ทัศนวิสัย – วิสัยทัศน์ (บาลีวันละคำ 352)
ทัศนวิสัย – วิสัยทัศน์
(บาลีไทย)
“ทัศน-” หรือ “ทัศน์” บาลีเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) แปลว่า การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่เห็น, การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, ความเห็น, ทฤษฎี, การแสดง
“วิสัย” บาลีเป็น “วิสย” (วิ-สะ-ยะ) แปลว่า ที่ตั้ง, แหล่งที่; ภูมิภาค, โลก, อาณาจักร, จังหวัด, บริเวณ, ขอบเขต, โลก (ของความรู้สึก), แนว, วง; วิสัย (object), ลักษณะ, คุณสมบัติ, วิสัยแห่งอารมณ์ (object of sense), สุขารมณ์ทางโลกีย์ (sensual pleasure)
ในภาษาไทย “วิสัย” มีความหมายเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ “ความสามารถ” ดังที่ พจน.42 บอกว่า “วิสัย : ความสามารถ เช่น อยู่ในวิสัยที่จะเลี้ยงดูบุตรภรรยาได้, เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะทำได้”
ทัศน + วิสัย = ทัศนวิสัย แปลตามศัพท์ว่า “ขอบเขตที่สามารถมองเห็นได้” เป็นศัพท์ทางภูมิศาสตร์ ตรงกับคำอังกฤษว่า visibility มีความหมายเฉพาะว่า “ระยะทางไกลที่สุดซึ่งสามารถมองเห็นวัตถุด้วยตาเปล่าและบอกได้ว่าวัตถุนั้นเป็นอะไร” ใช้ในความหมายทั่วไปว่า สามารถมองเห็นบรรยากาศรอบๆ ได้ดีหรือไม่ดี เช่น อากาศแจ่มใส ทัศนวิสัยดี หรือ หมอกลงจัด ทำให้ทัศนวิสัยไม่ดี
วิสัย + ทัศน์ = วิสัยทัศน์ แปลตามศัพท์ว่า “การมองเข้าไปในขอบเขต” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า vision มีความหมายว่า การมีความคิดที่จะจัดทำหรือพัฒนาสิ่งใดๆ ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น หรือเรียกสั้นๆ ว่า การมองการณ์ไกล
: ถ้ามีวิสัยทัศน์ที่ดี ต่อให้ทัศนวิสัยเลวเพียงไร ก็มองเห็นกระจ่าง
บาลีวันละคำ (352)
29-4-56
ทสฺสน = ความเห็น, ลัทธิ, ทิฐิ (ศัพท์วิเคราะห์)
ทสฺสยเตติ ทสฺสนํ การเห็น
ทิสฺ ธาตุ ในความหมายว่าเห็น ยุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺสฺ, ยุ เป็น อน
ทสฺสน (บาลี-อังกฤษ)
๑ ตามตัว.การเห็น, การมองดู, การสังเกต; ทัศนะ, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look.
(ก) (นปุง.) “ทัศนะ” (nt.) “sight”
วิสูกทสฺสน การมองดูภาพต่างๆ looking on at spectacles
สิปฺปทสฺสน การแสดงศิลปะ, การแข่งขัน exhibition of art, competition
(ข) คุณ. เป็น (–ทสฺสน) “เกี่ยวกับรูปร่าง” adj. as ( — ˚) “of appearance”
จารุทสฺสน ดูน่ารัก lovely to behold
ภยานกทสฺสน ดูน่ากลัว fearful to look at
๒ ประยุกต์.(อำนาจของ) สัญชาน, ความสามารถแห่งปฏิสัญชาน, ญาณ, การเล็งเห็น, ทัศนะ (view), ทฤษฎี (power of) perception, faculty of apperception, insight, view, theory; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีรวมกับ ญาณ-ทสฺสน “ความรู้และการได้เห็น,” หรือมิฉะนั้นก็อาจจะเป็น “การเล็งเห็นด้วยญาณ,” ความรู้ที่สมบูรณ์, การหยั่งรู้ความจริง, ปัญญา esp. (a) in combn ñāṇa–dassana either “knowing & seeing,” or perhaps “the insight arising from knowledge,” perfect knowledge, realization of the truth, wisdom
วิสย (บาลี-อังกฤษ)
[cp. Sk. viśaya, fr. vi+śī]
๑ ที่ตั้ง, แหล่งที่; ภูมิภาค, โลก, อาณาจักร, จังหวัด, บริเวณ locality, spot, region; world, realm, province, neighbourhood Sn 977. Often in foll. combns: petti˚ (or pitti˚) and pettika (a) the world of the manes or petas M i.73; S iii.224;
๒ ขอบเขต, โลก (ของความรู้สึก), แนว, วง; วิสัย, ลักษณะ, คุณสมบัติ reach, sphere (of the senses), range, scope; object, characteristic, attribute (cp. Cpd. 143 n. 2) S v.218 (gocara˚);
Yama˚ the realm of Yama or the Dead Pv ii.82 (=petaloka PvA 107).
avisaya not forming an object, a wrong object, indefinable A v.50;
๓ วิสัยแห่งอารมณ์, สุขารมณ์ทางโลกีย์ (object of sense, sensual pleasure)
ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา
[ทัดสะนะ-, ทัด, ทัดสะ-] น. ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).
วิสย-, วิสัย
[วิสะยะ-, วิไส] น. ความสามารถ เช่น อยู่ในวิสัยที่จะเลี้ยงดูบุตรภรรยาได้ เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะทำได้; ขอบ, เขต, เช่น คามวิสัย โคจรวิสัย อยู่ในทัศนวิสัย. (ป.).
ทัศนวิสัย
(ภูมิ) น. ระยะทางไกลที่สุดซึ่งสามารถมองเห็นวัตถุด้วยตาเปล่าและบอกได้ว่าวัตถุนั้นเป็นอะไร.
วิสัยทัศน์
น. การมองการณ์ไกล, วิทัศน์. (อ. vision).
visibility (สอ เสถบุตร)
ความกระจ่าง (ของอากาศ), ทัศนวิสัย
vision (สอ เสถบุตร)
๑ สายตา, สายตาไกล, เกี่ยวกับสายตา
๒ เกี่ยวกับการเห็น, เกี่ยวกับการดู, สำหรับดู
๓ การเห็น, ทรรศนะ
๔ การหลับตามองเห็น, ความฝัน
๕ ภาพ, ภาพประหลาด, นิมิต
๖ ปิศาจ
vision (พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี)
๑ทิฏฺฐิ, ทสฺสน
๒ มายา, มโนนิมฺมาน
๓ อาภาสทสฺสน
(อาภาส = ความสวยงาม, ความรุ่งเรือง, แสงสว่าง, ท่าทาง)