บาลีวันละคำ

วันเนา ไม่ใช่วันเนาว์ (บาลีวันละคำ 1,061)

วันเนา ไม่ใช่วันเนาว์

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีวันสำคัญอยู่ 3 วัน ที่ควรทำความเข้าใจ คือ :

(๑) วันมหาสงกรานต์

(๒) วันเนา

(๓) วันเถลิงศก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ให้ความหมายของคำทั้งสามนี้แตกต่างจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (ซึ่งถูกปรับปรุงแก้ไขมาเป็นฉบับพ.ศ.2554) ขอนำมาเทียบกันเพื่อเป็นการศึกษา ดังนี้ :

(๑) วันมหาสงกรานต์

– พจน.42 : มหาสงกรานต์ : (คำนาม) นักขัตฤกษ์ขึ้นปีใหม่อย่างเก่า เริ่มแต่พระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีเมษ คือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์.

– พจน.54 : มหาสงกรานต์ : (คำนาม) วันขึ้นปีใหม่อย่างเก่า เริ่มแต่พระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีเมษ เรียกว่า วันมหาสงกรานต์.

(๒) วันเนา

– พจน.42 : เนา ๔ : (คำนาม) วันที่อยู่ถัดจากวันมหาสงกรานต์ หน้าวันเถลิงศก ปรกติตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า วันเนา.

– พจน.54 : เนา ๔ : (คำนาม) วันที่อยู่ถัดจากวันมหาสงกรานต์ หน้าวันเถลิงศก เรียกว่า วันเนา.

(๓) วันเถลิงศก

– พจน.42 : เถลิงศก : (คำนาม) วันที่ดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนขึ้นสู่ราศีเมษได้องศาหนึ่งแล้ว เรียกว่า วันเถลิงศกขึ้นจุลศักราชใหม่ อยู่ต่อจากวันเนา ปรกติตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน, ปัจจุบันหมายถึง วันขึ้นปีใหม่.

– พจน.54 : เถลิงศก : (คำกริยา) ขึ้นจุลศักราชใหม่. (คำนาม) เรียกวันขึ้นจุลศักราชใหม่ ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนขึ้นสู่ราศีเมษได้องศาหนึ่งแล้ว อยู่ต่อจากวันเนา ว่า วันเถลิงศก, ปัจจุบันหมายถึง วันขึ้นปีใหม่.

ข้อสังเกต :

๑ คำอธิบายความหมายวันมหาสงกรานต์ ใช้คำว่า “พระอาทิตย์”

คำอธิบายความหมายวันเถลิงศก ใช้คำว่า “ดวงอาทิตย์”

๒ ในเมื่อแก้ไขคำอธิบายได้ ทำไมจึงไม่แก้คำว่า “พระอาทิตย์” กับ “ดวงอาทิตย์” ให้ตรงกันทั้งสองวัน คือจะใช้ “พระอาทิตย์” หรือ “ดวงอาทิตย์” ก็ควรใช้คำเดียวกันทั้งสองแห่ง

ความเข้าใจอย่างง่ายๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมของวันทั้งสาม :

(๑) วันมหาสงกรานต์ คือวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ในปีเก่าเป็นวันสุดท้ายแล้วย้ายออก

(๒) วันเนา เป็นวันที่อยู่ตรงกลางระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ คือดวงอาทิตย์ย้ายออกจากปีเก่าเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ย้ายเข้าไปอยู่ในปีใหม่ พูดให้เห็นภาพว่า ดวงอาทิตย์อยู่เฉยๆ ว่างๆ ยังไม่ได้ไปไหน

(๓) วันเถลิงศก คือวันที่ดวงอาทิตย์ย้ายเข้ามาอยู่ในปีใหม่เป็นวันแรก

คำว่า “เนา” แปลว่า “อยู่

ตามความหมายนี้จะเห็นได้ว่า “วันเนา” เหมาะที่จะหมายถึง “วันอยู่” คือวันที่ดวงอาทิตย์ไม่ได้ไปไหน

ไม่ได้ไปไหน” คือ “อยู่

อยู่” ก็คือ “เนา

ดังนั้นคำนี้จึงควรเขียนว่า “วันเนา” ไม่ใช่ “วันเนาว์” ดังที่มักจะเขียนกันผิด

เนาว์” เป็นคำไทยที่เปลี่ยนรูปมาจากคำบาลีว่า “นว” (นะ-วะ)

นว” มีความหมาย 2 อย่าง คือ ใหม่ (new) และ จำนวนเก้า (nine) (ดูคำว่า “นว” บาลีวันละคำ (237) 1-1-56)

เมื่อออกเสียง “นะ” แล้วต่อด้วย “วะ” จะต้องห่อริมฝีปาก ทำให้เกิดเสียง “เอา” แทรกกลางเป็น นะ-เอา-วะ หรือ เนา-วะ และเสียง “วะ” จะแผ่วหายไปได้ง่าย เหลือแต่ “เนา” เราจึงใส่การันต์ที่ “” เป็น “เนาว์” อ่านว่า “เนา” ตามธรรมชาติของการเปล่งเสียง

สรุปว่า –

วันเนา” = วันอยู่

ไม่ใช่ “วันเนาว์” = วันใหม่หรือวันเก้า

: ถึงวันต้องไป ยากที่จะรั้งไว้ให้อยู่

: เพราะฉะนั้น จงเตรียมวันอยู่ให้พร้อมที่จะไป

#บาลีวันละคำ (1,061)

14-4-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย