อภิสิทธิ์กับความเคารพนับถือ
อภิสิทธิ์กับความเคารพนับถือ
——————–
เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๘ ผมโพสต์บทความเรื่อง “ทางรอด” มีญาติมิตรท่านหนึ่ง ใช้นามว่า ร.รัตน์ เปรียญ ส่งภาพข้อความของท่านผู้หนึ่งมาลงในช่องแสดงความผิดเห็น
ภาพข้อความก็เป็นดังที่ผมนำลงประกอบเรื่องนี้
ผมได้คัดลอกข้อความในภาพออกมาเพื่อความสะดวกในการอ่าน ดังต่อไปนี้ (โปรดตรวจสอบกับข้อความในภาพด้วย)
———-
…………
สวัสดีค่ะ ดิฉันได้เห็นกระทู้หนึ่งถามเรื่องการให้สิทธิพระขึ้นเครื่องบินก่อน แต่ไม่ทันได้อ่านเนื้อหาด้านใน ก็ถูกลบไปแล้ว (เว็บมาสเตอร์ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องความวิตกจริต)
อย่างก็ตาม จะจริงหรือไม่ไม่ทราบ แต่ก็เห็นได้จากขนส่งสาธารณะทั่วไปในประเทศไทย เช่น…
– ที่นั่งพิเศษสำหรับพระ
– ผู้หญิง/ผู้ชายบางคนถูกพนักงานในรถให้ย้ายที่ เพื่ออำนวยความสะดวกที่นั่งให้แก่พระภิกษุ
หลายท่านอาจไม่รู้สึกผิดปกติอะไร ย่อมไม่แปลกเพราะเราถูกสั่งสอนและใช้ชีวิตแบบนั้นมานานนัก แต่ดิฉันคิดว่าถึงเวลาที่เราควรตั้งคำถามว่า สังคมในยุค ๒๕๕๘ ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ มีเหตุผลอะไรที่เราต้องให้อภิสิทธิ์นักบวชในศาสนาหนึ่งขนาดนี้?
(อันนี้จะขอแค่ประเด็นการใช้ขนส่งสาธารณะก่อน)
๑. ดิฉันคิดว่าประเทศไทยไม่ใช่รัฐศาสนา และเราเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางความเชื่อ รวมถึงคนไม่มีศาสนา การให้อภิสิทธิ์แก่กลุ่มบุคคลเพียงศาสนาใด เป็นการเลือกปฏิบัติ
๒. ศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ก็ไม่ควรกระทบต่อผู้อื่น ซึ่งกรณีพระมันต่างอะไรกับการชี้นิ้วบอกผู้ชายว่าเธอต้องลุกให้ผู้หญิงนั่งนะ? มันต่างอะไรกับที่แปะป้ายว่า นี่ที่นั่งคนขาว?
และความเชื่อห้ามโดนตัวผู้หญิง ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลอยู่ดี ไม่ควรที่จะต้องไปบังคับคนอื่นให้ทำตามด้วย หรือต้อง(บังคับ)เสียสละเพื่อให้คุณไปสู่นิพพาน
หลายคนอาจบอกว่าฉันยังทำได้เลย ไม่เห็นรู้สึกอะไร…แต่ดิฉันรู้สึกนี่คะ และยังมีคนอีกหลายคนที่รู้สึก แต่ไม่กล้าพูด กลัวต่อสังคมคลั่งศาสนานี่ไง
ต่อให้อ้างเรื่องน้ำใจ ก็ควรเป็นการตัดสินใจอย่างอิสระ แต่ในสังคมเรามันไม่ใช่ มันถูกกดดันโดยวัฒนธรรม ถูกกดดันโดยผู้คนในสังคม ที่คิดว่าตัวเองกำลังธำรงซึ่งคุณงามความดีอยู่
ดิฉันไม่เห็นด้วยที่เราจะให้อภิสิทธิ์แก่พระภิกษุในระบบขนส่งสาธารณะ (รวมถึงนักบวชในทุกศาสนา-ถ้ามี)
แก้ไขข้อความเมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๔:๒๔:๑๘
…………
———-
คำถามของผมก็คือ ญาติมิตรอ่านแล้วคิดอย่างไร ?
…………………………….
…………………………….