บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เมื่อผมเรียนบาลี ตอน ๑

เมื่อผมเรียนบาลี ตอน ๒

———————–

เทคนิคการทำข้อสอบ

…………………

ผมสงสัยมานานแล้วครับ 

– ย้อนไปในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า กองบาลีนั้น พิมพ์ข้อสอบอย่างไร มีรูปแบบอย่างไร แล้วการจัดส่งข้อสอบนั้น กองบาลีจัดพิมพ์ให้เองเหมือนสมัยนี้หรือไม่ ? 

– แล้วการประกาศผลสอบ ก่อนที่กองบาลีจะมาตั้งอยู่ที่วัดปากน้ำ ประกาศผลกันอย่างไร บรรยากาศการติดตามผลสอบสมัยก่อนของพระหนุ่มเณรน้อยเป็นอย่างไร ?

จึงขอความเมตตาท่านผู้รู้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของนักเรียนบาลี การสอบบาลีสมัยก่อน (จะเป็นของตัวท่านเองก็ได้) ให้เราพระหนุ่มเณรน้อยได้ทราบจะได้เล่าให้อนุชนเขารับรู้ได้ถึงประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ นี้ ขอความเมตตาโดยเฉพาะรุ่นเก่าๆ ครับ 

ถ้าได้อ่านประวัติศาสตร์เล็กของอาจารย์

ในช่วงบรรยากาศแบบนี้คงเป็นกำลังใจของผู้ที่จะเข้าสอบซ่อมบาลีในไม่ช้านี้นะขอรับ

“ลุงเอก เดียวดาย”

๒๕ มีนาคม ๒๕๖๐

…………………

ผมเคยเปรยอยู่เสมอว่า –

นักเรียนบาลีรุ่นเก่าท่านเรียนเอาความรู้ การสอบได้เป็นเพียงผลพลอยได้ 

แต่นักเรียนบาลีรุ่นใหม่ เรียนเอาสอบได้ ความรู้เป็นเพียงผลพลอยได้

นักเรียนบาลีรุ่นเก่า เรียนความรู้ 

สอบไม่ได้แต่มีความรู้

นักเรียนบาลีรุ่นใหม่ เรียนวิธีสอบ 

สอบได้แต่ไม่มีความรู้

ผมเข้าใจว่าคงไม่ได้เป็นแบบนี้ทั้งหมด แต่ค่านิยมส่วนใหญ่หรือแนวโน้มเป็นแบบนี้

อุปมาเหมือนข้าวปลาอาหารที่อยู่ในชามตรงหน้า พร้อมกิน

นักเรียนรุ่นเก่าเหมือนแม่ครัวที่ต้มแกงเอง เสร็จแล้วเอามาใส่ชาม

นักเรียนรุ่นใหม่เหมือนไปซื้อแกงสำเร็จรูปมาเทใส่ชาม

มองภาพรวม ทั้งสองคนนี้มีข้าวปลาอาหารอยู่ในชามเหมือนกัน แต่ที่มาของอาหารนั้นต่างกัน

ครูสอนบาลีท่านหนึ่งเล่าบรรยากาศการอบรมบาลีก่อนสอบให้ผมฟังว่า ท่านมหารูปหนึ่ง สอบได้ ๕ ประโยคแล้ว แต่ถามเรื่องไวยากรณ์ ตอบไม่รู้เรื่องเลย

…………………

ที่จะเล่าต่อไปนี้ไม่ใช่จะมาบอกเทคนิคการทำข้อสอบเพื่อให้สอบได้อย่างที่บางท่านอาจจะกำลังเข้าใจผิด (และคอยจ้องจะหาเคล็ดลับเอาไปทำข้อสอบเพื่อให้สอบได้)

ขออนุญาตแวะข้างทางก่อนครับ

เทคนิคพื้นๆ ที่มีคนมักนิยมใช้ในการทำข้อสอบปรนัยทั่วไปตามที่ชอบแนะนำกันก็คือ ให้ใช้วิธี “ทิ้งดิ่ง” 

หลักการของวิธีนี้มาจากข้อเท็จจริงที่ว่าทุกวิชารวมกันต้องทำคะแนนรวมให้ได้ ๑๐๐ คะแนนจึงจะสอบผ่าน 

สมมุติว่าต้องสอบ ๔ วิชา ก็คือต้องได้อย่างน้อยวิชาละ ๒๕ คะแนน

แต่ละวิชาข้อสอบ ๑๐๐ ข้อ ข้อละ ๑ คะแนน หลักการออกข้อสอบปรนัยก็คือต้องเฉลี่ยตัวเลือก ก ข ค ง ให้ทั่วถึงเท่ากัน คือข้อ ก ถูก ๒๕ ข้อ ข้อ ข ค ง ก็มีข้อถูกข้อละ ๒๕ เท่ากัน

สูตรทิ้งดิ่งเกิดมาจากหลักการนี้ นั่นคือถ้ากาข้อใดข้อหนึ่งข้อเดียว (คือที่เรียกว่า “ทิ้งดิ่ง”) ทั้ง ๑๐๐ ข้อ จะผิด ๗๕ ข้อ ถูก ๒๕ ข้อ

ถูกวิชาละ ๒๕ ข้อ ๔ วิชาก็ ๑๐๐ คะแนน ผ่านสบาย

สูตรทิ้งดิ่งไม่ต้องใช้วิชาความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น จับดินสอเป็น กาเป็น ก็มีโอกาสสอบได้

นี่ว่าตามที่ฟังเขาว่าให้ฟัง เวลานี้สูตรนี้อาจล้าสมัยหรือใช้การไม่ได้อีกแล้วถ้าคนออกข้อสอบเปลี่ยนหลักการใหม่ แต่เชื่อได้เลยว่าคนสอบก็จะต้องคิดค้นวิธีทำข้อสอบแบบใหม่ตามทันอีกจนได้

นี่คือวิธีเรียนที่ผมเรียกว่า “เรียนวิธีสอบ” ไม่ใช่เรียนเพื่อหาความรู้

ผมเชื่อว่าข้อสอบบาลีก็ต้องมีสูตรสำหรับทำข้อสอบเพื่อให้สอบได้เช่นเดียวกัน

ข้อเท็จจริงก็คือ กรรมการตรวจข้อสอบท่านตรวจเฉพาะข้อความที่เป็นตัวหนังสือบนแผ่นกระดาษที่วางอยู่ตรงหน้าท่านเท่านั้น ท่านไม่สนใจว่าตัวหนังสือนั้นมาจากไหนและมาอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร 

ถ้ามองตรงจุดนี้ หน้าที่ของผู้ต้องการสอบได้ก็คือหาวิธีทำอย่างไรก็ได้ให้ข้อความที่ถูกต้องไปอยู่บนแผ่นกระดาษให้จงได้

นักเรียนรุ่นเก่าสะสมเอาความรู้ไปปรุงออกมาเป็นตัวหนังสือเป็นข้อความที่ถูกต้องไปอยู่บนแผ่นกระดาษ

แต่นักเรียนรุ่นใหม่บอกว่า หาวิธีทำให้ข้อความที่ถูกต้องไปอยู่บนแผ่นกระดาษง่ายกว่าและสบายกว่าใช้วิธีสะสมความรู้เป็นไหนๆ 

อาจใช้ความรู้เข้าประสมอยู่บ้าง แต่เทคนิคอื่นๆ สำคัญกว่าและสำคัญที่สุด

วิธีนี้โดยหลักการก็ทำนองเดียวกับการประกวดบรรยายธรรม ผู้เข้าประกวดไม่ต้องทำอะไรนอกจากท่องบทที่มีคนเขียนให้ด้วยสำนวนหรูแบบสำเร็จรูป ฝึกซุ่มเสียง ท่าทางในเวลาท่องให้ดูเนียน เท่านี้ก็สามารถชนะการประกวดได้สบายๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในทางธรรมแต่ประการใดเลย 

ผมไม่ได้บอกว่าใช้วิธีทุจริตนะครับ เป็นวิธีสุจริตอย่างยิ่ง เป็นหลักการที่นักเรียนรุ่นเก่าก็อาจเคยใช้มาด้วยซ้ำ เช่น –

วิชาแปล แก้อรรถไม่ต้องดู เพราะไม่ (เคย) ออก 

วิชากลับ คาถาไม่ต้องดู 

หรือที่รู้กันเป็นสามัญก็คือ ปณามคาถาไม่ต้องดู เพราะไม่ออกแน่ (แต่ก็เคยออกมามาแล้ว) 

เทคนิคพวกนี้ใช้หลักการเดียวกัน เพียงแต่สมัยนี้มีกรรมวิธีที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ใช้ลูกเล่นพิเศษเข้าช่วยมากขึ้น แต่รวมแล้วก็อยู่ในคำที่ว่า “เรียนวิธีสอบ” สอบได้ง่ายกว่าเรียนเอาความรู้ไปสอบนั่นเอง

——————-

เทคนิคการทำข้อสอบที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นคนละเรื่อง อยู่คนละโลก กับที่ว่ามาทั้งหมด 

คุณสมบัติพื้นฐานของผู้ที่จะใช้เทคนิคของผมได้ก็คือ ต้องสะสมความรู้ตามมาตรฐานของหลักสูตรมาแล้วอย่างเพียงพอ นั่นคือศึกษาค้นคว้าและทบทวนสม่ำเสมอมาแล้วตลอดทั้งปี 

ถ้าไม่ได้ทำอย่างนี้-ขอประทานโทษ-ถอยไปตั้งหลักมาใหม่เถิด

เอาละ เป็นอันว่าเข้าไปนั่งในห้องสอบพร้อมด้วยความรู้ที่เก็บสะสมมาทั้งปีเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะลงมือทำข้อสอบ

เบื้องต้น ต้องรู้ว่าเรามีเวลา ๔ ชั่วนาฬิกา กับ ๑๕ นาที

๔ ชั่วนาฬิกา กับ ๑๕ นาที เป็นสิทธิของเราโดยสมบูรณ์และชอบธรรม 

เทคนิคข้อแรกของผมก็คือใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้มค่า และใช้ให้หมดเพราะผ่านหรือไม่ผ่านอยู่ในช่วงเวลา ๔ ชั่วนาฬิกา กับ ๑๕ นาทีนี้เท่านั้น

ผมชอบภาษาเก่าที่ท่านใช้คำว่า “-ชั่วนาฬิกา” ฟังดูขรึมขลังและให้บรรยากาศที่ศักดิ์สิทธิ์ จริงจัง บอกให้รู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา และไม่ใช่เรื่องเล่น แต่เป็นเรื่องจริงที่ต้องเคารพ

ดูเหมือนสนามหลวงแผนกบาลีจะเลิกใช้คำว่า “-ชั่วนาฬิกา” เสียแล้ว เปลี่ยนไปใช้คำว่า “ชั่วโมง” แทน 

ผมว่าหมดความคลาสสิกไปเลย

เมื่อรู้ว่า ๔ ชั่วนาฬิกา กับ ๑๕ นาที เป็นสิทธิของเราโดยสมบูรณ์และชอบธรรมแล้ว จงวางแผนบริหารเวลาให้รัดกุม

เทคนิคของผมมีดังนี้

๑ เมื่อกรรมการแจกข้อสอบมาวางบนโต๊ะ ผมจะน้อมรับด้วยจิตคารวะ ทำความรู้สึกเสมือนว่าแม่กองบาลีสนามหลวงท่านนำมาส่งให้ด้วยตัวท่านเอง 

หยิบวางไว้ตรงหน้า คว่ำด้านหน้าลง ยังไม่อ่าน 

ตั้งสติเจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ๑ จบ ระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้เรามาตั้งแต่ต้น จบแล้วพลิกข้อสอบขึ้นอ่าน

๒ ในการอ่านเที่ยวแรก อ่านแบบตะลุยตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อให้รู้ว่าข้อสอบออกเรื่องอะไร ว่าอย่างไร อ่านอย่างเดียว ไม่ต้องทำอะไร

อาการที่ปรากฏแก่ใจก็คือ จะรู้สึกเหมือนมีความมืดปกคลุมทั่วไปหมด หมายความว่า จะรู้สึกว่าตรงนั้นก็แปลไม่ได้ ตรงนี้ก็นึกไม่ออก มืดมากกว่าสว่าง

แต่ไม่ต้องตกใจ และยังไม่ต้องคิด ยังไม่ต้องเขียนคำตอบใดๆ ทั้งสิ้น อ่านจบแล้ว วางข้อสอบ ตั้งสติสำรวมใจให้แน่วแน่อีกครู่หนึ่ง

ช่วงเวลาที่ทำเช่นนี้ไม่ควรเกิน ๑๐ นาที นั่นหมายความว่าใช้เวลาในการเตรียมพร้อมไม่เกิน ๑๐ นาที

๓ ต่อจากนั้นจะเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด คือลงมือแปลในใจ (หรือสัมพันธ์ หรือแต่ง หรือกลับ ตามวิชานั้นๆ) แกะไปทีละประโยคอย่างมั่นใจว่าทำถูกแน่ๆ ตรงไหนที่สงสัย หรือยังทำไม่ได้ ข้ามไปก่อน ประโยคไหนที่ยาก ศัพท์ไหนที่ยาก ขีดเส้นใต้ไว้เป็นสัญญาอาฆาตว่าเดี๋ยวจะย้อนกลับมาจัดการ ศัพท์ไหนที่กลัวลืม เขียนคำแปลกำกับไว้

๔ ทำไปเรื่อยๆ จนจบรอบแรก จะรู้สึกว่าที่มืดมากในตอนแรกนั้นตอนนี้สว่างมากขึ้น จากนั้นย้อนกลับไปเก็บรายละเอียดที่ทิ้ง ที่ข้ามไปในรอบแรกอีกเที่ยวหนึ่ง รอบนี้จะหนักและใช้เวลามากหน่อย เพราะต้องขบคิดคำที่เป็นปัญหาตกค้าง ต้องค่อยๆ เรียกหลักวิชาที่สั่งสมไว้ออกมาช่วยแก้ไปทีเปลาะทีละคำ จนแน่ใจว่าจัดระเบียบได้เรียบร้อยดีแล้ว

ด้วยวิธีการแบบนี้ เป็นอันแก้ปัญหาแปลตก แปลข้าม ตลอดจนแปลไม่ได้ ต้องทิ้งไปเป็นประโยคๆ อย่างที่มักเป็นกันทั่วไป รับรองไม่มีแน่

ช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มทำข้อสอบในใจจนกระทั่งรู้คำตอบได้ครบถ้วนแล้วนี้ ผมอุทิศเวลาให้ประมาณครึ่งหนึ่งของเวลาทั้งหมดที่เรามีสิทธิ์ นั่นคือเกือบๆ ๒ ชั่วนาฬิกา

นั่นหมายถึงว่า หมดไป ๒ ชั่วโมงกว่า ผมยังไม่ได้เขียนคำตอบเลยแม้แต่ตัวเดียว! 

แต่ร่างคำตอบมีอยู่ในใจเกือบจะครบถ้วนหมดแล้ว และตัวร่างบางส่วนก็เขียนกำกับลงไปบนตัวข้อสอบบ้างแล้วด้วย

วิธีนี้ก็เหมือนกับเขียนร่างทีหนึ่งก่อนอย่างที่หลายท่านนิยมใช้ เพียงผมไม่ได้เขียนลงไปบนกระดาษ แต่เขียนในใจ

วิธีนี้ดีกว่าวิธีคิดไปเขียนคำตอบจริงลงไป เพราะแบบนั้นถ้ามีข้อผิดพลาดจะยุ่งยากและเสียเวลาแก้อีกเป็นอันมาก บั่นทอนความราบรื่นของกระบวนการคิดหาคำตอบอีกต่างหาก

๕ จากนั้นผมจะพักครึ่งเวลาเหมือนกีฬาฟุตบอล ประมาณ ๓-๕ นาที ด้วยวิธีนั่งสงบ ผ่อนคลาย เตรียมอุปกรณ์ กระดาษ ปากกา ยาลบคำผิดไปพลางๆ แล้วจึงลงมือเขียน 

ผมมีเวลาเขียนคำตอบจริงจากร่างที่มีอยู่ในใจเรียบร้อยแล้วประมาณ ๒ ชั่วนาฬิกา เขียนแบบสบายๆ 

ระหว่างเขียนอาจเจอข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ หรือพบคำแปลที่ผุดขึ้นมาแล้วฟังดูดีกว่าที่ร่างไว้เดิม มีค่าเท่ากับเป็นการตรวจสอบหรือตรวจทานไปในตัว

๖ เทคนิคการเขียนคำตอบของผมก็คือ ตัวหนังสือค่อนข้างใหญ่ ไม่ต้องกลัวเปลืองกระดาษเพราะขอเพิ่มได้ตามต้องการ ไม่หวัด ไม่บรรจง ไม่เน้นสวยงาม แต่เน้นอ่านง่าย พ พาน น หนู บ ใบไม้ ก ไก่ กับ ถ ถุง ต้องแตกต่างกันอย่างชัดเจน ไม่ต้องให้กรรมการเดา 

เรียกว่าใช้ลายมืออำนวยความสะดวกให้กรรมการตั้งแต่บรรทัดแรกจนบรรทัดสุดท้าย

๗ ตามปกติใช้เวลาเขียน (หรืออันที่จริงคือลอกจากที่ทำไว้แล้วในใจ) ประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็จะเสร็จ นั่นคือมีเวลาตรวจทานอีกเกือบชั่วโมง

เทคนิคของผมก็คือ ผมจะไม่ส่งกระดาษคำตอบก่อนหมดเวลาเป็นอันขาด แต่จะใช้วิธีอ่านทบทวนกลับไปกลับมา เติมหัวตัวหนังสือบ้าง เติมจุดล่างจุดบนให้เข้มขึ้นบ้าง เรียกว่าหางานทำอยู่นั่นแล้ว

จนกระทั่งกรรมการประกาศหมดเวลานั่นแหละผมจึงจะลุกจากโต๊ะด้วยหัวใจที่ผ่องแผ้ว ขอบพระคุณครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนเรามาให้มีความรู้จนสามารถเข้ามาแสดงวิทยายุทธในสนามสอบได้อย่างเต็มความสามารถ

เราทำหน้าที่ของเราจบเสร็จสมบูรณ์แล้ว

ได้หรือตกต่อจากนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา

เห็นเพื่อนนักเรียนส่งกระดาษคำตอบก่อนหมดเวลาเป็นชั่วโมง ผมไม่เคยชื่นชมว่า เออ เอ็งเก่ง แต่นึกเสียดายแทน 

ใช้เวลาเรียนมาเป็นเดือนเป็นปี เวลาแค่ ๔ ชั่วนาฬิกา กับ ๑๕ นาที อยู่ให้ตลอดไม่ได้ นี่มันแปลว่าอะไร

ผมชื่นชมการสอบระบบที่-ไม่อนุญาตให้ออกจากห้องสอบก่อนหมดเวลา เป็นระบบที่สอนให้มนุษย์รู้จักบริหารเวลาให้ได้ ใช้เวลาให้เป็น และรู้จักคุณค่าของเวลา

ผมเรียนเต็มเวลา สะสมความรู้เต็มที่ ใช้เทคนิคทำข้อสอบดังที่เล่ามานี้ในการสอบทุกประโยค 

แต่ถึงกระนั้นผมก็เคยสอบตก!

เป็นการสอบตกครั้งเดียวในชีวิตการเรียนบาลี

แล้วผมจะเล่าให้ฟังว่าผมตกประโยคไหน และเพราะอะไร

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ มีนาคม ๒๕๖๐

๑๐:๕๕

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *