บาลีวันละคำ

ไทยทาน-ไทยธรรม (บาลีวันละคำ 457)

ไทยทาน-ไทยธรรม

อ่านว่า ไท-ยะ-ทาน / ไท-ยะ-ทำ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บไว้ทั้งสองคำ ดังนี้

– “ไทยทาน : ของสําหรับทําทาน. (ป. เทยฺยทาน)”

– “ไทยธรรม : ของทําบุญต่าง ๆ, ของถวายพระ. (ป. เทยฺยธมฺม)”

คำในวงเล็บ คือ พจน.42 บอกว่า ไทยทาน ตรงกับบาลีว่า “เทยฺยทานไทยธรรม ตรงกับบาลีว่า “เทยฺยธมฺม

เทยฺยทาน” บาลีอ่านว่า เท็ย-ยะ-ทา-นะ (เสียง เอยฺย– บางสำนักให้อ่านว่า ไอ อ้างว่าเป็นการออกเสียงให้ตรงกับเสียงเดิม แต่พึงทราบว่า ในภาษาบาลีไม่มีรูปสระ ไอ)

เทยฺยธมฺม” อ่านว่า เท็ย-ยะ-ทำ-มะ

เทยฺย” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันพึงให้” ประกอบขึ้นจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ณฺย (ปัจจัย แปลงเป็น เอยฺย) = เทยฺย

ทาน” แปลว่า –

1. การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

2. สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป

ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก แต่เฉพาะในคำว่า “เทยฺยธมฺม” นี้ หมายถึง สิ่งทั้งหลาย, สิ่งของ

มีปัญหาว่า คำว่า “เครื่องไทยทาน” กับ “เครื่องไทยธรรม” ควรใช้คำไหน ?

ข้อมูลมีดังนี้ –

1. ที่ พจน.ว่า “ไทยทาน : ของสําหรับทําทาน” นั้น เป็นการให้ความหมายแบบบาลีไทย คือแปล “เทยฺย-ไทย” ว่า “สิ่งของ” แปล “ทาน” ว่า “ทําทาน

คำว่า “ไทยทาน” ถ้าหมายถึง “ของ-” (ตามเจตนาของ พจน.) ก็เป็นคำซ้ำซ้อน เพราะทั้ง “เทยฺย” และ “ทาน” (ถ้าหมายถึงสิ่งของ) แปลว่า “สิ่งอันพึงให้” เหมือนกันทั้งสองคำ

2. ถ้าจะไม่ให้ซ้ำซ้อน ต้องแปล “ทาน” ว่า “การให้” : ไทยทาน = “การให้สิ่งอันพึงให้” แต่แปลอย่างนี้ก็ไม่ตรงตามเจตนาของ พจน.ที่แปล “ทาน” ว่า “ของ-” (ไม่ใช่ “การ-”)

3. ในคัมภีร์ พบแต่คำว่า “เทยฺยธมฺม” ไม่พบคำว่า “เทยฺยทาน

4. ใน พจน.42 นี่เอง ที่คำว่า “ธรรม” บอกความหมายสุดท้ายว่า “สิ่งทั้งหลาย, สิ่งของ, เช่น เครื่องไทยธรรม” แต่ที่คำว่า “ทาน” บอกไว้ว่า “การให้, มักใช้ประกอบท้ายคำอื่น เช่น ธรรมทาน วิทยาทาน; สิ่งที่ให้ มักหมายถึงเงินหรือสิ่งของที่คนให้แก่คนยากจน” ไม่ได้ยกตัวอย่างว่า “เครื่องไทยทาน

5. ที่คำว่า “เครื่องกัณฑ์” บอกว่า “เครื่องไทยธรรมถวายพระผู้แสดงพระธรรมเทศนา” และที่คำว่า “กัณฑ์เทศน์” ก็บอกว่า “เครื่องไทยธรรมถวายพระผู้แสดงพระธรรมเทศนา

สรุปว่า ถ้าเป็นของถวายพระ ใช้คำว่า “เครื่องไทยธรรม” และในบาลีมีคำว่า “เทยฺยธมฺม” แต่ยังไม่พบ “เทยฺยทาน

ไทยธรรม : ยิ่งทำ จิตยิ่งเป็นไท ยิ่งให้ หัวใจยิ่งเห็นธรรม

——————-

(ตามคำถามของเพื่อนที่ใช้นามว่า อยากได้ยิน ว่ารักกัน)

บาลีวันละคำ (457)

15-8-56

(โพสต์ต่อมา)

มีข้อที่ขอเสนอให้เป็นที่สังเกตสำหรับญาติมิตร เพิ่มเติมดังนี้ –

๑ ใน พจน.๔๒ เก็บคำว่า “กัณฑ์” เป็นคำตั้ง แล้วยังมีคำว่า “เครื่องกัณฑ์” เป็นคำตั้งอีก

๒ คำว่า “ไทยทาน”และ “ไทยธรรม” ก็เก็บเป็นคำตั้ง แต่ไม่เก็บคำว่า “เครื่องไทยทาน”และ “เครื่องไทยธรรม” อันเป็นคำที่มีฐานะเท่ากันกับ “เครื่องกัณฑ์” นั่นเอง

๓ พจน.๔๒ ควรมีตัวอย่างข้อความที่ใช้คำ “ไทยทาน” ประกอบไว้ เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าในกรณีเช่นไรบ้างที่ใช้ว่า “ไทยทาน”

เทยฺย

ทาตพฺพนฺ-ติ  เทยฺยํ.  [สิ่งใด]  อันเขาพึงให้, เหตุนั้น [สิ่งนั้น]

ชื่อว่าอันเขาพึงให้.  ทา  ธาตุ  ในความ  ให้  ธาตุมี  อา  เป็นที่สุดอยู่

หน้า  เอา  ณฺย  เป็น  เอยฺย  แล้วลบ  อา  ด้วยสระสนธิ  (๑๙).

ประโยค๑ – บาลีไวยากรณ์ วจีวิภาค ภาคที่ ๒ อาขยาต  และ กิตก์ – หน้าที่ 197

ทาน

ทา ธาตุ  ในความให้  ลง ยุ  ปัจจัย  แล้วแปลง ยุ เป็น อน ได้รูปเป็น

ทาน 

ถ้าเป็นชื่อของสิ่งของที่จะพึงสละเป็นต้นว่า ข้าว น้ำ เงิน ทอง

ก็ต้องแปลเป็นรูปกัมมสาธนะว่า “วัตถุอันเขาพึงให้” แยกรูปออก

ตั้งวิเคราะห์ว่า ทาตพฺพนฺติ  ทานํ. [ ยํ วตฺถุ สิ่งใด  เตน  อันเขา ] พึงให้

เหตุนั้น [ ตํ  วตฺถุ สิ่งนั้น ] ชื่อว่า ทานํ [ อันเขาพึงให้ ]. เช่นในคำว่า

ทานวตฺถุ สิ่งของอันเขาพึงให้.

ประโยค๑ – อธิบายบาลีไวยากรณ์ นามกิตก์ และกิริยากิตก์ – หน้าที่ 2

ทาตพฺพนฺติ ทานํ (วัตถุ) อันเขาพึงให้

ทาน (บาลี-อังกฤษ)

การให้, การแจกให้, ของขวัญ, การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง, ความใจบุญ; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริจาคเป็นการกุศลแด่ภิกษุหรือแด่คณะสงฆ์

giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence; esp. a charitable gift to a bhikkhu or to the community of bhikkhus, the Sangha

ทานธมฺม การบำเพ็ญทานหรือการเผื่อแผ่ด้วยการบริจาคทาน the duty or meritorious act of bestowing gifts of mercy

บาลีวันละคำ (94) 10-8-55

 “ทาน” แปลว่า –

1 การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

2 สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป

ไทยธรรม (ประมวลศัพท์)

ของควรให้, ของทำบุญต่างๆ, ของถวายพระ

ธรรม ปุ.,นป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

เทยฺย ปุ.,นป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ซึ่งควรให้, ซึ่งควรถวาย; ของควรให้, ของควรถวาย.

เทยฺยธมฺม ป.

ไทยธรรม, ของที่ควรถวาย, ของทำบุญ.

เทยฺย (บาลี-อังกฤษ)

ควรให้, ควรได้รับการให้, ควรแก่การถวาย

เทยฺยธมฺม

ไทยธรรม, สิ่งที่มีลักษณะว่าเป็นของให้หรือของถวาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของที่ให้ด้วยความเมตตาสงสาร, ของทำบุญ, ไทยทาน a gift, lit. that which has the quality of being given; esp. a gift of mercy, meritorious gift

กัณฑ์เทศน์

  น. เครื่องไทยธรรมถวายพระผู้แสดงพระธรรมเทศนา, สิ่งของสําหรับถวายพระผู้แสดงพระธรรมเทศนา, เครื่องกัณฑ์ ก็ว่า; เรียกการเอาเงินติดเทียนบูชากัณฑ์เทศน์หรือเรียกการเอาเงินหรือสิ่งของบูชาธรรมเนื่องในการเทศน์ว่า ติดกัณฑ์เทศน์.

เครื่องกัณฑ์

  น. เครื่องไทยธรรมถวายพระผู้แสดงพระธรรมเทศนา, สิ่งของสําหรับถวายพระผู้แสดงพระธรรมเทศนา, กัณฑ์เทศน์ ก็ว่า.

ทาน ๑, ทาน-

  [ทานะ-, ทานนะ-] น. การให้, มักใช้ประกอบท้ายคำอื่น เช่น ธรรมทาน วิทยาทาน; สิ่งที่ให้ มักหมายถึงเงินหรือสิ่งของที่คนให้แก่คนยากจน, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม. (ดู ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม). (ป., ส.).

ไทยทาน

  [ไทยะ-] น. ของสําหรับทําทาน. (ป. เทยฺยทาน).

ไทยธรรม

  [ไทยะทํา] น. ของทําบุญต่าง ๆ, ของถวายพระ. (ป. เทยฺยธมฺม).

ธรรม ๑, ธรรม-, ธรรมะ

 [ทํา, ทํามะ-] น. คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม; คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า; หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม; ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม; ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม; กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ; กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ; สิ่งทั้งหลาย, สิ่งของ, เช่น เครื่องไทยธรรม. (ส. ธรฺม; ป. ธมฺม).

อยากได้ยิน ว่ารักกัน

9-8-56

รบกวนอาจารย์ถามถึงความหมายระหว่าง คำว่า เครื่องไทยธรรม กับ เครื่องไทยทาน ต่างกันเช่นไรครับ ถ้าหากต่างกันมีวาระในการใช้งานไหมครับ

 ขอบคุณครับ

จากหนังสือ ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี

คำว่า ไทยทาน (ไท-ยะ-ทาน) แปลตามตัวว่า “สิ่งของที่ควรให้” หมายถึงของที่เหมาะสมแก่การที่จะนำไปถวายพระ มีคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไทยธรรม (ไท-ยะ-ทำ) แปลว่า สิ่งของที่ควรให้ เช่นกัน และมีคำใช้เรียกรวมๆ กันอีกคำหนึ่งว่า ทานวัตถุ แปลว่า สิ่งของสำหรับให้

       ไทยทาน ไทยธรรม และ ทานวัตถุ เหล่านี้มีความหมายอย่างเดียวกัน โบราณท่านกำหนดรายการไว้ ๑๐ อย่าง ตามคำบาลีที่ว่า

อันนัง ปานัง วัตถัง ยานัง           มาลา  คันธัง  วิเลปะนัง

เสยยาวะสะถัง  ปะทีเปยยัง        ทานะวัตถู  อิเม ทะสะ.

มีคำอธิบายว่า ทานวัตถุมี ๑๐ อย่าง ดังต่อไปนี้ คือ

อันนะ คืออาหารหรือของกินทุกชนิด

ปานะ คือเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มหรือน้ำผลไม้ รวมทั้งเครื่องประกอบที่ใช้ปรุงเป็นเครื่องดื่มต่างๆ  

วัตถะ คือเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งเครื่องใช้จำพวกผ้าทุกชนิด

ยานะ คือยวดยานพาหนะต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยให้ไปมาสะดวก แม้กระทั่งรองเท้าและร่มก็รวมอยู่ในประเภทนี้

มาลา คือดอกไม้ทั้งที่ร้อยเป็นพวง หรือจัดให้สวยงาม หรือดอกไม้ธรรมดาๆ

คันธะ คือเครื่องหอม แต่มุ่งถึงเครื่องหอมประเภทสมุนไพรที่มีผลในทางเป็นยา ไม่ใช่เครื่องหอมประเภทเครื่องสำอาง (ธูป ก็น่าจะสงเคราะห์เข้าในประเภทนี้)

วิเลปนะ คือเครื่องทา มุ่งถึงเครื่องทาประเภทยาเช่นกัน เป็นต้นว่าน้ำมันทานวดเส้นแก้ปวดเมื่อย ไม่ใช่เครื่องทาประเภทประเทืองผิว

เสยยะ คือเครื่องนอน รวมไปถึงโต๊ะ เก้าอี้ เตียงตั่ง เครื่องปูลาดทั้งปวง

อาวสถะ คือที่พักอาศัย รวมตลอดถึงกุฏิ วิหาร อาคารสถานที่ทั้งปวง

ปทีเปยยะ คือเครื่องไฟแสงสว่าง รวมตลอดทั้งเทียน ตะเกียง น้ำมันเติมตะเกียง ปัจจุบันนี้ก็รวมอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่าง (และอาจจะรวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายเข้าด้วย)

รายการทานวัตถุเหล่านี้เป็นของเก่าที่มีอยู่ในสมัยโบราณ ปัจจุบันอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นหลายสิบหลายร้อย แต่ถึงกระนั้นก็อาจจัดเป็นประเภทได้เพียง ๒ ประเภทคือ ของฉัน คือของกิน กับ ของใช้  และมีหลักอยู่ว่า ต้องเป็นของที่สมควรแก่สมณบริโภค คือเหมาะแก่การที่พระสงฆ์จะฉันจะใช้ ไม่ผิดวินัยสงฆ์ และไม่ก่อให้เกิดข้อตำหนิติเตียน

(คัมภีร์จุลนิเทศเพิ่มปัจจัยสี่ คือ จีวร อาหารบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช เข้าด้วย จึงเป็นไทยธรรม ๑๔ อย่าง)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย