บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เมื่อผมเรียนบาลี ตอน ๑

เมื่อผมเรียนบาลี ตอน ๑

———————–

…………………

ผมสงสัยมานานแล้วครับ 

– ย้อนไปในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า กองบาลีนั้น พิมพ์ข้อสอบอย่างไร มีรูปแบบอย่างไร แล้วการจัดส่งข้อสอบนั้น กองบาลีจัดพิมพ์ให้เองเหมือนสมัยนี้หรือไม่ ? 

– แล้วการประกาศผลสอบ ก่อนที่กองบาลีจะมาตั้งอยู่ที่วัดปากน้ำ ประกาศผลกันอย่างไร บรรยากาศการติดตามผลสอบสมัยก่อนของพระหนุ่มเณรน้อยเป็นอย่างไร ?

จึงขอความเมตตาท่านผู้รู้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของนักเรียนบาลี การสอบบาลีสมัยก่อน (จะเป็นของตัวท่านเองก็ได้) ให้เราพระหนุ่มเณรน้อยได้ทราบจะได้เล่าให้อนุชนเขารับรู้ได้ถึงประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ นี้ ขอความเมตตาโดยเฉพาะรุ่นเก่าๆ ครับ 

ถ้าได้อ่านประวัติศาสตร์เล็กของอาจารย์

ในช่วงบรรยากาศแบบนี้คงเป็นกำลังใจของผู้ที่จะเข้าสอบซ่อมบาลีในไม่ช้านี้นะขอรับ

“ลุงเอก เดียวดาย”

๒๕ มีนาคม ๒๕๖๐

…………………

ผมเริ่มเรียนบาลีเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ ตอนนั้นเป็นสามเณรจากวัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เข้ามาเรียนบาลีที่วัดในตัวเมือง คือวัดมหาธาตุ ราชบุรี

สูตรมาตรฐานสมัยโน้นคือ เรียนไวยากรณ์ ๒ ปี แปลธรรมบทอีก ๑ ปี แล้วเข้าสอบเปรียญธรรม ๓ ประโยค 

ตอนนั้นยังไม่ได้แยกเป็นประโยค ๑-๒ หมายความว่า เปรียญธรรม ๓ ประโยคต้องเรียนแปลธรรมบททั้ง ๘ ภาค ไม่ใช่ ๔ ภาคเหมือนเวลานี้

สูตรมาตรฐานสมัยโน้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ นักเรียนต้องแม่นแบบไวยากรณ์ 

นักเรียนจะต้องท่องแบบไวยากรณ์ให้ครูฟังในชั้นเรียนเป็นกิจวัตรประจำวัน นักเรียนที่ไม่แม่นแบบจะโดนขนาบอย่างหนัก และถ้าไม่แม่นอยู่เรื่อยๆ ก็จะเรียนไม่ทันเพื่อน และที่สำคัญ-ก็จะเรียนไม่รู้เรื่อง

กล่าวได้ว่า “ท่องแบบให้ได้คือหัวใจของการเรียนบาลี”

นักการศึกษาคนไหนที่โจมตีระบบการเรียนแบบที่ให้เด็กท่องจำว่าเป็นระบบที่ผิดพลาด ใช้ไม่ได้ การศึกษาที่ถูกต้องไม่ใช่ให้เด็กท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง … 

ท่านจะเอาทฤษฎีเทวดาแบบนี้มาใช้กับการเรียนบาลีไม่ได้ ต่อให้ท่านไปเกิดเป็นหนอนอยู่ในตู้พระไตรปิฎกก็ตาม

ท่านจะแปลศัพท์ตัวไหนออก ท่านต้องรู้สูตรมาก่อนว่าศัพท์ตัวนั้นต้องผ่านกรรมวิธีอะไรมาบ้างจึงมาเป็นศัพท์ให้เราจ้องมองอยู่ตรงหน้าได้

จะรู้สูตรได้ ท่านต้องจำ

จะจำได้ ท่านต้องท่อง 

(ยกเว้นคนมีสมองมหัจฉริยะ อ่านครั้งเดียวจำไปได้ ๕๐๐ ชาติ)

อานิสงส์ของการท่องแบบได้ก็คือ มันจะเป็นสมบัติติดตัวไปตลอดชาติ เพราะตั้งแต่ประโยค ๓ ไปจนถึงประโยค ๙ ท่านจะต้องพึ่งพาอาศัยไวยากรณ์ทุกประโยคไป 

และต่อจากนั้นเมื่อทำงานค้นคว้าพระคัมภีร์ แบบไวยากรณ์จะเป็นเพื่อนร่วมทางที่ช่วยให้อบอุ่นใจมากที่สุด และช่วยให้ทำงานได้สนุกที่สุด แบบเดียวกับสำนวนร่ายยาวในมหาเวสสันดรกัณฑ์ชูชก 

… ยิ่งเที่ยวมันก็ยิ่งได้ ยิ่งไปมันก็ยิ่งเพลิน …

เครื่องช่วยการเรียนสมัยผม อย่างดีที่สุดที่พอจะหาได้ก็คือ-ฟังเทป

ฟังเทปที่ว่านี้หมายถึงฟังสำนวนการแปลธรรมบทโดยวิธีแปลยกศัพท์และแปลโดยพยัญชนะที่มีผู้อ่านบันทึกเทปไว้แล้วอัดแจกจ่ายไปในหมู่มิตรสหาย 

เทปที่ว่านี้ไม่ได้มีอยู่ทั่วทุกตัวคน แต่มีเพียงบางแห่ง บางวัด หรือบางคน ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าใครสำนักไหนมีเทป พอถึงเวลาก็จะนัดหมายกันไปฟัง

แต่อย่างไรก็ตาม ฟังเทปเป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้น ส่วนที่เป็นหลักจริงๆ คือการเรียนกับครูบาอาจารย์ในชั้นเรียน

สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี มีชั้นเรียนตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ไปจนถึงประโยค ๔ เท่านั้น พอขึ้นประโยค ๕ ไม่มีชั้นเรียน นักเรียนทุกคนต้องพึ่งตัวเองเต็มเวลา อย่างที่เรียกรู้กันว่า “ดูหนังสือเอาเอง” 

ถึงตอนนั้นถ้าใครบริหารเวลาได้ดีมีประสิทธิภาพ โอกาสสอบผ่านก็มีสูง

สำหรับผมเอง มีตารางเวลาที่จัดไว้ตั้งแต่เริ่มเรียนไวยากรณ์ ดังนี้ –

๐๔๐๐ ตื่น ท่องแบบไวยากรณ์ หรือทบทวนหลักทั่วไปที่ต้องใช้ความจำ

๐๖๐๐ ออกบิณฑบาต (ช่วงบ้าเรียนถึงกับจดใส่ฝ่ามือเดินท่องไปด้วย)

๐๘๐๐ ทำวัตรเช้า

๐๙๐๐ ดูหนังสือแปลด้วยตัวเอง

๑๑๐๐ ฉันเพล

๑๓๐๐ เข้าชั้นเรียน

๑๗๐๐ ทำวัตรเย็น (รวมทั้งกวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์ตามกิจวัตร)

๑๘๓๐ เวลาอิสระ

๑๙๐๐ ลงมือดูหนังสือแปลด้วยตัวเอง

๒๒๐๐ จำวัด

๐๔๐๐ ตื่น ท่องแบบไวยากรณ์ หรือทบทวนหลักทั่วไปที่ต้องใช้ความจำ

ตารางเวลาที่ว่านี้ผมปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จะมีเปลี่ยนแปลงบ้างก็เฉพาะกรณีมีกิจส่วนรวมของสงฆ์ที่ต้องช่วยกันทำ แต่กิจวัตรที่เป็นหลักๆ ต้องทำตามเวลา

เคล็ดลับส่วนตัวของผมในช่วงเวลาที่เรียนแปลธรรมบทก็คือ 

ข้อ ๑ ไม่อาศัยหนังสือแปลสำเร็จรูป ที่เรียกกันว่า หนังสือแปลยกศัพท์ เหตุผลก็คือ หนังสือแปลยกศัพท์ทำให้นักเรียนไม่ต้องคิดอะไรด้วยตัวเอง พูดภาษาปากก็ว่า-อาศัยจำลูกเดียว แบบนี้สมองไม่ได้ออกกำลังเลย ผมว่ามันไม่ถูก อย่างน้อยก็ไม่เหมาะสำหรับผม 

ผมชอบหนังสือแปลที่เรียกว่า “เผด็จ” คือแปลโดยอรรถที่มหามกุฏฯ พิมพ์เผยแพร่ครบทั้ง ๘ ภาค 

วิธีการของผมก็คือ 

1 เอาธัมมปทัฏฐกถาและเผด็จภาคที่แปลมาเปิดคู่กัน

2 อ่านบาลีและแปลด้วยตัวเองไปประโยคหนึ่ง แล้วดูเผด็จว่าตรงกับที่เราแปลหรือไม่

3 ถ้าตรง ก็ผ่านประโยคนั้นไป ไม่ต้องกังวล ถ้าเจออีกก็แปลได้อีกเหมือนเดิมเพราะแปลด้วยความรู้ความเข้าใจของเราล้วนๆ และตรงกับที่เผด็จแปลไว้

4 ถ้าไม่ตรง ก็หาข้อบกพร่องว่าผิดตรงไหน แล้วปรับกระบวนท่าใหม่

5 ถ้าเป็นประโยคซับซ้อน แปลด้วยตัวเองไม่ถูกแน่ๆ ก็ใช้วิธีคัดลอกเฉพาะข้อความตรงนั้นลงในสมุด เก็บรวบรวมไว้สำหรับท่องจำเป็นพิเศษ เพราะถ้าเจออีก ก็คงแปลไม่ถูกอีกเพราะความรู้เรายังอ่อน จึงต้องอาศัยท่องจำเข้าช่วย

ใช้วิธีนี้ เมื่อแปลจบทั้ง ๘ ภาคแล้วก็จะมีส่วนที่เราจะต้องท่องจำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รวมทั้ง ๘ ภาคมีเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ อีกทั้งเมื่อดูทบทวนจนเข้าใจได้ดีแล้ว ต่อไปก็ไม่ต้องท่อง เพราะเข้าใจแล้ว เจออีกก็แปลได้ถูกอีก

เคยถามนักเรียนรุ่นใหม่ว่า อ่านเผด็จบ้างหรือเปล่า ปรากฏว่านักเรียนงง ย้อนถามว่าเผด็จคืออะไร 

ไม่ถึงชั่วอายุคน นักเรียนบาลีไม่รู้จัก “เผด็จ” เสียแล้ว น่าเสียดาย

ข้อ ๒ ผมไม่เคยใช้วิธีเก็งข้อสอบ แต่ใช้วิธีเก็งทั้ง ๘ ภาค หมายความว่าเตรียมความรู้ให้พร้อม ออกตรงไหน พร้อมที่จะแปลได้ทุกเรื่อง

ข้อ ๓ ก่อนสอบ ๗ วัน ผมจะพักผ่อนเต็มที่ เปิดสมองเต็มที่ ลืมตำราเรียนสนิท เที่ยวไปตามมิตรสหายแบบคนไม่มีงานอะไรจะทำ 

และพอพรุ่งนี้จะถึงวันสอบ ผมจะจำวัดแต่หัวค่ำ หลับเต็มตื่น เข้าสนามด้วยร่างกายและจิตใจที่พร้อมเต็มร้อย 

ผมทำแบบนี้มาทุกประโยค

ตอนต่อไปจะเล่าถึงเทคนิคการทำข้อสอบครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ มีนาคม ๒๕๖๐

๑๘:๑๗

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *