza, line of poetry)

ในภาษาบาลี คำว่า “คาถา” หมายถึงคําประพันธ์ประเภท “ร้อยกรอง” อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์

คาถาบทหนึ่งจะมี 4 บาท หรือ 4 วรรค จำนวนคำแต่ละวรรคและตำแหน่งคำภายในวรรคที่จะต้องใช้เสียงสั้น-ยาว หนัก-เบา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคาถาแต่ละชนิด ทำนองเดียวกับกาพย์กลอนของไทยที่กำหนดว่าคำไหนต้องสัมผัสกับคำไหน

คาถา ในความหมายว่า “ร้อยกรอง” นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉันท์

ตัวอย่างคาถาหรือฉันท์ 1 บท ในภาษาบาลี เช่นปัฐยาวัตฉันท์ มีบาทละ 8 พยางค์ –

อาโรคฺยปรมา  ลาภา

สนฺตุฏฺฐีปรมํ  ธนํ

วิสฺสาสปรมา  ญาติ

นิพฺพานปรมํ  สุขํ.

คาถา” แปลว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” ความประสงค์ของการแต่งถ้อยคำให้เป็นคาถา ก็เพื่อจะได้ขับขานเป็นท่วงทำนองให้ชวนฟังกว่าการพูดธรรมดานั่นเอง

ในภาษาไทย คำว่า “คาถา” มักเข้าใจกันว่า เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เสกเป่าหรือร่ายมนต์ขลังให้เกิดเป็นอิทธิฤทธิ์บันดาลผลที่ต้องการ

เพื่อเสริมความเข้าใจที่ถูกต้อง โปรดดูความหมายของ “คาถา” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

คาถา : (คำนาม) ‘คาถา,’ กวิตา, คำประพันธ์; โศลก; ฉันทัส, คำฉันท์, พฤตต์; ดาล; เพลง, คำว่า ‘คีต, คีติ, รพ, ราพ, รวะ, ราวะ, เคยะ, คานะ’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; ประกฤตหรือภาษาใดภาษาหนึ่งซึ่งมิใช่สํสกฤต; ชื่อของอารยาฉันท์ (คำประพันธ์ซึ่งมีหกสิบอักษรมาตรา, จัดไว้ต่างๆ กัน); a verse; a stanza, metre; rhythm; a song, a chant; Prākrit or any language not Sanskrit; the name of the Āryā metre (a verse which contains sixty syllabic instants, variously arranged).”

จะเห็นว่าในสันสกฤตก็ไม่มีความหมายไปในทางคำเสกเป่าเพื่อเกิดความขลังศักดิ์สิทธิ์แต่ประการใด

เหตุที่ “คาถา” ในภาษาไทยความหมายเคลื่อนที่ไปจากเดิมน่าจะเป็นเพราะคนไทยนับถือภาษาบาลีว่าเป็นคำพระ เมื่อเห็นคำสอนที่แต่งเป็น “คาถา” มีความหมายในทางดี จึงน้อมมาเป็นกำลังใจ เดิมก็คงเอามาท่องบ่นด้วยความพอใจในความหมายด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่เมื่อนานเข้าก็ทิ้งความเข้าใจในหลักคำสอนที่มีอยู่ในถ้อยคำอันเป็น “คาถา” นั้นๆ คงยึดถือแต่เพียงถ้อยคำหรือเสียงโดยเชื่อว่าเมื่อท่องบ่นแล้วจะเกิดผลดลบันดาลให้สำเร็จในทางนั้นๆ คำว่า “คาถา” จึงกลายความหมายเป็นคำขลังศักดิ์สิทธิ์ไปในที่สุด

ความแตกต่าง :

กถา : คำพูดทั่วไป (talking, speech, word) เทียบกับถ้อยคำในภาษาไทยก็คือ “ร้อยแก้ว” หรือความเรียง

คาถา : คำที่แต่งเป็นกาพย์กลอน (a verse, stanza, line of poetry) เทียบกับถ้อยคำในภาษาไทยก็คือ “ร้อยกรอง” คือ กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์

เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า “กถา” หรือ “คาถา” จึงต้องแน่ใจว่ากำลังพูดถึงถ้อยคำร้อยแก้วธรรมดาหรือถ้อยคำร้อยกรอง ไม่ควรพูดปะปนสับสนอย่างที่เรียกว่า “มั่ว” ส่งเดช โดยเข้าใจไปว่า “กถา” กับ “คาถา” มีความหมายเหมือนกัน หรือคิดเอาเองว่า จะ “กถา” หรือ “คาถา” ก็ใช้ได้เหมือนกัน

ตัวอย่างเช่นคำว่า “ธรรมกถา” กับคำว่า “ธรรมคาถา” อาจมีที่ใช้ทั้ง 2 คำ แต่ความหมายก็จะต่างกัน

ธรรมกถา = การกล่าวธรรมะ, การแสดงธรรมะทั่วไป = ร้อยแก้ว หรือความเรียง

ธรรมคาถา = กาพย์กลอนสอนธรรมะ = ร้อยกรอง

โดยนัยนี้ “ธรรมกถา” คือการแสดงธรรมด้วยคำพูดตามปกติ (บางตอนอาจมีกาพย์กลอนแทรกอยู่ด้วยก็ได้)

แต่ “ธรรมคาถา” หมายถึงการแสดงธรรมเป็นกาพย์กลอนเท่านั้น

จะใช้ “ธรรมกถา” หรือ “ธรรมคาถา” ผู้พูดจึงต้องมั่นใจว่าตนกำลังหมายถึงอะไร

ภาษาบาลีไม่ใช่ภาษาที่ใครจะคิดเอาเองว่า อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำพูดที่ถูกใจอาจไม่ช่วยจรรโลงธรรมะ

: แต่คำพูดที่ถูกธรรมะย่อมช่วยจรรโลงใจ

#บาลีวันละคำ (2,297)

26-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย