ปรากฏการณ์ (บาลีวันละคำ 1,543)
ปรากฏการณ์
อ่านว่า ปฺรา-กด-กาน, ปฺรา-กด-ตะ-กาน (ตาม พจน.54)
ประกอบด้วย ปรากฏ + การณ์
(๑) “ปรากฏ”
บาลีเป็น “ปากฎ” (ปา-กะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก ป (แทนศัพท์ว่า “ทสฺสน” = การมองเห็น) + กฏฺ (ธาตุ = ไป) + อ ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ ป เป็น อา (ป > ปา)
: ป + กฏฺ = ปกฏฺ + อ = ปกฏ > ปากฎ (ปุงลิงค์, และบางทีใช้เป็นคุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปสู่ทัศนวิสัย” (คือมองเห็นชัด)
“ปากฎ” (สะกดเป็น “ปากต” ก็มี) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ทั่วไป, สามัญ, ไม่อยู่ใต้บังคับ (common, vulgar, uncontrolled)
(2) เปิดเผย, ธรรมดา, ไม่ปิดบัง (open, common, unconcealed)
(3) เป็นที่รู้โดยทั่วไป, คุ้นเคย (commonly known, familiar)
(4) บันลือ, มีชื่อเสียง (renowned, well-known)
“ปากฎ” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ปรากฏ”
(๒) “การณ์”
บาลีเป็น “การณ” (กา-ระ-นะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)
: กรฺ + ยุ > อน = กรน > กรณ > การณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำผล”
“การณ” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือหมายถึง การกระทำ, วิธีทำ, การปฏิบัติ, การลงโทษ, การฆ่า, การงาน, หน้าที่, เหตุผล, เหตุ, ความจำเป็น (a deed, action, performance, an act imposed or inflicted upon somebody by a higher authority; punishment, killing, task, duty obligation, acting, action as material cause, intellectual cause, reason, necessity, needs)
ปากฎ + การณ = ปากฎการณ > ปรากฏการณ์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปรากฏการณ์ : (คำนาม) การสําแดงออกมาให้เห็น.”
“ปรากฏการณ์” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษ 2 คำ คือ phenomenon และ effect
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล phenomenon เป็นบาลีว่า –
(1) diṭṭhivisaya ทิฏฺฐิวิสย (ทิด-ถิ-วิ-สะ-ยะ) “ขอบเขตที่มองเห็นได้” = สิ่งที่เกิดขึ้นและอยู่ในวิสัยที่มองเห็นและรับรู้ได้
(2) dassana ทสฺสน (ทัด-สะ-นะ) = สิ่งที่ปรากฏขึ้น, เหตุการณ์ที่มองเห็น
(3) abbhuta อพฺภุต (อับ-พุ-ตะ) = เหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น
และแปล effect เป็นบาลีว่า –
(1) phala ผล (ผะ-ละ) = ผลที่เกิดขึ้น
(2) payojana ปโยชน (ปะ-โย-ชะ-นะ) “ผลจากการประกอบ” = ประโยชน์
(3) vipāka วิปาก (วิ-ปา-กะ) “ผลที่สุกงอม” = ผลที่ได้รับ
(4) nissanda นิสฺสนฺท (นิด-สัน-ทะ) “ผลที่หลั่งออก” = ผลที่ได้รับ
(5) attha อตฺถ (อัด-ถะ) = ประโยชน์, ผลที่ต้องการ
(6) nipphatti นิปฺผตฺติ (นิบ-ผัด-ติ) = ความสำเร็จ
อภิปราย :
ถ้าพิจารณาจากความหมายที่แปลภาษาอังกฤษเป็นบาลี
phenomenon ควรจะหมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ฝนตก ลมพัด แผ่นดินไหว อย่างนี้จึงควรเรียกว่า “ปรากฏการณ์”
ส่วน effect ควรจะหมายถึงผลที่ต่อเนื่องมาจากปรากฏการณ์ เช่น น้ำท่วมอันมีสาเหตุมาจากฝนตกหนัก บ้านเรือนพัง ต้นไม้โค่นอันมีสาเหตุมาจากพายุพัดหรือแผ่นดินไหว อย่างนี้คือ effect
คือน้ำท่วม บ้านเรือนพัง ต้นไม้โค่น ฯลฯ ไม่ใช่ตัว “ปรากฏการณ์” แต่เป็นผลมาจากปรากฏการณ์
…………..
: ปรากฏการณ์ยากที่จะควบคุมได้
: แต่การเตรียมกายเตรียมใจไม่ยากที่ฝึกทำ
25-8-59