บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่างไรคือบุพการี-ผู้มีพระคุณ

อย่างไรคือบุพการี-ผู้มีพระคุณ

—————————-

………………………………

พ่อแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงดูลูก 

เช่นแม่ไปคลอดทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล

คลอดแล้วเอาไปทิ้งไว้หน้าบ้านคนอื่น

เอาไปทิ้งที่กองขยะ

สรุปว่า คลอดแล้วทิ้งไปเลย ไม่เลี้ยงดูใดๆ ทั้งสิ้น

พ่อแม่ชนิดนี้จัดว่าเป็นบุพการีหรือไม่

จัดว่าเป็นผู้มีพระคุณหรือไม่

………………………………

ศึกษาค้นคว้าจากหลักวิชาก่อนแล้วค่อยตอบ

อ่านพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา บรรดาที่เป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาก่อนแล้วค่อยตอบ 

ศึกษาความเห็นของโบราณาจารย์บูรพาจารย์ก่อนแล้วค่อยตอบ

เวลานี้เราพลาดกันตรงนี้มาก 

คือโผล่ขึ้นมาก็แสดงความเห็นนำหน้ามาก่อน

ฉันคิดว่าไม่นะ

ฉันเข้าใจว่าน่าจะมีนะ 

ผมคิดว่ามันน่าจะ…

… นี่เป็นความเห็นส่วนตัวนะ

ฯลฯ

เป็นอย่างที่ผู้รู้ท่านว่า –

ชอบ “แสดง” ความเห็น

แต่ไม่ชอบ “แสวง” ความรู้

ปัญหาที่ยกขึ้นตั้งไว้ข้างต้นนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับคำสอนในพระพุทธศาสนา 

พระพุทธศาสนาไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ หรือเมื่อร้อยปีมานี้ แต่เกิดขึ้นมาสองพันหกร้อยกว่าปีแล้ว

มีคนรู้เห็นมาก่อนเรานานนักหนา

อะไรที่เราเชื่อ ก็มีคนเชื่อมาก่อนเรานานนักหนา

อะไรที่เราสงสัย ก็มีคนสงสัยมาก่อนเราทั้งนั้น

คำสอนข้อไหน มีคำอธิบายอย่างไร ท่านก็อธิบายไว้แล้ว

ข้อสงสัยข้อไหน มีคำตอบว่าอย่างไร ท่านก็ตอบกันไว้แล้ว

หน้าที่ของเราคือศึกษาเรียนรู้ให้รู้เข้าใจเรื่องเหล่านั้น ให้เข้าใจคำตอบเหล่านั้น ซึ่งรวมเรียกว่า องค์ความรู้หรือหลักวิชา 

เมื่อได้องค์ความรู้หรือหลักวิชาครบถ้วนแล้ว ต่อจากนั้นก็ถึงทีเราบ้างแหละ เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เราจะเห็นตามหรือเห็นต่าง จะสนับสนุนหรือจะโต้แย้งแค่ไหนอย่างไร ว่าไปให้เต็มที่ เป็นสิทธิเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ของเรา 

พระพุทธเจ้าไม่เคยลงโทษ หรือสาปแช่ง หรือสั่งสาวกให้ไปเข่นฆ่าพิฆาตผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสอนของพระองค์ 

ที่เราเรียนบาลีกันก็คือการเตรียมอุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับเอาไปใช้ศึกษาค้นคว้าตรวจสอบเทียบทานคำสอนของพระพุทธเจ้า-ซึ่งบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี

ปัญหาที่ยกขึ้นตั้งไว้ข้างต้น-อันเป็นเรื่องที่กำลังพูดกันกระหึ่มอยู่ในเวลานี้-ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับคำสอนในพระพุทธศาสนา จึงย่อมเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของนักศึกษาพระพุทธศาสนา-โดยเฉพาะผู้ที่เรียนบาลี-ที่จะต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้าหาคำตอบ ตามกรอบหรือหลักการศึกษาอันเป็นหลักสากล นั่นคือ 

๑ ศึกษาเรื่องเดิมให้ได้องค์ความรู้หรือหลักวิชาครบถ้วนก่อน 

๒ ต่อจากนั้นถ้ายังติดใจประเด็นไหนอย่างไร หรือต้องการจะแสดงความเห็นอย่างไร จึงค่อยแสดงบนฐานแห่งองค์ความรู้หรือหลักวิชานั้นๆ 

ไม่ใช่นึกอยากจะพูดอะไรก็พูดกันเปรอะ

เป็นที่น่าอนุโมทนาที่เวลานี้มีการรณรงค์ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีกันอย่างคึกคัก 

มีผู้มีจิตศรัทธาให้การสนับสนุนกันอย่างเข้มแข็ง 

ขอเชิญชวนชักชวนให้ช่วยกันสนับสนุนให้ยิ่งๆ ขึ้นไป 

ช่วยกันอนุโมทนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

แต่การเรียนบาลีนั้นไม่ใช่จบแค่สอบได้

แต่ต้องก้าวหน้าต่อไปถึงการศึกษาค้นคว้าตรวจสอบเทียบทานพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ซึ่งเรียกเป็นคำรวมว่าศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ พร้อมๆ ไปกับการลงมือปฏิบัติตามคำสอนนั้นๆ ด้วย

ศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ก็เพื่อหาคำตอบมาตอบปัญหาต่างๆ ที่ค้างคาใจผู้คน-เช่นปัญหาพ่อแม่มีบุญคุณหรือไม่เป็นต้นดังที่ยกไว้ข้างต้น

การส่งเสริมสนับสนุนให้เรียนบาลีนั้นมีผู้ทำกันอยู่มากแล้ว ควรแก่การอนุโมทนา

แต่การส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนบาลีก้าวหน้าต่อไปถึงขั้นการศึกษาค้นคว้าตรวจสอบเทียบทานพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาซึ่งเป็นเป้าหมายที่ถูกต้องแท้จริงของการเรียนบาลีนั้น —

กล่าวได้ว่ายังไม่มีใครทำ 

หรือแทบจะไม่ปรากฏ

ผมจึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนชักชวนญาติมิตรทั้งปวงให้เกิดศรัทธามีอุตสาหะช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนบาลีตลอดจนผู้ใฝ่รู้ทั่วไปลงมือศึกษาค้นคว้าตรวจสอบเทียบทานพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา 

การช่วยกันทำเช่นนี้ นอกจากจะได้องค์ความรู้หรือหลักวิชามาตอบโจทย์ที่คาใจของสังคมอย่างมีหลักมีเกณฑ์แล้ว ยังเป็นการรักษาสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวพร้อมๆ กันไปในตัวอีกด้วย

ปัญหาที่ตั้งไว้ข้างต้นโน้นก็เป็นอุบายวิธีอย่างหนึ่งในการชักชวนจูงใจให้ช่วยกันศึกษาค้นคว้า 

เมื่อเข้าใจเหตุผลต้นปลายดังที่บรรยายมานี้โดยตลอดแล้ว ต่อไปนี้ก็ขอเชิญช่วยกันหาคำตอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่แถลงมานั้นโดยทั่วกันเถิด 

แสวงความรู้ก่อน

แล้วค่อยแสดงความเห็น

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๓

๑๑:๑๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *