บาลีวันละคำ

สามัคคีรส (บาลีวันละคำ 537)

สามัคคีรส

อ่านว่า สา-มัก-คี-รด

บาลีเป็น “สามคฺคีรส” อ่านว่า สา-มัก-คี-ระ-สะ

ประกอบด้วย สามคฺคี + รส

สามคฺคี” นัยหนึ่ง รากศัพท์คือ สม + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อี ปัจจัย = สามคฺคี แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้ดำเนินไปในสมะ

คำว่า “สม” (สะ-มะ) หมายถึง เท่ากัน, เหมาะกัน, อย่างเดียวกัน, เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตใจไม่วอกแวก, ยุติธรรม, รวมเข้าด้วยกัน, ครบถ้วน

สามคฺคี = ดำเนินไปเพื่อความยุติธรรม

สามคฺคี” อีกนัยหนึ่ง รากศัพท์คือ สํ + อคฺค + อี = สามคฺคี

สํ” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน

อคฺค” ในที่นี้เป็นคำนาม แปลว่า ยอด (ส่วนยอดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ยอดเขา ยอดเจดีย์), ศูนย์รวม, เป้าหมายสูงสุด

สามคฺคี = มารวมกันโดยมีเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน

รส” แปลตามศัพท์ว่า “อันเป็นที่ยินดี” “อันคนและสัตว์ติดใจ” “สิ่งที่พอใจกิน

คำแปลตามหลักวิชาว่า “อายตนะส่วนหนึ่งเป็นวิสัยแห่งลิ้น” ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า รส โดยปริยายหมายถึง ความรู้สึกชอบใจ, ความไพเราะ, ความอร่อย

นอกจากนี้ “รส” ยังใช้หมายถึง อาหารเหลว, มรรยาท, หน้าที่, คุณสมบัติ

สามคฺคี + รส = สามคฺคีรส > สามัคคีรส จึงมีความหมายรวบยอดว่า ความรู้สึกซาบซึ้งดื่มด่ำปลื้มใจอันเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันทำสิ่งที่มีเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน

คนจำนวนมากที่พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดังว่าน้ำประสมกับน้ำนม มองกันและกันด้วยสายตาเป็นที่รัก นี้คือ สามัคคีรส

พุทธภาษิต :

สพฺพรสํ  ธมฺมรโส  ชินาติ

รสแห่งธรรมนำมาสามัคคี

เป็นความดีชำนะรสหมดทั้งปวง

———————

(อาจารย์เมธีวุฒินันทน์ ภาณุภัทรธนวัฒน์ ขอให้อธิบายความหมายของคำว่า รส)

4-11-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย