บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เราจะข้ามภูเขาลูกนี้ไปได้อย่างไร?

เราจะข้ามภูเขาลูกนี้ไปได้อย่างไร?

———————————

…………………..

แนวคิดต่างๆในเรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้ 

ผมเคยนำเสนอต่อสาธารณชนมาบ้างแล้ว 

แต่ก็อยากจะพูดอีก

ด้วยความหวังว่า พูดบ่อยๆ พูดเรื่อยไป

คงจะมีสักวันที่เทวดาท่านได้ยิน

…………………..

เมื่อผมบวชเป็นสามเณร พระที่ปกครองดูแลผมชื่อหลวงลุงดี ท่านสอนอะไรดีๆ ให้ผมหลายอย่าง 

เรื่องหนึ่งที่หลวงลุงสั่งไว้ตั้งแต่แรกๆ ก็คือ “วันพระอย่าไปไหน ต้องอยู่วัด”

ตอนนั้นนึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมหลวงลุงสั่งอย่างนั้น อีกหลายปีต่อมาผมจึงไปอ่านเจอในหนังสือ “แถลงการณ์คณะสงฆ์” (เป็นวารสารรายเดือนหรือรายอะไรสักอย่างของคณะสงฆ์) มีประกาศหรือคำสั่งคณะสงฆ์ใจความว่า วันพระมีญาติโยมมาทำบุญที่วัด เพราะฉะนั้นจึงห้ามพระภิกษุสามเณรเดินทางไปไหน ให้อยู่วัด เพื่อต้อนรับปฏิสันถารกับญาติโยมชาวบ้าน 

จึงได้ความว่าที่หลวงลุงสั่งไม่ให้ผมไปไหนในวันพระก็มีที่มาจากคำสั่งคณะสงฆ์ หลวงลุงท่านเคยเป็นเจ้าอาวาส ท่านจึงรู้เรื่องนี้ และท่านก็ใช้วิญญาณเจ้าอาวาสสั่งผมอีกที 

ที่ยกเรื่องนี้มาพูดก็เพราะมีเรื่องสะดุดใจ 

คือเมื่อวานซืน (๘ สิงหาคม ๒๕๖๒) เป็นวันพระ ตอนเช้าผมไปทำบุญที่วัดมหาธาตุราชบุรีตามปกติ ตอนบ่ายก็เปิดวงสนทนาธรรมกับคณะผู้ถืออุโบสถที่วัดตามปกติ 

สนทนากันไปก็คิดถึงเรื่องนี้ไปด้วย

เรื่องที่ ๑ คือคิดว่า คณะสงฆ์ควรจะออกคำสั่งเชิงนโยบายให้วัดในประเทศไทยจัดให้มีทำบุญวันพระตลอดทั้งปี 

ทำบุญวันพระนั้นวัดต่างๆ ทำกันเป็นประเพณีอยู่แล้ว เท่ากับมีทุนดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าส่วนมากทำเฉพาะในพรรษา พอออกพรรษา หมดเขตกฐิน (คือวันลอยกระทง) ก็เลิก ไปเริ่มกันใหม่เมื่อเข้าพรรษาปีต่อไป

นโยบายคณะสงฆ์คือ แม้ออกพรรษาแล้วก็ให้ชักชวนชาวบ้านทำบุญวันพระต่อไป และทำทุกวันพระตลอดปี 

ให้เป็นที่รู้กันไปทั่วโลกว่า ในเมืองไทยของเรานี้วันพระเป็นวันทำบุญตลอดทั้งปี

วัดมหาธาตุราชบุรีทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว

เมื่อก่อนก็เหมือนวัดทั่วไป คือทำบุญวันพระเฉพาะในพรรษา ต่อมาก็มีผู้เสนอแนะท่านเจ้าอาวาสให้เชิญชวนญาติโยมทำบุญวันพระตลอดปี 

ท่านเจ้าอาวาสปรารภอย่างเป็นห่วงว่า “มันจะมีคนมาเรอะ” 

ผู้เสนอแนะก็บอกว่า ไม่มีใครมาก็จะได้รู้กันไปว่าไม่มี เราไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว ไม่มีเราก็ไม่ต้องทำอะไร อยู่กันไปเหมือนเดิม 

เมื่อประกาศเชิญชวนออกไปแล้ว ปรากฏว่ามีคนมาทำบุญวันพระกันเต็มศาลาทุกวันพระ 

กลายเป็นประเพณีของวัดมหาธาตุราชบุรีมาจนถึงทุกวันนี้-วัดมหาธาตุราชบุรีทำบุญวันพระตลอดปี

ถ้าคณะสงฆ์ออกคำสั่งเชิงนโยบายแบบนี้ จะเป็นไรไป 

ข้อสำคัญ-เป็นนโยบายให้เชิญชวน ไม่ใช่ให้ไปบังคับชาวบ้าน 

เป็นการ “วัดกึ๋น” ของวัดนั้นๆ ไปด้วยในตัวว่ามีความสัมพันธ์กับชาวบ้านได้ดีแค่ไหน 

…………….

เรื่องที่ ๒ คือคิดว่า คณะสงฆ์ควรจะออกคำสั่งเชิงนโยบายให้วัดในประเทศไทยชักชวนญาติโยมให้ไปถืออุโบสถศีลในวันพระ-ถ้านอนค้างวัดได้ด้วยก็ยิ่งดี 

ให้มีญาติโยมไปถืออุโบสถศีลกันทุกวัด จะมากคนน้อยคนไม่เป็นประมาณ แต่ให้มีทุกวัด 

เรื่องคนไปถืออุโบสถศีลนี้ความจริงวัดทั้งหลายก็มีกันอยู่แล้ว บางวัดมีเป็นร้อยด้วยซ้ำ ควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่ง 

ถ้าคณะสงฆ์มีนโยบายออกมา วัดที่ไม่เคยมีก็จะได้คิดอ่านให้มีขึ้น 

เวลานี้วัดที่มีญาติโยมมาถืออุโบสถศีลนั้นเป็นไปตามนโยบายของเจ้าอาวาสแต่ละรูป 

เปลี่ยนเจ้าอาวาส นโยบายก็เปลี่ยน 

แบบนั้นไม่เอา

ต้องมีตามนโยบายของคณะสงฆ์ 

ไม่ใช่มีตามนโยบายของเจ้าอาวาส

มี-ให้เป็นที่รู้กันไปทั่วโลกว่า ในเมืองไทยของเรานี้ถึงวันพระคนไทยไปถืออุโบสถศีลกันทุกวัด 

…………….

เรื่องที่ ๓ คือคิดว่า เมื่อมีทำบุญทุกวันพระ มีญาติโยมมาถืออุโบสถศีลทุกวันพระแล้ว ก็ให้ทางวัดจัดกิจกรรมศึกษาและปฏิบัติธรรมให้แก่ผู้มาถือศีลด้วย 

ไม่ใช่ปล่อยให้นั่งคุยนอนคุยกันไปตามอัธยาศัย

เท่าที่ได้สดับมา ทุกวันนี้วัดที่มีญาติโยมไปถืออุโบสถศีลส่วนมากก็ให้ปฏิบัติธรรมกันไปตามอัธยาศัย 

นั่งคุยนอนคุยกันไปตามอัธยาศัย ตลอดคืนหนึ่งและวันหนึ่ง

รุ่งเช้าก็กลับบ้าน 

ได้บุญ แต่ไม่ได้สติปัญญาในหลักพระธรรมวินัย

การจัดวงสนทนาธรรมเป็นกิจกรรมที่ควรทำอย่างยิ่ง การปฏิบัติธรรมนั้นผู้ถือศีลมักนิยมทำเป็นส่วนตัวกันอยู่แล้ว ไม่น่าห่วง 

ที่น่าเป็นห่วงก็คือการขาดความรู้ในหลักพระธรรมวินัย 

อย่างที่ผมยกตัวอย่างบ่อยๆ – เมื่อเช้าใส่บาตร ลืมกรวดน้ำ ถามว่าจะได้บุญหรือไม่ 

ร้อยทั้งร้อยตอบไม่ได้ 

(ไม่ใช่ตอบว่า “ไม่ได้” แต่ตอบคำถามไม่ได้)

ถึงตอบได้ก็จะบอกว่า ฉันคิดว่าน่าจะ… 

คือตอบตามความคิดความเข้าใจของตัวเอง ไม่ได้ตอบตามหลักธรรม 

ที่ไม่ได้ตอบตามหลักธรรมก็เพราะไม่รู้หลัก 

ชาวพุทธระดับรากหญ้าในสังคมเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น และผู้รับผิดชอบในกิจการพระศาสนาก็ไม่มีนโยบายที่จะให้ความรู้แก่คนเหล่านี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเป็นหลักเป็นฐาน

การเปิดวงสนทนาธรรมให้แก่ผู้มาถือศีลเป็นการให้ปัญญาแก่เขาเหล่านั้น-ซึ่งเป็นกำลังของพระศาสนาอยู่แล้ว ให้เป็นกำลังที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น

อีกทั้งเป็นการบังคับให้วัดต่างๆ ต้องเตรียมสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพไว้สนองงาน เพราะจะต้องเป็นผู้ให้ความรู้แก่ญาติโยม 

เวลานี้วัดต่างๆ กำลังจะเกิดสภาพ-พระเองก็ไม่มีความรู้เพราะไม่ได้ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยเป็นกิจวัตรประจำวัน 

นโยบายให้ความรู้ทางธรรมแก่ญาติโยมจะเป็นการบังคับให้พระเณรต้องศึกษาพระธรรมวินัยไปในตัว เท่ากับ-ยิงนัดเดียวได้นกสองตัว

———————-

สมัยหนึ่งคณะสงฆ์มีนโยบายว่า วัดไหนสร้างโบสถ์สร้างศาลา จะพิจารณาให้สมณศักดิ์เป็นพิเศษ 

สมภารวัดต่างๆ ก็สร้างโบสถ์สร้างศาลากันเป็นการใหญ่ 

เอาเรื่องนี้มาเป็นกรณีศึกษากันดูบ้างเป็นไร 

ไม่ได้แปลว่า-จะให้คณะสงฆ์ออกนโยบายว่า —

วัดไหนทำบุญวันพระตลอดปี จะพิจารณาให้สมณศักดิ์เป็นพิเศษ 

วัดไหนมีญาติโยมมาถืออุโบสถศีลมาก จะพิจารณาให้สมณศักดิ์เป็นพิเศษ 

วัดไหนมีสอนธรรมะให้แก่ชาวบ้านรอบๆ วัดเป็นประจำ จะพิจารณาให้สมณศักดิ์เป็นพิเศษ 

ไม่ใช่จะให้ทำแบบนั้น 

แต่ขอให้ช่วยกันคิดในเชิงเทียบเคียงดูว่า คณะสงฆ์มีนโยบายอย่างไร วัดต่างๆ ก็พร้อมที่จะสนองงานอยู่แล้ว 

ใช่หรือไม่ 

ก็แล้วทำไมคณะสงฆ์จึงไม่คิดจะมีนโยบาย “สั่ง” เรื่องที่น่าทำดังเสนอมานั้น-อีกสักเรื่องสองเรื่องเล่า? 

ขอความกรุณาอย่ายกภูเขามาขวางหน้า คือบอกว่าทำไม่ได้เพราะมีเหตุขัดข้องอย่างนั้นๆๆๆๆ

แต่จงช่วยกันใช้สติปัญญาหาทางข้ามภูเขาไปด้วยกันให้จงได้ 

ถ้าเรื่องนี้มีภูเขาขวางหน้าจริงๆ ผมว่าภูเขาลูกแรกก็คือ ทำอย่างไรคณะสงฆ์จึงจะสั่ง 

เราจะข้ามภูเขาลูกนี้ไปได้อย่างไร?

…………….

ผมเคย “ขาย” แนวคิดเหล่านี้ให้ญาติมิตรที่เป็นชาวนครบาล บอกว่าในฐานะที่มีโอกาสเข้าถึงพระผู้ใหญ่ได้ง่ายได้บ่อยกว่าชาวภูธรอย่างผม ขอแรงช่วยนำแนวคิดไป “ขายต่อ” ให้ทีเถิด 

ญาติมิตรรับปากและต่อมาได้รับคำตอบว่า เขาได้นำแนวคิดไปเสนอพระเถระระดับกรรมการมหาเถรสมาคมรูปหนึ่ง 

พระเดชพระคุณเห็นด้วยอย่างยิ่ง 

แต่บอกว่า “อาตมาไม่มีอำนาจ” 

อ้าว!!

ถ้าระดับกรรมการมหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจ แล้วระดับไหนมีอำนาจกันเล่า? 

แล้วท่านที่อยู่ในระดับมีอำนาจท่านรู้ตัวหรือเปล่าว่าท่านมีอำนาจ? 

ถ้าเกิดท่านก็เข้าใจว่า “อาตมาก็ไม่มีอำนาจ” ไปด้วย จะทำอย่างไรกัน?

เราจะข้ามภูเขาลูกนี้ไปได้อย่างไร?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๒

๑๕:๒๓

……………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *