บาลีวันละคำ

สมณสัญญา (บาลีวันละคำ 1,754)

สมณสัญญา

สัญญาว่าอาตมาเป็นสมณะ

อ่านว่า สะ-มะ-นะ-สัน-ยา

แยกศัพท์เป็น สมณ + สัญญา

(๑) “สมณ

อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”

(๒) “สัญญา

บาลีเขียน “สญฺญา” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: สํ > สญฺ + ญา + กฺวิ = สญฺญากฺวิ > สญฺญา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ

สญฺญา” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) ความรู้สึก, ความรับรู้, ความจำได้, ความหมายรู้ (sense, consciousness, perception)

(2) ความสังเกตจดจำ, ความสุขุม, ความตระหนัก (sense, perception, discernment, recognition)

(3) แนวความคิด, ความคิด, ความเข้าใจ (conception, idea, notion)

(4) สัญญาณ, กิริยาท่าทาง, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย (sign, gesture, token, mark)

(5) ความประทับใจที่เกิดจากความรู้สึกและการจำได้, ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่เหมือนกัน (เช่นเห็นคนหนึ่งแล้วนึกถึงอีกคนหนึ่ง) (sense impression and recognition)

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัญญา : (คำนาม) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ข้อตกลงระหว่างบุคคล ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดนิติกรรมขึ้น; ข้อตกลงกัน, คำมั่น, เช่น เขาให้สัญญาว่าจะมาหาพรุ่งนี้; ความจํา เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (คำกริยา) ให้คํามั่น, รับปาก, ทําความตกลงกัน, เช่น แม่สัญญากับลูกว่าถ้าสอบได้ที่ ๑ จะให้รางวัล. (ป.).”

สมณ + สญฺญา = สมณสญฺญา เขียนแบบไทยว่า “สมณสัญญา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

สมณสัญญา : ความสำคัญว่าเป็นสมณะ, ความกำหนดใจไว้ว่าตนเป็นสมณะ, ความสำนึกในความเป็นสมณะของตน.”

……….

ในคัมภีร์อังคุตรนิกาย ทสกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 24 ข้อ 101 แสดง “สมณสัญญา” ไว้ 3 อย่าง ดังนี้ –

(1) เววณฺณิยมฺหิ  อชฺฌูปคโต = บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ

(2) ปรปฏิพทฺธา  เม  ชีวิกา = การครองชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย

(3) อญฺโญ  เม  อากปฺโป  กรณีโย = คุณความดีอื่นๆ ที่เราจะต้องทำให้ดียิ่งขึ้นไปยังมีอยู่อีก มิใช่มีแต่เพียงเท่านี้

…………..

บททดสอบ : พระภิกษุสามเณรไทยอ่านหนังสือได้กี่บรรทัด

…………………………………….

… เพศของภิกษุเป็นอุดมเพศ คือเพศที่สูง เป็นที่เคารพบูชาของคฤหัสถ์ ถ้าภิกษุยังเป็นคนเอิกเกริกเฮฮาก็ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพบูชา เพราะกิริยาเช่นนั้นไม่แตกต่างอะไรกับคฤหัสถ์ ไม่สมควรแก่เพศบรรพชิตหรือสมณะเลย เพราะไม่เป็นไปเพื่อสละคืนคลายกิเลสราคะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อย กลับทำกิเลสราคะให้มากขึ้น เพิ่มความน่ารังเกียจให้มากขึ้น ไม่น่าเคารพกราบไหว้บูชาเลย ฉะนั้น ภิกษุ (หรือสามเณร) ต้องเป็นคนไม่เอิกเกริกเฮฮา มีความสำรวมกาย – วาจา มีสมณสัญญา สงบเสงี่ยมอยู่เสมอ จึงจะสมกับอุดมเพศที่เคารพอย่างสูง …

…………………………………….

ข้อความข้างบนนี้อยู่ในหนังสืออะไร?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่รู้จักตัวเองว่าเป็นใคร

: ปริญญากี่ใบก็ไม่มีความหมาย

————————

(ตามคำขอของ อนุชิต นาก้อนทอง)

24-3-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย