พระพิธีธรรม (บาลีวันละคำ 455)
พระพิธีธรรม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “พิธีธรรม” และบอกไว้ว่า
“พระสงฆ์จํานวน 4 รูปที่ได้รับสมมุติให้สวดภาณวารหรือสวดอาฏานาฏิยสูตร ในงานพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ หรือสวดอภิธรรมในการศพของหลวง เรียกว่า พระพิธีธรรม”
คำว่า “พระพิธีธรรม” ว่ากันว่าเดิมเขียนเป็น “พระพิธีทำ” (ท อำ ทำ ภาษาไทย)
ถ้าเขียนเช่นนี้ชวนให้ลากเข้าความว่า “พระที่เป็นผู้ทำพิธี”
มีคำอ้างว่า มาถึงรัชกาลที่ 4 ทรงตำหนิว่าการเขียนอย่างนี้เป็นการมักง่ายและดาดเกินไป ความหมายของคำนั้นหมายเอาพระสงฆ์ผู้มีความรู้ความสามารถในอันจะประกอบพิธีการได้โดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างไปจากพระสงฆ์อื่นๆ ทั่วไป
จากนั้นมา คำว่า “พระพิธีทำ” จึงเขียนเป็น “พระพิธีธรรม”
คำว่า “พิธีธรรม” จึงไขความให้คล้อยตามคำว่า พิธีการทางธรรม หรือพิธีการทางศาสนา
หนังสือ “พระพิธีธรรม” ของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม สรุปไว้ว่า
“ปัจจุบันหากกล่าวถึงพระพิธีธรรม หมายถึง พระสงฆ์ที่สวดพระอภิธรรมงานศพหลวงและงานศพในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์ พระอนุเคราะห์ และสวดจตุรเวท เพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์เท่านั้น”
พระพิธีธรรม ถือเป็นสมณศักดิ์ประเภทหนึ่ง แต่มิได้พระราชทานแก่ตัวพระสงฆ์ หากแต่พระราชทานแก่วัด หมายความว่ามีกำหนดไว้ว่าวัดใดบ้างที่มีตำแหน่ง “พระพิธีธรรม” โดยให้เจ้าอาวาสมีอำนาจแต่งตั้งพระในวัดนั้นให้เป็นพระพิธีธรรม
น่าจะมีผู้ไม่เข้าใจอยู่เป็นอันมากว่า “พระพิธีธรรม” คืออะไร จึงมีถ้อยคำแปลกๆ ปรากฏทางสื่อต่างๆ เป็นต้นว่า
– ประชาชนร่วมพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมถวายสักการะศพ…
– ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพนาย…
– ท่าน ..(ชื่อบุคคล).. เป็นประธานในการพระราชทานพิธีธรรม
– หลังจากพิธีธรรมพระราชทาน 3 วันแล้ว ..(ชื่อหน่วยงาน).. จะเป็นเจ้าภาพ
“พระพิธีธรรม” ไม่ใช่ชื่อพิธีการหรือพระราชพิธีใดๆ แต่เป็นคำเรียกพระสงฆ์
จำแบบง่ายๆ ไว้ก่อนก็ได้ – พระพิธีธรรมคือพระสงฆ์ที่สวดพระอภิธรรมในงานศพหลวงหรือศพที่อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ แบบเดียวกับพระที่สวดพระอภิธรรมในงานศพชาวบ้านนั่นเอง
: การพูดว่า “ข้าพเจ้ารักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” – ดีมาก
: การศึกษาให้เข้าใจแบบแผนวัฒนธรรมอันมีอยู่ในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง – ดีที่สุด
บาลีวันละคำ (455)
13-8-56
(โพสต์)
Bancha Suvannanonda
๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๖
ควรแก้ไขประโยคต่อไปนี้ว่าอย่างไรครับอาจารย์
– ประชาชนร่วมพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมถวายสักการะศพ…
– ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพนาย…
– ท่าน ..(ชื่อบุคคล).. เป็นประธานในการพระราชทานพิธีธรรม
– หลังจากพิธีธรรมพระราชทาน 3 วันแล้ว ..(ชื่อหน่วยงาน).. จะเป็นเจ้าภาพ
Up Jaya
๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๖
เติม “การ” ครับ “การพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม” นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย จะกลายเป็นงาน ตามแบบท่ีหลวงใช้
อีกอย่างคือ การศพในพระบรมราชานุเคราะห์ กับการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม เป็นคนละอย่างกันครับ การพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์งานศพนั้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ดอกไม้ น้ำเลี้ยง ข้าวของ เป็นส่วนพระราชทานทั้งหมด ซ่ึงแล้วแต่ว่าจะพระราชทานพระมหากรุณาแก่ใครอย่างไรบ้าง ส่วนการพระราชทานพระพิธีธรรมนั้นมีระเบียบเป็นแบบไว้ว่าบรรดาศักดิ์ใดพระราชทานก่ีวันก่ีคืน อาจมากขึ้นได้ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พูดมาเสียยาว ขอสรุปครับ การพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม อาจไม่ใช่งานในพระบรมราชานุเคราะห์ แต่งานสวดพระอภิธรรมในพระบรมราชานุเคราะห์ จะพระราชทานพระพิธีธรรมเสมอ
นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย
(ไม่ได้โพสต์)
ขออนุญาตส่งการบ้าน ท่าน
โปรดถือว่าเป็นเพียง “ร่าง” นะครับ ขอท่านผู้รู้ช่วยตกเติมตัดต่อได้ด้วยประการทั้งปวง
ข้อ ๑ ประชาชนร่วมพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมถวายสักการะศพ…
น่าจะว่า
– ประชาชนร่วมพิธีบำพ็ญพระราชกุศลการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพ…
ข้อ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพนาย…
น่าจะว่า
– ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับศพนาย..ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด (๓ คืน)..
ข้อ ๓ ท่าน ..(ชื่อบุคคล).. เป็นประธานในการพระราชทานพิธีธรรม
น่าจะว่า
– ท่าน ..(ชื่อบุคคล).. เป็นประธานในพิธีบำพ็ญกุศลการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ …
ข้อ ๔ หลังจากพิธีธรรมพระราชทาน 3 วันแล้ว ..(ชื่อหน่วยงาน).. จะเป็นเจ้าภาพ
น่าจะว่า
– หลังจากพ้นกำหนดพระบรมราชานุเคราะห์ 3 วันแล้ว ..(ชื่อหน่วยงาน).. จะเป็นเจ้าภาพ
———
ตอบคำถาม
ตามคำนิยามของ พจน.๔๒ “พิธีธรรม” หมายถึง “พระสงฆ์จํานวน 4 รูปที่ได้รับสมมุติให้สวดภาณวารหรือสวดอาฏานาฏิยสูตร ในงานพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ หรือสวดอภิธรรมในการศพของหลวง”
และตามคำสรุปในหนังสือ พระพิธีธรรม กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม หน้า ๗ บอกว่า “ปัจจุบันหากกล่าวถึงพระพิธีธรรม หมายถึง พระสงฆ์ที่สวดพระอภิธรรมงานศพหลวงและงานศพในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์ พระอนุเคราะห์ และสวดจตุรเวท เพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์ เท่านั้น ส่วนพระสงฆ์ที่สวดพระอภิธรรมในงานราษฎร์ทั่ว ๆ ไป พระสงฆ์ที่สวดภาณยักษ์ และพระสงฆ์ที่สวดพุทธาภิเษกไม่เรียกว่า พระพิธีธรรม แต่พระพิธีธรรมจะไปสวดในงานราษฎร์ต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นก็ได้” (หมายถึงไปสวดเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่ไปในตำแหน่งพระพิธีธรรม)
คงจะเป็นคำตอบได้นะครับ
เรียน คุณครู
ตามกรณีที่คุณครูกรุณาถาม น่าจะใช้ถ้อยคำดังนี้ –
๑ กรณีพระราชทานน้ำอาบศพ ใช้ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ”
๒ กรณีศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ใช้ว่า
– “…ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับการศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด … คืน หลังจากนั้นเจ้าภาพจะบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมต่อไปอีก … คืน”
๓ กรณีศพไม่อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ แต่มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ใช้ว่า
“…ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด … คืน หลังจากนั้นเจ้าภาพจะบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมต่อไปอีก … คืน”
อนึ่ง ในกรณีระบุถึงผู้เป็นประธานในคืนที่มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ใช้ว่า
– “…. เป็นประธานในการบำพ็ญกุศลการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม”
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาครับ
———
ข้อมูล
พิธีธรรม
น. พระสงฆ์จํานวน ๔ รูปที่ได้รับสมมุติให้สวดภาณวารหรือสวดอาฏานาฏิยสูตร ในงานพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ หรือสวดอภิธรรมในการศพของหลวง เรียกว่า พระพิธีธรรม.
– เสด็จไปทรงสดับพระพิธีธรรมที่พระที่นั่งดุสิตฯ ทุกราตรี (“The King of The Kings” โดย ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม)
– ท่าน …(ชื่อบุคคล)… เป็นประธานในการพระราชทานพิธีธรรม –
– หลังจากพิธีธรรมพระราชทาน ๓ วันแล้ว …(ชื่อหน่วยงาน)… จะเป็นเจ้าภาพ
– พระพิธีธรรม หรือที่เรียก “พระจตุเวท” หรือ “พระจตุรเวท” คือพระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์ให้มาสวดจตุรเวทที่หอพระศาสตราคมในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ทุกวันพระตลอดปีจนถึงปัจจุบัน
(หนังสือ คู่มือการปฏิบัติงานนิตยภัต ของ ส่วนกิจการคณะสงฆ์ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มิถุนายน ๒๕๕๕ หน้า ๒)
หนังสือ พระพิธีธรรม กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ๒๕๕๔
คำนำ
– เมื่อมีผู้วายชนม์ซึ่งได้รับการพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม
กรมการศาสนามีหน้าที่ในการนิมนต์ รับและส่งพระพิธีธรรมไปในการสวดพระอภิธรรม
หน้า ๕
“…ที่มาของคำว่าพระพิธีธรรมนั้น เดิมมาแต่ยุคก่อน
รัชกาลที่ ๔ เขียนโดยตรงด้วยทีเดียวว่า “พระพิธีทำ” ทรงตำหนิว่า
การเขียนอย่างนี้เป็นการมักง่ายและดาดเกินไป ความหมาย
ของคำว่าพระพิธีทำนั้นหมายเอาพระสงฆ์ผู้มีความรู้ ความสามารถ
ในอันจะประกอบพิธีการได้โดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างไปจากพระสงฆ์
อื่น ๆ ทั่วไป ฉะนั้น คำว่า “พระพิธีธรรม” จึงเป็นตำแหน่ง
ของสงฆ์…” ความรู้เรื่องพิธีธรรมเนียมสงฆ์ เล่ม ๒ เริง อรรถวิบูลย์. ๒๕๑๒. หน้า ๘๗. อ้างถึงใน เดชา ศรีคงเมือง. ๒๕๕๘. หน้า ๙๓
หน้า ๗
พระพิธีธรรม หมายถึง พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่มีความรู้
ความสามารถในอันที่จะประกอบพิธีต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา
โดยเฉพาะเกี่ยวกับการสวดในงานพระราชพิธีต่าง ๆ แต่เดิมมานั้น
พระสงฆ์ดังกล่าวปฏิบัติเกี่ยวกับพิธีต่าง ๆ คือ
๑. ทำหน้าที่สวดอาฏานาฏิยสูตร ในการพระราชพิธี
สัมพัจฉรฉินท์ ซึ่งในปัจจุบันพระราชพิธีดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
คงเหลืออยู่แต่ในงานศาสนพิธีของท้องถิ่นที่เรียกกันว่า สวดภาณยักษ์
๒. ทำหน้าที่สวดจตุรเวท คือ การสวดพระปริตรที่หอ
พระศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์ถวาย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๓. ทำหน้าที่สวดพระอภิธรรม ในการศพทั้งที่เป็นงานหลวง
ทั้งที่เป็นงานในพระบรมราชานุเคราะห์และงานในพระราชานุเคราะห์
๔. ทำหน้าที่สวดภาณวารในการพิธีมงคล เช่น การสวดในพิธี
พุทธาภิเษก เทวาภิเษก หรือมังคลาภิเษก เป็นต้น
ปัจจุบันหากกล่าวถึงพระพิธีธรรม หมายถึง พระสงฆ์ที่สวด
พระอภิธรรมงานศพหลวงและงานศพในพระบรมราชานุเคราะห์
พระราชานุเคราะห์ พระอนุเคราะห์ และสวดจตุรเวท เพื่อทำน้ำ
พระพุทธมนต์ เท่านั้น ส่วนพระสงฆ์ที่สวดพระอภิธรรมในงานราษฎร์
ทั่ว ๆ ไป พระสงฆ์ที่สวดภาณยักษ์ และพระสงฆ์ที่สวดพุทธาภิเษก
ไม่เรียกว่า พระพิธีธรรม แต่พระพิธีธรรมจะไปสวดในงานราษฎร์ต่าง ๆ
ดังกล่าวนั้นก็ได้
บทที่ ๖ หลักเกณฑ์เทียบเกียรติยศพระราชทานแก่พระศพและศพ
ในช่อง
เครื่องเกียรติยศที่ได้รับพระราชทานเมื่อสิ้นชีวิต
ยกมาเป็นตัวอย่างเฉพาะชั้น สมเด็จพระราชาคณะ
– น้ำหลวง
– ไตรครองถวายสุกำศพ
– โกศไม้สิบสอง
– ฉัตรเครื่อง
– แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่กลองชนะ ๑๐ ประโคมเวลารับพระราชทานน้ำสรงศพ
– พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ๗ คืน
– ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน
กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง แจ้งฝ่ายพิธี กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา ว่ามีผู้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาจะนิมนต์พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม
หนังสือ พระพิธีธรรม กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ๒๕๕๔
– พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทาน พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ นายชาตรี ช่วยประสิทธิ์ ม.ป.ช. , ม.ว.ม. อดีตรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร ศาลา 4 เขตป้องปราบ กุรงเทพมหานคร โดยมีกำหนดดังนี้
วันที่ 6 ธันวาคม 2554
เวลา 17.30 น. – พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
วันที่ 6 – 8 ธันวาคม 2554
เวลา 18.30 น. – พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ
วันที่ 9 – 12 ธันวาคม 2554
เวลา 18.30 น. – พิธีสวดพระอภิธรรมศพ
วันที่ 14 ธันวาคม 2554
เวลา 16.00 น. – พิธีพระราชทานเพลิงศพ
อนึ่ง นายชาตรี ช่วยประสิทธิ์ อดีตรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม 2554
เผยแพร่โดย : กลุ่มประชาสัมพันธ์ สนย.สป.ทส.
http://website.mnre.go.th/ewt_news.php?nid=549&filename=index
– ปชช.ร่วมพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมถวายสักการะพระศพเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ
– พระพิธีธรรม”คำวัด”
พระพิธีธรรม : “คำวัด” โดยพระธรรมกิตติวงศ์
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา ๑๖.๓๗ น. วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ รวมพระชันษา ๘๕ ปี โดยมีพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนราชการ ภาคเอกชน และพสกนิกรชาวไทย พร้อมใจกันไปถวายสักการะพระศพและฟังพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม เพื่อส่งเสด็จพระองค์สู่สวรรคาลัย ตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า “พระพิธีธรรม” ไว้ว่า พระพิธีธรรม คือ พระสงฆ์ จำนวน ๔ รูป ที่สวดเกี่ยวกับงานพิธีหลวง เช่น สวดพระอภิธรรมในศพของหลวง สวดภาณวาร หรือสวดอาฏานาฏิยสูตร ในงานพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ ซึ่งเรียกว่าสวดอัฏนา หรือสวดอาฏานา (อัฏนา คือการยิงปืนในการสวดอาฏานาฏิยสูตร)
พระพิธีธรรม ถือเป็น สมณศักดิ์ประเภทหนึ่ง (ไม่พระราชทานแก่พระสงฆ์ แต่พระราชทานแก่วัด) พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจากวัดที่เป็นพระอารามหลวงเป็นส่วนมาก ทั้งนี้ทางวัดจะแต่งตั้งวัดละ ๑ สำรับ สำรับละ ๔ รูป เป็นพระพิธีธรรม เพื่อสวดในการบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ เช่น สวดพระอภิธรรมในงานพระบรมศพ พระศพ หรือศพในพระบรมราชานุเคราะห์ สวดอาฎานาฏิยสูตรในพระราชพิธีสงกรานต์ เป็นต้น
นอกจากนี้ พระพิธีธรรมต้องไปสวดจตุรเวทที่หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวังทุกวันพระ เวียนกันไปวัดละ ๑ เดือน ส่วนการนิมนต์พระพิธีธรรมไปสวดในศพของหลวงนั้น จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายพิธี กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
พระพิธีธรรม ในปัจจุบันนอกจากสวดพระอภิธรรมแล้ว ต้องไปสวดจตุรเวทที่หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวังทุกวันพระเวียนกันไป วัดละ ๑ เดือน พระพิธีธรรมมีเฉพาะในวัดที่ทางราชการกำหนดไว้ ปัจจุบันมี ๑๐ วัด วัดละ ๔ รูป คือ วัดราชสิทธาราม, วัดอนงคาราม, วัดประยุรวงศาวาส, วัดจักรวรรดิราชาวาส, วัดระฆังโฆสิตาราม, วัดมหาธาตุ, วัดสระเกศ, วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดสุทัศนเทพวราราม
พัดพระพิธีธรรมมี ๔ ด้าม มีลักษณะเป็นพัดหน้านาง มีพื้นสีต่างๆ กันซึ่งบ่งบอกถึงตำแหน่งลำดับของการนั่ง เช่น สีเหลือง สำหรับหัวหน้าแม่คู่รูปที่หนึ่ง (รูปที่เป็นต้นเสียง) สีแดง สำหรับแม่คู่รูปที่สอง สีน้ำเงิน สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่หนึ่ง สีเขียว สำหรับเคียงแม่คู่รูปที่สอง
– พระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระพิธีธรรมประจำทั้งกลางวันและกลางคืน รับพระราชทานฉันเช้าจำนวน 8 รูป ฉันเพล 8 รูป กำหนด 100 วัน ซึ่งในแต่ละวันจะมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมและประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. โดยจะมีพระพิธีธรรมรับพระราชทานฉันเช้าในเวลา 07.00 น. และพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมฉันเพลเวลาประมาณ 11.00 น.
– งานศพเมื่อวันจันทร์ วันแรก – คุณครู พลเรือเอกธาดา ดิษฐบรรจง ประธานที่ปรึกษาชมรมมิตรประดู่ฯเป็นประธานในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และ พลเรือเอกชุมพล ปัจจุสานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในการพระราชทานพิธีธรรม – มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เพื่อน ผู้ที่เคารพรักและศิษย์ของท่านตลอดจนครอบครัวไปร่วมพิธีเกิน ๒๕๐ ท่าน (นับจากอาหารกล่องที่เตรียมไว้)…..หลังจากพิธีธรรมพระราชทาน ๓ วันแล้ว กองทัพเรือจะเป็นเจ้าภาพในวันพฤหัสบดี แล้วคณะต่างๆจะรวมกันเป็นเจ้าภาพต่ออีก ๔ วัน ก่อนมอบร่างให้สภากาชาดไทย (ข่าว พลเรือเอก ดิลก ภัทรโกศล ถึงแก่กรรม)