อ่านโคลงโลกนิติ พินิจพระธรรมบท (๓)
อ่านโคลงโลกนิติ พินิจพระธรรมบท (๓)
—————————————-
ตอนที่แล้วทิ้งท้ายไว้ว่า-เวลานี้เหมือนกับจะพยายามตั้งหัวข้อโต้วาทีกันว่า “ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ใครดีกว่ากัน”
ซึ่งไม่ใช่ประเด็นหรือไม่ตรงประเด็นที่จะอ้างโคลงโลกนิติดังกล่าวนั้น ยิ่งถ้าตามไปดูในคัมภีร์ที่มาด้วยแล้ว ต้องบอกว่าผิดประเด็นไปเลย
ถ้าไม่ใช่เรื่องระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก แล้วประเด็นอยู่ตรงไหน
ถ้าอ่านเฉพาะตัวโคลงโลกนิติที่ท่าน “แปลง” ออกมาแล้ว ผู้อ่านจะต้องเข้าใจไปว่า ท่านพูดถึงผู้ใหญ่กับเด็ก ซึ่งก็จะไปเข้าทางของบรรดาท่านที่กำลังตั้งท่าถล่มเรื่องนี้อยู่พอดี
เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา-ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก “ใครดี” กว่ากัน
แต่เป็นปัญหา-ระหว่างวันเดียวกับร้อยปี “ใครมี” กว่ากัน
ในตัวโคลงโลกนิตินั่นเอง แม้ท่านจะแปลง “ชีวิตร้อยปี” ว่าคือ “ผู้ใหญ่” และ “ชีวิตวันเดียว” หมายถึง “เด็ก” แต่ท่านก็ยังไม่ทิ้งหลักธรรมตามต้นฉบับ ท่านยังเอาหลักธรรมมากำกับไว้ด้วยทุกบทไป
ขอยกคำในโคลงโลกนิติทั้ง ๕ บทมาให้ทบทวนและถอดหลักธรรม ดังนี้
……
(๑) มีอายุร้อยหนึ่ง นานนัก
ศีลชื่อปัญจางค์จัก ไป่รู้
ขวบเดียวเด็กรู้รัก ษานิจ ศีลนา
พระตรัสสรรเสริญผู้ เด็กนั้นเกิดศรี
๏ เด็กจะดีกว่าผู้ใหญ่ ต้องรักษาศีลห้า
(๒) คนใดยืนอยู่ร้อย พรรษา
ใจบ่มีปรีชา โหดไร้
วันเดียวเด็กเกิดมา ใจปราชญ์
สรรเพชญบัณฑูรไว้ เด็กนั้นควรยอ
๏ เด็กจะดีกว่าผู้ใหญ่ ต้องมีปัญญา คือรู้จักผิดชอบชั่วดี
(๓) คนใดยืนเหยียบร้อย ขวบปี
ความอุตส่าห์ฤๅมี เท่าก้อย
เด็กเกิดขวบหนึ่งดี เพียรพาก
พระตรัสว่าเด็กน้อย นี่เนื้อเวไนย
๏ เด็กจะดีกว่าผู้ใหญ่ ต้องมีความเพียรบากบั่นมุ่งมั่นในทางดี
(๔) อายุถึงร้อยขวบ เจียรกาล
ธัมโมชอันโอฬาร บ่รู้
เด็กน้อยเกิดประมาณ วันหนึ่ง
เห็นถ่องธรรมยิ่งผู้ แก่ร้อยพรรษา
๏ เด็กจะดีกว่าผู้ใหญ่ ต้องเห็นแจ้งในธรรม
(๕) มีอายุอยู่ร้อย ปีปลาย
ความเกิดแลความตาย ไป่รู้
วันเดียวเด็กหญิงชาย เห็นเกิด ตายนา
ลูกอ่อนนั้นยิ่งผู้ แก่ร้อยปีปลาย
๏ เด็กจะดีกว่าผู้ใหญ่ ต้องรู้จักพิจารณาเห็นเกิดดับ
……
ถ้าจะยกโคลงโลกนิติมาสนับสนุนเด็ก ต้องเน้นไปที่หลักธรรมเหล่านี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่า-เด็กดีด้วยมีธรรม มิใช่ดีเพียงเพราะเป็นเด็ก จึงจะตรงประเด็น
ถ้าจับประเด็นผิด แนวคิดก็พลาด
แนวที่น่าคิดต่อจากที่ท่านว่าไว้ในคัมภีร์ที่มาก็คือ ทำอย่างไรจึงจะมีคุณธรรมเหล่านั้น
หรือตั้งเป็นคำถามว่า คุณธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นได้เอง หรือต้องอบรมสั่งสอนแนะนำทำให้เกิด
หรือถามโยงไปหาปัญหาร้อนที่กำลังเกิดก็ถามว่า การที่เด็กออกมาแสดงความคิดเห็นและแสดงท่าทีต่อปัญหาบ้านเมืองในเวลานี้ เด็กคิดขึ้นได้ด้วยสติปัญญาของเด็กเอง หรือเพราะมีใครแนะนำสั่งสอน
ถ้าได้หลักความจริงว่า คุณธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นได้เองไม่ต้องมีใครสอน เราก็สบาย ไม่ต้องไปเสียเวลา ไม่ต้องลงทุนอบรมสั่งสอนอะไรกัน ปล่อยให้เด็กมีความรู้ มีความคิดความเห็น และมีคุณธรรมขึ้นมาด้วยตัวเด็กเอง
ถ้าได้หลักความจริงว่า คุณธรรมเหล่านั้นต้องอบรมสั่งสอนแนะนำทำให้ดูและฝึกให้ทำจึงจะเกิดได้ เราก็มาช่วยกันอบรมสั่งสอนแนะนำฝึกฝนคนของเราให้มีคุณธรรมตามที่พึงประสงค์
…………….
สรุปว่า คัมภีร์ที่มาของโคลงโลกนิติทั้ง ๕ บทนั้น (ตามต้นฉบับในประชุมโคลงโลกนิติฉบับหอสมุดแห่งชาติ) แสดงหลักคำสอนว่า ระหว่างชีวิตร้อยปีกับชีวิตวันเดียว ตัดสินความดีความประเสริฐกันที่คุณธรรม ไม่ใช่ที่ความเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่
และเราควรช่วยกันคิดต่อยอดว่า ถ้าคุณธรรมเกิดเองไม่ได้ ทำอย่างไรคนของเราจึงจะมีคุณธรรมเหล่านั้น
…………….
คิดว่าจะจบแค่นี้ แต่พอดีมีคำในโคลงบทหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าจะยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา นั่นคือบทที่ว่า –
………..
อายุถึงร้อยขวบ เจียรกาล
ธัมโมชอันโอฬาร บ่รู้
………..
………..
คำไหนคือคำนั้น มีคำตอบในตอนหน้าอีกตอนหนึ่งครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓
๑๗:๓๕
…………………………….
…………………………….