เมื่อพบเห็นข้อผิดพลาด
เมื่อพบเห็นข้อผิดพลาด
————————-
เราควรมีท่าทีอย่างไร
ผมเขียนเรื่อง “พระพุทธเจ้าของเรา ออกพระนามว่าอย่างไร” ปรารภเรื่องที่ไปเห็นข้อความเรียกพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันว่า “พระพุทธเจ้าสิทธัตถะ” – ซึ่งผมเห็นว่าคลาดเคลื่อน
เขียนไปแล้ว โพสต์ไปแล้ว ก็มานั่งนึก ถามตัวเองว่า คนอื่นๆ ที่เขาก็ได้เห็นคำเรียกเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน เขาคิดอย่างไร
ส่วนใหญ่ก็คง-ผ่านไปเฉยๆ ไม่คิดอะไร ถูกก็ถูกไป ผิดก็ผิดไป ไม่เห็นจะต้องรู้สึกอะไร อ่านแล้วก็ผ่านไป จบแค่นั้น
ผมเข้าใจว่าเวลานี้เราเป็นอย่างนี้กันทั่วไป
……………….
ที่คนนิยมยกขึ้นมาพูดหรือยกมาอ้างกันมากก็คือ ควรสนใจเฉพาะเรื่องของตัวเอง ไม่ควรไปมองหาความผิดของคนอื่น
เชื่อว่าหลายท่านเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ และกำลังทำตามอยู่โดยทั่วกัน
ถ้าให้ผมวิจารณ์คำกล่าวนี้ ผมก็จะบอกว่า คนที่ถือคติเช่นนี้ควรที่จะไปอยู่คนเดียวในป่าหิมพานต์
แต่ถ้ายังอยู่ในสังคม-ดังที่กล่าวกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม-ก็ควรต้องสนใจเรื่องของคนอื่นด้วย ไม่ใช่สนใจเฉพาะเรื่องของตัวเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง-เรื่องที่คนอื่นทำผิดพลาด
แต่การ “สนใจเรื่องของคนอื่นด้วย” นี้ มีกรอบขอบเขต หรือมีรายละเอียดที่ต้องกำหนดให้ดีและให้ถูกต้องเหมาะสม
อย่าให้กลายเป็น-แส่ไปทุกเรื่อง
ยิ่งเป็นเรื่องที่คนอื่นทำผิด ยิ่งควรต้องสนใจเป็นพิเศษ
ผมขอชวนให้คิดใหม่-ในแง่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบคิด
เริ่มด้วยการศึกษา เรียนรู้ สังเกต กำหนดว่า สิ่งที่คนอื่นทำนั้น เมื่อว่าตามกฎเกณฑ์หลักการแล้ว ผิดหรือถูก ข้อนี้ต้องวินิจฉัยได้เป็นเบื้องต้น
ต่อไป ก็ต้องสามารถบอกได้ว่า-เรื่องที่เขาทำนั้น-ถ้าผิด ถ้าจะให้ถูกต้อง จะต้องทำอย่างไร หรือควรจะต้องเป็นอย่างไร
ถ้าลึกไปถึงขั้น-บอกวิธีการและขั้นตอนการแก้ไขได้ด้วย ยิ่งประเสริฐ
ต่อจากนั้น ก็มากำหนดท่าทีของตัวเองว่า ควรปฏิบัติเช่นไร ถ้าจะทักท้วง ทักท้วงอย่างไร ด้วยวิธีการแบบไหน อันนี้ก็จะต้องขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ฐานะ หรือความเกี่ยวข้อง ตลอดจนศักยภาพของตัวเอง รวมไปถึงการคาดการณ์ประมาณผล ถ้าทำ จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ทำ จะเป็นอย่างไร
แล้วจึงมาถึงขั้น-ตกลงใจ จะทำอะไร หรือจะไม่ทำอะไร
ตามที่ว่ามานี้ จะเห็นได้ว่า การ “สนใจเรื่องของคนอื่นด้วย” นี้ ไม่ใช่ว่า พอสนใจก็โดดลงไปคลุกทันที อย่างที่บางท่านกำลังวาดภาพ
สนใจก็ขั้นตอนหนึ่ง ตกลงใจทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็อีกขั้นตอนหนึ่ง
แม้ตกลงใจทำอะไร ก็ยังมี-ทำอย่างไร ทำแบบไหน ทำเมื่อไร อีกตั้งหลายขั้นตอน
รายละเอียดเหล่านี้เราลืมนึกถึง และไม่ฝึกหัดนึก เพราะตัดบทไปตั้งแต่ต้น-กูไม่สน ไม่ใช่เรื่องอะไรของกู
เวลานี้เรากำลังแปลความหมายคำว่า “สนใจเฉพาะเรื่องของตัวเอง” เป็นว่า “เห็นอะไรไม่ถูกไม่ควรก็ให้ปล่อยไป ไม่ต้องทำอะไร”
แล้วก็อ้างเหตุผลสารพัด – ทำแล้วเดี๋ยวยุ่ง ไม่ใช่หน้าที่ อย่าไปก้าวก่าย เขามีคนรับผิดชอบอยู่แล้ว คนอื่นใหญ่กว่าเราเขายังไม่ทำ เราตัวแค่นี้จะไปทำอะไรได้ งานของตัวเองก็จะไปไม่รอด ยังจะแส่ไปยุ่งเรื่องของชาวบ้าน ฯลฯ
จบลงด้วยความคิดยอดนิยม-บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว ศาสนาไม่ใช่ของเราคนเดียว
สำทับด้วย-อย่าเที่ยวไปจับผิดคนอื่น จบ
เพราะคิดแบบนี้ เราจึงเห็นอะไรผิดๆ เกลื่อนไปหมด
อย่างที่ผมเคยพูดตลกๆ – เราปล่อยให้คนลืมรูดซิปกางเกง เดินไปนักเลงไปทั่วบ้านทั่วเมือง
……………….
เมื่อวันก่อน ผมเขียนคำว่า “จ ภ ก ส” เป็นบาลีวันละคำ ได้อธิบายคำบาลี “จช” (จะ-ชะ) ว่า “เป็นคำกริยาอุตตมบุรุษ”
ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน
มี “เพื่อน” อย่างน้อยก็ ๒ ท่าน เข้ามาทักท้วงต่อหน้าสาธารณชน-คือช่วยให้สาธารณชนได้ความรู้ได้ประโยชน์ด้วย โดยบอกว่า คำบาลี “จช” เป็นคำกริยามัธยมบุรุษ ไม่ใช่อุตตมบุรุษ
นั่นเป็นการชี้ขุมทรัพย์โดยแท้
ผมตามไปแก้โดยพลัน
สมมุติว่าเพื่อน ๒ ท่านนั้นถือคติ “ควรสนใจเฉพาะเรื่องของตัวเอง ไม่ควรไปมองหาความผิดของคนอื่น” แปลความว่า “เห็นอะไรไม่ถูกไม่ควรก็ให้ปล่อยไป ไม่ต้องทำอะไร”
ก็เท่ากับปล่อยให้ผม-ลืมรูดซิปกางเกง เดินไปนักเลงไปทั่วบ้านทั่วเมือง-นั่นแล้ว
ผมนึกกราบขอบพระคุณเพื่อนทั้งสองท่านนั้น ท่านอายุน้อยกว่าผมมาก คงไม่ยอมให้ผมกราบ แต่ในใจนั้นนึกกราบท่านไปเรียบร้อยแล้ว
ยังบอกท่านไปว่า ผมได้ “เพื่อน” ดี เป็นกัลยาณมิตร ช่วยเป็นหูเป็นตาให้เพื่อน
……………….
ถ้าเราถือคติแบบที่ “เพื่อน” ทั้งสองท่านปฏิบัติต่อผม มองเห็นทุกคนทุกฝ่ายเป็น “เพื่อน” ที่รักของตน หวังดีหวังเจริญต่อกัน ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตาให้กันและกัน
สังคมก็จะอบอุ่นและเบาใจโปร่งใจได้เป็นอันมาก
ใครพลั้งเผลอผิดพลาด ก็อุ่นใจได้ว่าจะมีคนคอยเป็นหูเป็นตาให้อย่างแน่นอน
“ควรสนใจเฉพาะเรื่องของตัวเอง
ไม่ควรไปมองหาความผิดของคนอื่น”
ถ้าเพื่อนๆ จะกรุณาทบทวนคตินี้สักนิด ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๒ มีนาคม ๒๕๖๓
๑๘:๒๙
…………………………….
……………………………